พฤติกรรมไหนบ้างถือว่า “ทุจริตต่อหน้าที่”

ทุจริตต่อหน้าที่

19 สิงหาคม 2562

“ทุจริตต่อหน้าที่”

ในการทำงานของลูกจ้าง บางรายอาจมีการแสวงหาประโยชน์จากการทำหน้าที่ของตนโดยไม่ชอบหรือเรียกว่า  ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง “ทุจริตต่อหน้าที่” มีความหมายเช่นใด

กรณีใดถือว่าลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ กรณีใดบ้างที่ไม่ถือว่าลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที และการทุจริตต่อหน้าที่จะมีผลเช่นใดตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ในบทความฉบับนี้จะแสดงให้เห็นตามลำดับ ดังนี้

สรุปภาพรวมของ “ทุจริตต่อหน้าที่”

  1. ความหมาย

ลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ หมายถึง การที่ลูกจ้างใช้หน้าที่ของตนแสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น มีลักษณะเป็นความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรงต่อนายจ้าง เช่น ลูกจ้างทำหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อ เรียกรับสุรา 4 ขวด จากคู่ค้าของนายจ้าง เพื่อนำไปใช้ในการที่ลูกจ้างและเพื่อนร่วมร่วมกันไปเที่ยว ถือว่าลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่(คำพิพากษาฎีกาที่ 5233/2549)

  1. กรณีที่ถือว่าลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่

  • ลูกจ้างรายงานเท็จว่าตัดผ้าใบเพื่อได้ค่าแรง ถือว่าทุจริตต่อหน้าที่
  • ลูกจ้างมีหน้าที่ตัดผ้าใบ ไม่ตัดผ้าใบตามคำสั่งกลับทำรายงานเท็จว่าตัดเสร็จแล้ว เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากเงินค่าแรงที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่(คำพิพากษาฎีกาที่ 470/2524 )
  • ลูกจ้างตำแหน่งผู้จัดการสำนักกฎหมายเบียดบังค่าขึ้นศาล ถือว่าทุจริตต่อหน้าที่
  • ลูกจ้างตำแหน่งผู้จัดการสำนักกฎหมาย มีหน้าที่ดำเนินคดีแทนนายจ้าง ได้เบิกเงินค่าฤชาธรรมเนียมในการดำเนินคดีตามหน้าที่ ต่อมามีการถอนฟ้องและศาลสั่งคืนค่าขึ้นศาล จำนวน 39,283 บาท ลูกจ้างมีหน้าที่นำเงินดังกล่าวคือให้นายจ้าง แต่กลับเบียดบังเอาไว้เป็นของตนถือว่าลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่(คำพิพากษาฎีกาที่ 3284/2524 )
  • ลูกจ้างรับเงินประกันความเสียหายแล้วไม่นำส่ง ถือว่าทุจริตต่อหน้าที่
  • ลูกจ้างรับเงินประกันความเสียหายในการเข้าทำงานของผู้สมัครเข้าทำงานแล้ว ไม่นำส่งให้นายจ้างตามระเบียบ ถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่(คำพิพากษาฎีกาที่ 2597/2525)
  • ลูกจ้างแก้ไขทะเบียนประวัติเพื่อหาประโยชน์โดยไม่ชอบ ถือว่าทุจริตต่อหน้าที่
  • ลูกจ้างกระทำผิดโดยแก้ไขทะเบียนประวัติของลูกจ้างคนอื่นเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ ทั้งใบสมัครงานเดิมของลูกจ้างซึ่งลูกจ้างเป็นผู้เขียนด้วยลายมือตนเองก็มีร่องรอยแก้ไขปีเกิดด้วย นาจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย(คำพิพากษาฎีกาที่ 2202/2525)
  • ลูกจ้างเบิกเงินค่าเบี้ยเลี้ยงโดยไม่มีสิทธิ ถือว่าทุจริตต่อหน้าที่
  • ลูกจ้างเบิกเงินค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่าเช่าที่พักโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีสิทธิเบิก ถือเป็นการทุจริตในการเบิกเงินค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าเช่าที่พัก(คำพิพากษาฎีกาที่ 2563/2526)
  • หัวหน้าแผนกบัญชีฯสั่งซ่อมรถยนต์ของบริษัทแล้วโอนขายให้ตนเองในราคาถูกมาก ถือว่าทุจริตต่อหน้าที่
  • ลูกจ้างเป็นกรรมการบริษัทนายจ้าง ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกบัญชีและการเงิน สั่งในฐานกรรมการบริษัทให้ซ่อมรถยนต์เก๋งของบริษัทเป็นเงิน 20,000 บาทเศษโดยใช้เงินของบริษัท ซ่อมเสร็จแล้วลูกจ้างสั่งโอนขายให้ตนเองในราคา40,000 บาทเท่ากับราคารถเก่าของบริษัทยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวที่ขายไปโดยไม่มีการซ่อม การกระทำของลูกจ้างเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยสุจริต(คำพิพากษาฎีกาที่ 2798/2526)
  • พนักงานเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเกินอัตราแล้วเบียดบังส่วนที่เกินไป ถือว่าทุจริตต่อหน้าที่
  • ลูกจ้างมีตำแหน่งเป็นพนักงานบริการผู้ใช้ไฟฟ้า ได้ติดตั้งกระแสไฟฟ้าตรงให้กับผู้ขอใช้ไฟฟ้าโดยไม่ได้เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้า แต่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเกินอัตราที่กำหนดโดยนำส่วนที่เกินไปเป็นประโยชน์แก่ตนเอง เช่นนี้ถือว่าลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่(คำพิพากษาฎีกาที่ 3145/2526)
  • ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เพื่อได้รับเบี้ยขยัน ถือว่าทุจริตต่อหน้าที่
  • ลูกจ้างออกจากโรงงานเวลา 15.55 นาฬิกาโดยไม่ขออนุญาต กลับเข้าโรงงานเวลา 17.30 นาฬิกา แต่ลูกจ้างตอกบัตรแสดงเป็นเวลาทำงาน ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ไป 1 ชั่วโมง ถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่เพราะตามข้อบังคับของจำเลยถ้าไม่ปรากฎว่าขาดงานลูกจ้างจะได้รับเบี้ยขยัน การกระทำของลูกจ้างเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง นายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย (คำพิพากษาฎีกาที่ 3438/2526 )
  • หัวหน้าใช้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปทำงานส่วนตัว ถือว่าทุจริตต่อหน้าที่
  • ลูกจ้างใช้สอยลูกจ้างอื่นของนายจ้างซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชไปจ่ายกับข้าวให้แก่ร้านขายอาหารของตนในเวลาทำงานช่วงเช้าคนหนึ่งและช่วงบ่ายคนหนึ่ง เป็นเวลานานประมาณ 10 วัน เป็นการแสวงหาประโยชน์จากหน้าที่การงานเพื่อประโยชน์แก่ตนหรือผู้อื่นเกินสมควรที่ผู้บังคับบัญชาจะพึงกระทำและเสียหายแก่นายจ้าง เป็นการทุจริตต่อหน้าที่(คำพิพากษาฎีกาที่ 2695/2529)
  • ลูกจ้างทำงานให้แก่บุคคลภายนอกโดยใช้เวลาและเครื่องมือของนายจ้าง ถือว่าทุจริตต่อหน้าที่
  • ลูกจ้างมีหน้าที่ทำงานออกแบบเสื้อให้นายจ้าง ย่อมต้องปฏิบัติงานให้แก่นายจ้างในระหว่างทำงานให้ลุล่วงไปตามสมควรเพื่อให้เกิดผลคุ้มค่ากับค่าจ้าง การที่ลูกจ้างรับงานนอกเข้ามาทำในระหว่างทำงานโดยใช้อุปกรณ์ของนายจ้างได้แก่ พู่กัน สีและกระดาษ เป็นการเบียดบังทั้งเวลาและทรัพย์สินของนายจ้างโดยมิชอบต่อหน้าที่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเอง ถือว่าทุจริตต่อหน้าที่ นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย(คำพิพากษาฎีกาที่ 2618/2538)
  1. กรณีไม่ถือว่าทุจริตต่อหน้าที่

  • ผู้จัดการธนาคารเบิกเบี้ยเลี้ยงตำรวจและนำเงินไปซ่อมรถของธนาคารโดยตำรวจยินยอม ไม่ถือว่าทุจริตต่อหน้าที่
  • ลูกจ้างทำงานเป็นลูกจ้างประจำของธนาคารออมสินจำเลย ตำแหน่งผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาพล จังหวัดขอนแก่น ได้ทำใบเบิกจ่ายเงินค่าเบี้ยเลี้ยงตำรวจรักษาการณ์ธนาคารออมสิน สาขาพล โดยกรอกข้อความเองและสั่งอนุญาตให้จ่ายเงินเบี้ยเลี้ยง เมื่อได้ความว่าลูกจ้างนำเงินเบี้ยเลี้ยงไปซ่อมรถยนต์ของธนาคารนายจ้าง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาการณ์ยอมมอบเงินให้และมีการซ่อมรถยนต์จริง จึงเป็นการขาดเจตนาทุจริต ถือไม่ได้ว่าการกระทำของลูกจ้างเป็นการทุจริตต่อหน้าที่(คำพิพากษาฎีกาที่ 3284/2524)
  • ลูกจ้างเบิกเงินค่าทำหมันโดยไม่มีเจตนาทุจริต ไม่ถือว่าทุจริตต่อหน้าที่ แม้ตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้างจะกำหนดว่าลูกจ้างจะเบิกเงินค่าทำหมันได้ก็ต่อเมื่อภริยาของลูกจ้างได้รับการผ่าตัดทำหมันแล้วก็ตาม แต่ก่อนลูกจ้างจะเบิกเงินค่าทำหมัน ภริยาของลูกจ้างมีความตั้งใจที่จะทำหมันและได้จ่ายเงินค่าทำหมันไปแล้ว เหตุที่ยังไม่ทำหมันในทันทีเนื่องจากเจ็บป่วย ต่อมาหลังคลอดบุตรแล้วแพทย์ก็ได้ทำหมันให้โดยถือเอาหลักฐานการชำระค่าทำหมันเดิมที่ได้ชำระเงินไว้แล้ว ทั้งนายจ้างก็มิได้จ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเกินไปจากที่ควรจะต้องจ่าย จึงถือไม่ได้ว่าลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง(คำพิพากษาฎีกาที่ 1360/2526)
  • นายเรือนำสินค้าเข้าโดยไม่เสียภาษี ไม่ถือว่าทุจริตต่อหน้าที่
  • ลูกจ้างทำงานเป็นนายเรือ “เรือพลอยดี” นำสินค้าที่ไม่เสียภาษีเข้ามาในประเทศไทย โดยใช้เรือพลอยดีขนมา เป็นความผิดเฉพาะตัวของลูกจ้าง มิใช่เป็นการกระทำงานในหน้าที่และมิใช่เป็นการแสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้จากนายจ้าง จึงไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และไม่เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย(คำพิพากษาฎีกาที่ 3672/2526 )
  • ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เพียง 5 นาที ยังไม่ถือว่าทุจริตต่อหน้าที่
  • ลูกจ้างเข้าทำงานกะบ่ายตั้งแต่เวลา 15 นาฬิกา ซึ่งต้องทำงานจนถึง 23 นาฬิกา แต่เวลา 22.55 นาฬิกา ลูกจ้างออกไปนอกบริษัทโดยไม่มีบัตรผ่านและไม่ได้ขออนุญาตผู้บังคับบัญชาก่อนและกลับเข้ามาปั๊มบัตรลงชื่อเลิกงานตามกะ ดังนี้ ลูกจ้างไม่ทำงานให้แก่นายจ้างเพียง 5 นาที การปั๊มบัตรลงชื่อทำงานเต็มเวลา 8 ชั่วโมงนั้นเกิดโทษแก่นายจ้างน้อยมาก ยังไม่พอถือว่าลูกจ้างทำการทุจริตต่อหน้าที่และยังไม่เป็นการทำผิดอาญาแก่นายจ้าง(คำพิพากษาฎีกาที่ 2839/2528)
  • ลูกจ้างรายวันละทิ้งงาน 1 ชั่วโมง ยังไม่ถือว่าทุจริตต่อหน้าที่ คำว่า “ทุจริต” ตามพจนานุกรมมีความหมายว่า ความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง ส. เป็นลูกจ้างรายวันของนายจ้างได้รับค่าจ้างวันละ 190 บาท ละทิ้งงานไปเป็นเวลา 1 ชั่วโมง แม้นายจ้างะต้องจ่ายค่าจ้างในระยะเวลาที่ ส. ละทิ้งงานแต่ก็เกิดโทษแก่นายจ้างน้อย ยังไม่พอถือว่า ส. มีความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่(คำพิพากษาฎีกาที่ 5605/2542)
  • ช่างสำรวจหลบไปนอน 2 ชั่วโมง ไม่ถือว่าทุจริตต่อหน้าที่
  • ลูกจ้างทำงานเป็นลูกจ้างรายชั่วโมงของนายจ้าง ทำหน้าที่เป็นช่างสำรวจ ต่อมาลูกจ้างหลบงานไปพักผ่อนหลับนอนในเวลางานประมาณ 2 ชั่วโมง แม้การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องการหลีกเลี่ยงการทำงานไปบ้างและเป็นผลให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างโดยไม่ได้รับผลประโยชน์จากการทำงานเป็นการตอบแทน ก็ยังถือไม่ได้ว่าลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย (คำพิพากษาฎีกาที่ 2127/2530)
  • ลูกจ้างยามแลกเวรและเบิกค่าจ้างโดยเข้าใจว่ามีสิทธิ ไม่ถือว่าทุจริต
  • ลูกจ้างทำหน้าที่เป็นยามแม้มิได้เข้าเวรตามวันและเวลาที่กำหนด แต่ลูกจ้างได้ตกลงแลกเปลี่ยนเวรกับผู้อื่นแล้ว ต่อมาลูกจ้างลงเวลาทำงานเป็นหลักฐานเพื่อเบิกค่าจ้าง โดยเข้าใจว่ามีสิทธิได้รับค่าจ้าง การกระทำของลูกจ้างไม่ถึงกับเป็นการละทิ้งหน้าที่และลงเวลาทำงานอันเป็นเท็จโดยทุจริต ไม่เป็นความผิดร้ายแรง(คำพิพากษาฎีกาที่ 1102/2531)
  • ลูกจ้างมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต ไม่ถือว่าทุจริต
  • พฤติการณ์ของลูกจ้างที่ส่อไปในทางทุจริตนั้น มิได้หมายความว่าลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่(คำพิพากษาฎีกาที่ 1103/2531)
  • ลูกจ้างรายเดือนละทิ้งหน้าที่ ไม่ถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่
  • ลูกจ้างทำงานเป็นลูกจ้างรายเดือน ได้รับค่าจ้างเป็นอัตราเดือนละตามจำนวนที่กำหนดแน่นอน การคิดค่าจ้างเป็นรายเดือนนี้ย่อมไม่มีการนำจำนวนวันและเวลาปฏิบัติงานมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่าจ้าง หากลูกจ้างจะขาดงานไปบ้างก็ถือเป็นเพียงการปฏิบัติผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานฐานละทิ้งหน้าที่เท่านั้น การที่ลูกจ้างรายเดือนลงเวลามาปฏิบัติงานกะกลางคืนตั้งแต่เวลา 19.57 นาฬิกาถึงเวลา 4 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้นอันเป็นเท็จ ย่อมมีผลเป็นการขาดงานไปกะหนึ่งเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในค่าจ้างโดยไม่ชอบและประสงค์ให้นายจ้างได้รับความเสียหายแก่การผลิต จึงไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย (คำพิพากษาฎีกาที่ 1806/2540 )
  1. ผลของการทุจริตต่อหน้าที่

สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาในทางแพ่งที่ต้องอาศัยความเชื่อถือไว้วางใจร่วมกัน(mutual trust and confidence)ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ลูกจ้างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่โดยซื่อสัตย์สุจริต เมื่อใดก็ตามที่ลูกจ้างกระทำการที่ขึ้นชื่อว่า ทุจริตต่อหน้าที่ สัญญาจ้างแรงงานก็มิอาจดำรงอยู่ได้ เพราะนายจ้างขาดความหมายเชื่อถือไว้วางใจลูกจ้าง

ผลก็คือ

นายจ้างอาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ การทุจริตต่อหน้าที่ถือเป็นการกระทำความผิดร้ายแรงที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(1) ที่นายจ้างอาจเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชย ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำตามส่วนในปีที่เลิกจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 67 นอกจากนี้ การทุจริตต่อหน้าที่ ยังถือได้ว่าเป็นสาเหตุที่สมควรและเพียงพอที่นายจ้างจะยกเป็นเหตุบอกเลิกสัญญาจ้างต่อลูกจ้างได้ จึงไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 กล่าวโดยสรุป ก็คือ หากลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ นายจ้างอาจเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยลูกจ้างไม่ได้รับเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

แหล่งที่มา : www.jobdst.com

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?