ข่าวดี! หากจ่ายเงินกองทุนประกันสังคมสามารถขอเงินคืนได้ … แม้ไม่ใช่ผู้ประกันตน

05 ตุลาคม 2562

ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 หรือกฎหมายประกันสังคมได้กำหนดประเภทของผู้ประกันตนที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไว้ 3 ประเภท คือ

ประเภทที่ 1 คือ บุคคลที่เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการที่มีนายจ้างในสัญญาจ้างแรงงาน เรียกว่า ผู้ประกันตนตามมาตรา 33

ประเภทที่ 2 คือ ลูกจ้างประเภทที่ 1 ที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างและในระหว่างที่เป็นผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบครบ 12 เดือน และได้ยื่นแบบแสดงความจำนงสมัครเป็นผู้ประกันตนภายใน 6 เดือนนับแต่ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง เรียกว่า ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 หรือผู้ประกันตนสมัครใจ

ประเภทที่ 3 คือ บุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ประกันตนประเภทที่ 1 และที่ 2 ซึ่งประกอบอาชีพอิสระ เรียกว่า ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 หรือผู้ประกันตนอิสระ โดยกฎหมายจะกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกันตน การสมัครเป็นผู้ประกันตน การจ่ายเงินสมทบและการได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ไว้แตกต่างกัน

ส่วนที่เหมือนกันก็คือผู้ประกันตนทุกคนทั้งสามประเภทต่างก็มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามอัตราที่กฎหมายกำหนด แต่ในกรณีที่มีบุคคลใดเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าตนเองมีสถานะเป็นผู้ประกันตนและได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมาย เช่น

• ไม่ใช่ลูกจ้างและนายจ้างตามความหมายในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แต่ได้ยื่นแบบขึ้นทะเบียนและยื่นแบบแสดงรายการให้ฝ่ายที่เข้าใจว่าเป็นลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33

• ลูกจ้างที่เกษียณอายุเมื่อ 60 ปีบริบูรณ์ และนายจ้างตกลงจ้างให้ทำงานต่อไปโดยมีสัญญาจ้างเป็นรายปีหรือไม่มีสัญญาจ้างแต่นายจ้างตกลงให้ทำงานต่อไปและนายจ้างยังคงหักเงินสมทบของลูกจ้างและนำส่งเงินสมทบให้บุคคลดังกล่าวในฐานะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ซึ่งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในเรื่องอายุของการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จึงไม่มีสิทธิเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ถูกคือต้องสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39)

• ลูกจ้างที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง เป็นผลให้ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สิ้นสุดลง แต่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 12 เดือน และได้สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และสำนักงานประกันสังคมอนุมัติให้เป็นผู้ประกันตนตามคำขอ (ซึ่งในทางกฎหมายถือว่าบุคคลนี้ไม่มีสิทธิการสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เนื่องจากจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 12 เดือนตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดจึงไม่มีสถานะเป็นผู้ประกันตน) โดยจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาโดยตลอด อีกทั้งสำนักงานประกันสังคม (ในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ด้านต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายประกันสังคม) ก็ได้รับเงินดังกล่าวไว้และส่งเข้ากองทุนประกันสังคมตามหน้าที่ ฯลฯ

ในทางปฏิบัติของการยื่นแบบขึ้นทะเบียนให้ลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนหรือมีการจ่ายเงินสมทบ สำนักงานประกันสังคมจะไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลดังกล่าวในทันทีและจะดำเนินการตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ ทำให้หลายๆ ครั้งที่บุคคลดังกล่าวอาจได้ใช้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เสมือนผู้ประกันตนที่มีสิทธิตามกฎหมายทั่วไป แต่หากต่อมาในภายหลังพบว่าบุคคลที่ส่งเงินสมทบดังกล่าวขาดคุณสมบัติหรือไม่อาจมีสถานะเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายได้ สำนักงานประกันสังคมก็จะระงับการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองตามกฎหมายประกันสังคมทันที

ดังนั้น จึงเกิดปัญหาขึ้นว่าผู้ไม่มีสิทธิดังกล่าวหรือทายาท (กรณีบุคคลดังกล่าวถึงแก่ความตาย) จะมีสิทธิได้รับเงินที่เคยส่งนั้นคืนหรือไม่?

ผู้เขียนหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเนื่องจากเห็นว่ามีปัญหาเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติและเรื่องทำนองเดียวกันนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2562/2552 วินิจฉัยไว้แล้ว จึงอยากนำมาเล่าสู่กันฟังซึ่งอาจทำให้ผู้ประกันตน นายจ้างหรือผู้เกี่ยวข้องเข้าใจและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ไม่กลายเป็นข้อพิพาทถึงโรงถึงศาลอีกต่อไป

ข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็คือ นางสะอาด เป็นลูกจ้างของบริษัทแห่งหนึ่งและได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 โดยจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ต่อมานางสะอาดลาออกจากงาน (ทำให้ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533) จึงได้ยื่นสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และสำนักงานประกันสังคมได้อนุมัติให้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 นางสะอาดจึงได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในฐานะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เรื่อยมาเป็นเวลา 6 ปี และในปีที่ 6 นางสะอาดถึงแก่ความตาย บุตรของนางสะอาดจึงยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมกรณีนางสะอาดผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย (คือ ค่าทำศพ เงินสงเคราะห์กรณีตายและเงินบำเหน็จชราภาพ)

เมื่อมีการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทน สำนักงานประกันสังคมจึงได้ตรวจสอบฐานข้อมูลเงินสมทบของนางสะอาด (ในทางปฏิบัติสำนักงานประกันสังคมจะมีการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียนนายจ้างและผู้ประกันตนอยู่เสมอตามแนวทางที่กำหนด) พบว่าขณะที่นางสะอาดเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 นางสะอาดได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพียง 9 เดือนเท่านั้น นางสะอาดจึงเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มาตั้งแต่ต้น สำนักงานประกันสังคมจึงมีคำสั่งปฏิเสธการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีตายให้กับบุตรของนางสะอาดและให้คืนเงินสมทบที่นางสะอาดส่งเข้ากองทุนประกันสังคมเฉพาะเงินสมทบในส่วนกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ ซึ่งไม่เต็มจำนวนเงินสมทบที่นางสะอาดจ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม โดยหักค่าใช้จ่ายที่เหมาจ่ายให้โรงพยาบาลตามสิทธิของนางสะอาดไว้ (เงินสมทบที่ผู้ประกันตนส่งเข้ากองทุนประกันสังคมแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพและกรณีตาย (ซึ่งส่วนนี้จะมีการเหมาจ่ายให้โรงพยาบาลตามสิทธิของผู้ประกันตนเพื่อให้ผู้ประกันตนเข้ารับบริการทางการแพทย์)ส่วนที่ 2 กรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ และส่วนที่ 3 กรณีว่างงาน (เฉพาะผู้ประกันตนตามมาตรา 33)

ต่อมาบุตรของนางสะอาดได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 กำหนดไว้ แต่คณะกรรมการอุทธรณ์มีความเห็นว่าการคืนเงินสมทบเฉพาะกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพแก่ทายาทชอบด้วยกฎหมายแล้วบุตรของนางสะอาดจึงได้ฟ้องสำนักงานประกันสังคมต่อศาลแรงงานขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์และให้สำนักงานประกันสังคมคืนเงินสมทบทั้งหมดในช่วง 6 ปี (ขณะที่ดำรงสถานะเสมือนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39) พร้อมทั้งดอกเบี้ย

ทายาทของนางสะอาดมีสิทธิได้รับเงินคืนทั้งหมดหรือไม่?

คดีนี้มีการต่อสู้จนถึงชั้นศาลฎีกาและศาลฎีกาได้พิพากษาโดยมีประเด็นสำคัญ 2 ประเด็น

(1) การอนุมัติให้นางสะอาดเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ชอบด้วยกฎหมายประกันสังคมหรือไม่ ?

ประเด็นนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่สำนักงานประกันสังคมอนุมัติให้นางสะอาดเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 บัญญัติหลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ไว้ชัดเจนว่าผู้ใดเคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 โดยจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบสองเดือนและต่อมาความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 (2) ถ้าผู้นั้นประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อไป

ให้แสดงความจำนงต่อสำนักงานตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดภายในหกเดือนนับแต่วันสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน เมื่อนางสะอาดซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จ่ายเงินสมทบเพียง 9 เดือนก่อนสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง อันทำให้ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 (2)

นางสะอาดจึงไม่อาจเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้

(2) สำนักงานประกันสังคมมีสิทธิรับเงินที่นางสะอาดจ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในช่วง 6 ปีนั้นหรือไม่?

ประเด็นนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำนักงานประกันสังคมไม่มีสิทธิรับเงินที่นางสะอาดนำส่งตามมาตรา 39 วรรคสาม เนื่องจากนางสะอาดไม่อาจเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้ การที่สำนักงานประกันสังคมรับเงินสมทบดังกล่าวไว้จึงเป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ (มาตรา 406 บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดเพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดีหรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา) และเมื่อสำนักงานประกันสังคมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 จึงมีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลผู้ประสงค์จะเข้าเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายตั้งแต่บุคคลนั้นแสดงความประสงค์ขอเข้าเป็นผู้ประกันตน มิใช่อนุมัติในทันทีโดยไม่มีการตรวจสอบคุณสมบัติก่อน แล้วมาทำการตรวจสอบในภายหลังเมื่อมีการขอรับประโยชน์ทดแทนในส่วนอื่น ๆ การที่สำนักงานประกันสังคมละเลยต่อหน้าที่ไม่ตรวจสอบคุณสมบัติก่อน โดยอ้างว่าเพื่อความรวดเร็วให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทันทีในเรื่องการคุ้มครองด้านการรักษาพยาบาล จึงถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย จึงเป็นการรับเงินสมทบจากนางสะอาดไว้โดยไม่สุจริต สำนักงานประกันสังคมจึงไม่อาจหักค่าใช้จ่ายที่สำนักงานประกันสังคมเหมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้โรงพยาบาลตามสิทธิไว้ได้

คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลแรงงาน ดังนั้น สำนักงานประกันสังคมจึงต้องคืนเงินสมทบที่นางสะอาดจ่ายในช่วง 6 ปี ให้กับทายาทเต็มจำนวนพร้อมกับดอกเบี้ย

การนำเสนอคำพิพากษาฉบับนี้ มิใช่การกล่าวย้ำถึงความบกพร่องของหน่วยงานใดแต่เป็นการนำเสนอตามที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาไว้เพื่อเป็นอุทาหรณ์กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะต้องคืนเงินให้กับผู้ที่ได้เข้ามาสู่ระบบประกันสังคมด้วยเจตนาที่สุจริตด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อนถึงสิทธิการเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมาย แต่หากพิจารณาในแนวทางปฏิบัติของสำนักงานประกันสังคมในการรับขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนหรือการอนุมัติให้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แล้วก็อาจเป็นการยากที่จะตรวจสอบคุณสมบัติของสมาชิกทุกรายในทันทีที่มีการยื่นคำขอเนื่องจากสมาชิกมีเป็นจำนวนมากและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ก็มีจำนวนมาก อีกทั้งยังต้องปฏิบัติงานภายใต้เวลาที่เร่งรัดเพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับความคุ้มครองตามที่พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 กำหนดไว้ แต่คดีนี้ก็ถือเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการที่ดีสำหรับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมที่จะต้องมีความละเอียดรอบคอบและระมัดระวังในการสั่งการหรือการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ยื่นคำขอก็จำเป็นจะต้องใช้สิทธิของตนโดยสุจริตและควรตรวจสอบคุณสมบัติของตนก่อนที่จะยื่นคำขอ เนื่องจากพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้กำหนดคุณสมบัติของการเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมไว้ชัดเจน โดยเฉพาะคุณสมบัติการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 หรือคุณสมบัติเกี่ยวกับอายุของการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ดังนั้น

ประสงค์จะสมัครเป็นผู้ประกันตนหรือนายจ้างซึ่งมีหน้าที่ยื่นแบบขึ้นทะเบียนให้ลูกจ้างเป็นผู้ประกันตน

ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบคุณสมบัติของตนก่อนเป็นลำดับแรก หากมีข้อสงสัยก็ควรที่จะสอบถามกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้ได้ความชัดเจน เพราะหากขึ้นทะเบียนไม่ถูกต้องย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ยื่นคำขอเองหรือผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนประกันสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังเช่นการเกิดข้อพิพาทในคดีนี้…

—–

แหล่งที่มา : www.jobdst.com

 

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?