เปิดกฎหมายน่ารู้ เครื่องหมายการค้า (Trade Mark)

01 มีนาคม 2565

เครื่องหมายการค้า (Trade Mark)

” เครื่องหมายการค้า ใช้เป็นเครื่องหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนั้น แตกต่างจากสินค้าที่ใช้เครื่องหมายของบุคคลอื่น ”

 

ลักษณะสำคัญของเครื่องหมายการค้า

” ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่าง หรือรูปทรงของวัตถุหรือสิ่งเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน ”

และที่ใช้หรือจะใช้เป็นเครื่องหมายที่เกี่ยวกับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างจากสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น (พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534)

 

สิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้า

1. สิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้า เว้นแต่จะมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายของบุคคลอื่น

2. สิทธิในการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

3. สิทธิคัดค้านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น

4. สิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น (มาตรา 35, 41)

5. สิทธิในการต่อสู้คดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า

6. สิทธิฟ้องคดีเกี่ยวกับการลวงขาย มาตรา 46 วรรค 2

7. สิทธิดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายซึ่งคุ้มครองเจ้าของเครื่องหมายการค้า

“ เจ้าของเครื่องหมายการค้าจะต้องนำเครื่องหมายการค้านั้นไปจดทะเบียน ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อแสดงถึงสิทธิความเป็นเจ้าของของผู้ที่ได้จดทะเบียน ซึ่งจะได้สิทธิประโยชน์คุ้มครองตามกฎหมาย ป้องกันไม่ให้ผู้อื่นลอกเลียนแบบหรือปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าอันจะก่อให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจ ของตนเองได้ ”

 

สิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้า

“ ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ามีสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าของตนเองเสมอ เว้นแต่จะมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้านั้นให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งเจ้าของที่แท้จริงจะต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อพิสูจน์ความเป็นเจ้าของสิทธิที่ดีกว่าต่อไป ”

 

ผลของการจดทะเบียน

1. เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน มีสิทธิป้องกันมิให้บุคคลที่สามทั้งปวงซึ่งมิได้รับความยินยอมจากเจ้าของเครื่องหมายการค้าใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนกันหรือคล้ายกัน

2. มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับจำพวกสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ (มาตรา 44)

3. เครื่องหมายการค้า ที่จดทะเบียนแล้วจะมีอายุการคุ้มครอง 10 ปี เมื่อครบกำหนดสามารถที่จะต่ออายุได้เป็นคราวๆ คราวละ 10 ปี และสามารถต่ออายุได้ตลอดไป (มาตรา 53)

4. มีสิทธิในการทำสัญญาอนุญาตให้ผู้อื่นใช้เครื่องหมายการค้าของตนและโอนเครื่องหมายการค้าหรือบางส่วนก็ได้ (มาตรา 50, 51)

5. มีสิทธิฟ้องร้องและเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ ในกรณีที่มีผู้ละเมิด  สิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว (มาตรา 46)

 

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?