ความลับทางการค้า สำคัญอย่างไรกับธุรกิจคุณ?

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมการเข้าทำงานในองค์กรใดองค์กรหนึ่งฝ่าย HR มักมีเอกสารที่เรียกว่าสัญญารักษาความลับทางการค้าให้คุณเซ็นชื่อ และเคยสงสัยต่อหรือไม่ว่าเจ้าความลับทางการค้านั้นมีความสำคัญอย่างไรกับภาพรวมของธุรกิจ วันนี้เราจะพาไปรู้จักความหมาย และแนวทางการเก็บรักษาความลับทางการค้าอย่างถูกต้อง เพื่อให้ความลับนั้นยังคงเป็นความลับที่รู้เฉพาะคนในองค์กรที่มีสิทธิ์เท่านั้น

ความลับทางการค้าคืออะไร?

อ้างอิงจาก พระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2545 ได้ให้คำจำกัดความคำว่า “ความลับทางการค้า” ไว้ในมาตรา 3 ว่า

“ความลับทางการค้า” หมายความว่า ข้อมูลการค้าซึ่งยังไม่รู้จักกันโดยทั่วไป หรือยังเข้าถึงไม่ได้ในหมู่บุคคล ซึ่งโดยปกติแล้วต้องเกี่ยวข้องกับข้อมูลดังกล่าว โดยเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เนื่องจากการเป็นความลับ และเป็นข้อมูลที่ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาไว้เป็นความลับ

“เจ้าของความลับทางการค้า” หมายความว่า ผู้ค้นพบ คิดค้น รวบรวม หรือสร้างสรรค์ข้อมูลการค้าที่เป็นความลับทางการค้าโดยมิได้เป็นการละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าของผู้อื่น หรือผู้มีสิทธิโดยชอบในผลการทดสอบหรือข้อมูลการค้าที่เป็นความลับทางการค้า และให้หมายความรวมถึงผู้รับโอนสิทธิตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2545

“ผู้ควบคุมความลับทางการค้า” หมายความว่า เจ้าของความลับทางการค้า และให้หมายความรวมถึงผู้ครอบครอง ควบคุม หรือดูแลรักษาความลับทางการค้าด้วย

ความลับทางการค้ามีอะไรบ้าง?

• ข้อมูลเกี่ยวกับการค้า เช่น ข้อมูลสินค้า สูตร ส่วนผสม เทคนิคหรือกรรมวิธีการผลิตสินค้า รวมถึงขั้นตอนการทำงานของสินค้า

• ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เชิงพาณิชย์ เป็นความลับที่มีความสำคัญกับกิจการ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ข้อมูลการขาย แผนการตลาด ราคาประมูลสินค้า รายชื่อลูกค้า

แนวทางรักษาและดูแลความลับทางการค้า

ผู้ประกอบการหรือผู้ที่เป็นเจ้าของความลับทางการค้าควรมีมาตรการในการรักษาความลับทางการค้าอย่างเหมาะสมและปลอดภัย เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาตและอาจส่งผลกระทบกับธุรกิจ โดยดำเนินการตามแนวทางต่างๆ ดังนี้

• การจัดจำแนกข้อมูลที่ควรเป็นความลับทางการค้าแล้วจัดเก็บในที่ปลอดภัย เช่น เก็บในตู้นิรภัย หรือในพื้นที่ที่ต้องมีการเข้ารหัส หรือในพื้นที่เขตหวงห้ามและห้ามนำออกนอกพื้นที่

• ข้อมูลความลับทางการค้าที่เก็บไว้ในรูปแบบไฟล์ควรมีการเข้ารหัสการเข้าถึง และมีระบบตรวจสอบสิทธิการเข้าถึง ติดตามและแจ้งเตือนเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวหรือกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับข้อมูล เช่น การคัดลอก แก้ไข หรือส่งไฟล์

• ข้อมูลความลับทางการค้าที่อยู่ในรูปแบบของเอกสารควรมีการประทับตรา “ลับ” ลงในเอกสาร และจัดเก็บอย่างปลอดภัย

• การทำสัญญารักษาความลับทางการค้ากับผู้เกี่ยวข้อง โดยไม่ให้เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับกับบุคลลที่สาม หรือบุคคลภายนอก หากฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

• แจ้งข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้าไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา

ความลับทางการค้า ถือเป็นส่วนที่มีความสำคัญและเป็นหัวใจในการทำธุรกิจ หากถูกนำไปเผยแพร่แก่บุคคลภายนอกหรือคู่แข่งย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจโดยตรง และสร้างความเสียหายจนอาจทำให้ธุรกิจนั้นไปต่อไม่ได้ ดังนั้นการป้องกันภัยอย่างรอบด้านและเก็บรักษาอย่างถูกวิธี จะช่วยให้ความลับนั้นยังคงเป็นความลับอยู่ต่อไป

อ้างอิงข้อมูล กรมทรัพย์สินทางปัญญา

tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?