แรงงานนอกระบบ สำคัญอย่างไรในตลาดแรงงาน?

23 กุมภาพันธ์ 2565

เลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวว่าในโลกของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมทุกระดับ ตลอดจนถึงการพัฒนาของประเทศนั้น กลุ่มคนที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญคือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน

แรงงานแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ แรงงานในระบบ และแรงงานนอกระบบ โดยในที่นี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับกลุ่มแรงงานนอกระบบ พวกเขาคือใคร อาชีพไหนจัดอยู่ในกลุ่มนี้ และมีความสำคัญอย่างไรในระบบจ้างงาน ไปดูกัน

แรงงานนอกระบบคือใคร?

แรงงานนอกระบบ คือ ผู้ใช้แรงงานที่ทำงานโดยไม่มีสัญญาการจ้างงานอย่างเป็นทางการหรือเป็นลายลักษณ์อักษรตามกฎหมาย ส่วนใหญ่เป็นการจ้างแบบปากเปล่า รวมทั้งอาจไม่มีนายจ้างที่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน

นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ทำงานอยู่ในสถานประกอบการ ไม่มีการจ่ายค่าจ้าง ค่าตอบแทนที่แน่นอน รวมทั้งยังหมายรวมถึงกลุ่มคนผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ที่ทำงานชั่วคราว

ที่สำคัญแรงงานกลุ่มนี้ไม่ยังไม่รับความคุ้มครองหรือหลักประกันทางสังคมจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การปกครองส่วนภูมิภาคหรือส่วนท้องถิ่น ทั้งยังไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ประกันสังคม ทำให้ไม่มีหลักประกันด้านความมั่นคงและการชดเชยต่างๆ เช่น ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม จ่ายไม่แน่นอนไม่ตรงเวลา ไม่มีประกันความปลอดภัยในการทำงาน ไม่มีเงินออมยามเกษียณ และไม่มีเงินชดเชยหลังเลิกจ้าง

ลักษณะของแรงงานนอกระบบ

• การจ้างงานไม่เป็นระบบ

• ไม่มีสวัสดิการหรือไม่ได้รับความคุ้มครองจากประกันสังคม

• ส่วนใหญ่อยู่ตามกิจการเล็กๆ หรือธุรกิจในครัวเรือน

• งานมักใช้วัตถุดิบในประเทศ ซึ่งใช้แรงงานมากกว่าเครื่องจักร

• มีการใช้แปลงเทคโนโลยีอย่างง่ายๆ

• ทำงานเป็นอิสระ ไม่มีเวลาเข้างานตายตัว และบางกลุ่มอาจไม่มีสถานที่ทำงานแน่นอน เช่น หาบเร่ คนเก็บขยะขาย

• เงินเดือนไม่สม่ำเสมอ เช่น ลูกจ้างเกษตร ลูกจ้างประมง ลูกจ้างที่มีการจ้างเป็นครั้งคราว ลูกจ้างที่รับงานไปทำที่บ้าน

• ไม่ค่อยมีอำนาจต่อรองหรือบางกลุ่มอาจเข้าไม่ถึงสวัสดิการรัฐ

ประเภทของแรงงานนอกระบบ

• แรงงานนอกระบบในภาคการผลิต เช่น ผู้ผลิตงานเองขายเอง ผู้ทำกิจการเล็กๆ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน

• แรงงานนอกระบบในภาคบริการ เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หาบเร่แผงลอย รับจ้างทำงานที่บ้าน พนักงานร้านอาหาร หมอนวด

• แรงงานนอกระบบในภาคการเกษตร เช่น เกษตรกรทำนา ทำสวน ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์

กฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบสำหรับ 3 กลุ่มอาชีพ

• พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553

• กฎกระทรวงฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2555) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

• กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม พ.ศ. 2557

 

เพราะแรงงานนอกระบบมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเป็นตัวขับเคลื่อนงานมากมาย กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า และเป็นกันชนในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวและมีปัญหาการจ้างงานของแรงงานในระบบ ดังนั้นการให้ความเป็นธรรมกับแรงงานกลุ่มนี้ ขณะเดียวกันกลุ่มแรงงานเองก็ควรมีมาตรการรักษาสิทธิของตัวเอง เช่น มีการทำหนังสือเป็นรายลักษณ์อักษณเมื่อตกลงรับจ้างงาน และคุยคาราค่าจ้างให้ชัดเจน

 

ที่มาข้อมูล

กองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ

สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ

 

tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?