แจ้งย้ายได้ไหม? หากเสาไฟขวางทางเข้า-ออกบ้าน

12 ตุลาคม 2565

เสาไฟฟ้าที่ตั้งโดดเด่นแต่ขวางทางเข้า-ออกบ้านนั้น นอกจากจะส่งผลเสียกับฮวงจุ้ย ความสวยงาม และความสะดวกสบายแล้ว ยังมีเรื่องของความปลอดภัยที่หลายคนยังหวาดหวั่นว่าหากฝนฟ้าลมแรง เสาไฟนี้จะล้มทับบ้าน หรือเป็นอันตรายถึงขั้นไฟดูดไฟช็อตคนในบ้านได้ คำถามที่ตามมาคือ เราสามารถดำเนินการแจ้งย้ายเสาไฟออกจากหน้าบ้านได้หรือไม่ วันนี้ธรรมนิติมีคำตอบมาฝากกัน

 

เสาไฟฟ้าขวางทางเข้า – ออกบ้าน แจ้งย้ายได้หรือไม่?

หน้าบ้านที่มีเสาไฟตั้งขวางทางเข้า-ออก ไม่ว่าจะเป็นเสาไฟฟ้าแบบไหน เจ้าของบ้านสามารถติดต่อการไฟฟ้าสาขาที่ใช้บริการอยู่ เพื่อแจ้งเรื่องขอย้ายเสาไฟ

ทั้งนี้ในคู่มือสำหรับประชาชน เรื่องการขอย้ายเสา สาย และอุปกรณ์ มีหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการยื่นคำขอ และการพิจารณาอนุญาต ดังนี้

1. ปฏิบัติถูกต้องตามข้อบังคับการไฟฟ้านครหลวง ว่าด้วย การใช้ไฟฟ้าและบริการ และข้อบังคับการไฟฟ้านครหลวง ว่าด้วยอัตราค่าบริการการใช้ไฟฟ้า ฉบับปัจจุบัน

2. ไม่มีปัญหาเรื่องแนวเขตทาง การจราจร ตำแหน่งเสาไฟฟ้า สาธารณูปโภคอื่นๆ และการประกาศดับไฟเพื่อปฏิบัติงาน

3. ไม่เป็นการย้ายสายใต้ดิน

4. กรณีเป็นการย้ายเสา สาย และอุปกรณ์ไฟฟ้า ของระบบไฟฟ้าแรงดันไม่เกิน 24,000 โวลต์ ต้องไม่เกิน 25 ต้น

5. กรณีเป็นการย้ายเสา สาย และอุปกรณ์ไฟฟ้า ของระบบไฟฟ้าแรงดันตั้งแต่ 69,000 โวลต์ ขึ้นไป ต้องไม่เกิน 2 ต้น

6. ผู้ขอย้ายเสา สาย และอุปกรณ์ ชำระค่าใช้จ่ายครบถ้วนถูกต้อง

7. กรณีมีการปักเสาและหรือพาดสายไฟฟ้าและหรือย้ายเสาสายไฟฟ้าในที่ดินของผู้ยื่นคำขอ หรือที่ดินของบุคคลอื่น ผู้ยื่นคำขอจะต้องนำสัญญาอนุญาตให้ติดตั้งอุปกรณ์ระบบจ่ายไฟฟ้าและหนังสือรับรองการย้ายและติดตั้งอุปกรณ์ระบบจ่ายไฟฟ้า มามอบให้การไฟฟ้านครหลวงก่อนดำเนินการ

8. กรณีมีการปักเสาและหรือพาดสายไฟฟ้าและหรือย้ายเสาสายไฟฟ้าในที่ดินสาธารณะ ผู้ยื่นคำขอจะต้องนำหนังสือรับรองการปักเสาพาดสายไฟฟ้าในที่ดินสาธารณะ มามอบให้การไฟฟ้านครหลวงก่อนดำเนินการ

9. การไฟฟ้านครหลวงจะดำเนินการย้ายเสา สาย และอุปกรณ์ ได้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด เมื่อได้รับเอกสารครบถ้วนถูกต้อง ในวันยื่นเรื่อง ทั้งนี้ไม่นับระยะเวลาระหว่างการรอดำเนินการของผู้ขอใช้ไฟฟ้า

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับการแจ้งย้ายเสาไฟฟ้า

1. ข้อบังคับการไฟฟ้านครหลวง ว่าด้วย อัตราค่าบริการการใช้ไฟฟ้า พ.ศ. 2562

2. ข้อบังคับการไฟฟ้านครหลวง ว่าด้วย การใช้ไฟฟ้าและบริการ พ.ศ. 2535

3. พระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501

 

เอกสารสำคัญ ในการขอย้าย ดังนี้

1. บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวข้าราชการหรือพนักงานองค์การของรัฐ หรือเอกสารที่ส่วนราชการออกให้ ซึ่งมีหมายเลขประจำตัวประชาชนปรากฏอยู่ หรือหนังสือเดินทาง

2. หลักฐานแสดงความเกี่ยวพันระหว่างผู้ขอใช้บริการกับสถานที่ใช้ไฟฟ้า เช่น ทะเบียนบ้านที่ขอใช้ไฟฟ้า หรือหนังสือให้เลขบ้าน หรือหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย สัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อที่ดินพร้อมอาคาร หรือโฉนดที่ดินที่มีชื่อผู้ขอใช้ไฟฟ้าเป็นเจ้าของ พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง

3. แผนผังสถานที่ที่ขอย้ายเสา สาย โดยสังเขป

4. หนังสือรับรองการย้ายและติดตั้งอุปกรณ์ระบบจ่ายไฟฟ้า

5. หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่มีการมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทน) โดยหนังสือมอบอำนาจต้องปิดอากรแสตมป์ตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ และผู้มอบอำนาจช่วง (ถ้ามี) พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง สำหรับผู้รับมอบอำนาจหรือผู้รับมอบอำนาจช่วง (ถ้ามี) ให้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงมาติดต่อ

6. สัญญาอนุญาตให้ติดตั้งอุปกรณ์ระบบจ่ายไฟฟ้า พร้อมสำเนาโฉนดที่ดินที่มีชื่อผู้ขอใช้ไฟฟ้าเป็นเจ้าของ ที่มีการลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง

7. หนังสือรับรองการปักเสาพาดสายไฟฟ้าในที่ดินสาธารณะ กรณีปักเสาพาดสายในที่ดินสาธารณะ

 

การแจ้งย้ายเสาไฟฟ้า อาจมีค่าใช้จ่าย

1. ค่าย้ายมิเตอร์ ตามที่การไฟฟ้ากำหนด

2. ค่าย้ายเสาไฟฟ้า เจ้าหน้าที่จะมาสำรวจพร้อมประมาณการค่าใช้จ่าย ก่อนจะแจ้งค่าใช้จ่ายให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทราบ

 

การแจ้งย้ายเสาไฟฟ้าหน้าบ้าน หากตำแหน่งที่ตั้งเสาไฟฟ้านั้นกระทบกับการใช้ชีวิตและความปลอดภัย ก็สามารถแจ้งย้ายได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีเรื่องของค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเจ้าของบ้านต้องรับผิดชอบ ดังนั้นควรพิจารณาอย่างรอบคอบ หากพร้อมจ่ายเพื่อแรกกับความปลอดภัย ความสะดวกสบาย หรือความสวยงามของหน้าบ้านก็เดินหน้าต่อได้เลย

 

อ้างอิงข้อมูล

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?