ระวัง! ส่งผิดชีวิตเปลี่ยน…สิ่งของห้ามส่งทางไปรษณีย์

ระวัง! ส่งผิดชีวิตเปลี่ยน…สิ่งของห้ามส่งทางไปรษณีย์

เมื่อของมันต้องมี อยากได้ทั้งทีก็ต้องสั่ง แต่จะสั่งของออนไลน์ หรือใช้บริการส่งสินค้าทางไปรษณีย์ ก็ต้องคำนึงถึงกฎข้อห้ามในการส่งสิ่งของด้วย โดยสิ่งของห้ามส่งทางไปรษณีย์นั้นมีพระราชบัญญัติควบคุมไว้อย่างชัดเจน เรียกว่า พระราชบัญญัติไปรษณีย์ 2477 ซึ่งได้บัญญัติกฎบทลงโทษและสิ่งของห้ามส่งไว้อย่างละเอียด โดยจะมีอะไรที่ไม่ควรส่งบ้าง ธรรมนิตินำข้อมูลมาฝากกันแล้ว

กฎหมายเกี่ยวกับการจัดส่งสิ่งของต้องห้าม

พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477

เนื่องจากพาณิชยกรรมของประเทศได้เจริญขึ้น เพื่อให้ความสะดวกแก่ประชาชนและเหมาะสมแก่กาลสมัยยิ่งขึ้น จึงมีพระราชบัญญัตินี้ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายในการขนส่งทางไปรษณีย์ ตามมาตราต่างๆ ดังนี้

มาตรา 23 ห้ามมิให้บุคคลใดส่งทางไปรษณีย์ ซึ่งวัตถุมีคมที่ไม่มีเครื่องหุ้มห่อป้องกันพอ หรือวัตถุระเบิดหรือสิ่งโสโครก หรือสิ่งมีพิษ หรือสัตว์มีชีวิต หรือสิ่งของที่มีสภาพอันน่าจะก่อให้เกิดอันตราย หรือเสียหายแก่ไปรษณียภัณฑ์ในระหว่างส่งทางไปรษณีย์ หรือแก่เจ้าพนักงาน เว้นไว้แต่จะมีข้อบังคับหรือเงื่อนไขกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้สามารถอ้างอิงจากประกาศมาตรการการรับฝากส่งสิ่งของในหน้าเว็บไซต์ของไปรษณีย์ไทย www.thailandpost.co.th ซึ่งมีของต้องห้ามส่ง ดังนี้

1) สัตว์มีชีวิต พัสดุส่วนใหญ่ใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 วัน จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่ง แม้จะมีการเจาะช่องระบายอากาศแล้วก็ตาม แต่การขนย้ายที่เสี่ยงต่อการซ้อนทับก็เป็นอันตรายก่อนถึงปลายทางได้

2) สิ่งเสพติด สิ่งเสพติดคือสิ่งของผิดกฎหมาย ผิดตั้งแต่มีไว้ในครอบครอง มีโทษทั้งจำและปรับตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ 2522 ว่าด้วยการส่งยาเสพติดทางไปรษณีย์เพื่อจำหน่ายมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4-15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 80,000-300,000 บาท และหากส่งไปยังผู้ซื้อต่างประเทศตามปริมาณที่กำหนดมีโทษตาม มาตรา 65 ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 15 ต้องระวางโทษ จำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่ 1,000,000 – 5,000,000 บาท

3) วัตถุลามกอนาจาร หากเกิดการทำงานผิดปกติระหว่างขนส่งอาจมีผลกระทบต่อสินค้าชิ้นอื่นๆ ได้

4) วัตถุระเบิดหรือวัตถุไวไฟทุกชนิด ไม่ควรอย่างยิ่ง อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเวลา แม้การขนส่งจะระมัดระวังมากแค่ไหน แต่ปัจจัยอื่นๆ เช่น ความร้อน แรงกระแทก ความชื้น ปฏิกิริยาต่างๆ หากเกิดระเบิดขึ้นย่อมเป็นผลเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งสิ้น

5) วัตถุมีคมที่ไม่มีสิ่งหุ้มห่อ แน่นอนว่ากว่าจะมาถึงปลายทางต้องผ่านมือพนักงานกี่คน หากไม่ระวัง หุ้มห่อ ไม่ปลอดภัย อาจเป็นอันตรายได้

6) ธนบัตร เพื่อป้องกันการสูญหาย กี่กล่องสุ่ม ก็ไม่ควรเสี่ยง

7) สิ่งของปลอมแปลงหรือลอกเลียนแบบโดยละเมิดลิขสิทธิ์ ข้อนี้ไม่ใช่แค่ผู้รับที่ไม่ปลอดภัย ผู้ส่งเองก็อาจเป็นผู้ต้องหาจากการล่อซื้อจากการลอกเลียนละเมิดลิขสิทธิ์ได้ ดังนั้นจำหน่ายของถูกกฎหมายไม่ละเมิดลอกเลียนเลยดีที่สุด

หากต้องการส่งสิ่งของที่สุ่มเสี่ยงต่อการขนส่งต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ที่จุดบริการหุ้มห่อก่อนทุกครั้ง ซึ่งสิ่งของที่สุ่มเสี่ยงหรือต้องการการหุ้มห่ออย่างได้มาตรฐานได้ถูกกำหนดไว้ดังนี้

1) เครื่องยนต์ และส่วนประกอบของเครื่องยนต์ทุกชนิด

2) แบตเตอรี่ ลิเทียมและแบตเตอรี่ทุกชนิด รวมทั้งอุปกรณ์สื่อสารที่ติดตั้งแบตเตอรี่ภายในถาวร เช่น iPhone, iPad

3) วัตถุมีคม ที่จะต้องทำการหุ้มห่อ

4) สิ่งเทียมอาวุธ เช่น ปืนเด็กเล่น ปืนไฟแช็ก

5) ของเหลวทุกชนิด

6) สารพิษ เช่น ยาฆ่าแมลง สารไซยาไนด์

7) สารมีฤทธิ์กัดกร่อน เช่น น้ำกรด น้ำยาล้างห้องน้ำ

8) เชื้อชีวภาพ เช่น เชื้อแบคทีเรีย อาวุธปืน และเครื่องกระสุน

9) อาวุธปืนและกระสุน กล่าวคือ อาวุธที่ไม่ได้บรรจุกระสุนสามารถส่งได้ โดยต้องนำใบอนุญาตมีอาวุธมาแสดงขณะส่ง พร้อมลงนามสำเนา 1 ชุด แนบไปกับกล่องบรรจุอาวุธปืนที่ส่ง

นอกจากนี้การขนส่งพัสดุไม่ได้มีแค่เพียงทางบกเท่านั้น บางรายการจำเป็นที่ต้องขนส่งทางอากาศ จึงต้องมีพระราชบัญญัติควบคุมไม่ให้ส่งสิ่งของห้ามส่งทางไปรษณีย์ เรียกว่า พระราชบัญญัติการเดินอากาศ 2497

หมวด 1/3 มาตรา 15/27 – มาตรา 15/31

การกำกับดูแลการขนส่งวัตถุอันตรายและสิ่งของต้องห้ามหรือต้องดูแลเป็นพิเศษ กำหนดหลักเกณฑ์การขนส่งวัตถุอันตรายและสิ่งของต้องห้ามหรือต้องดูแลเป็นพิเศษทางอากาศ โดยการรับมอบ จัดเก็บ บรรทุก ขนถ่าย หรือขนส่งของดังกล่าว ต้องได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือน แห่งประเทศไทย และปฏิบัติตามเงื่อนไข ที่ผู้อำนวยการกำหนด เพื่อให้เป็นไปตามภาคผนวกแห่งอนุสัญญา ว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ

ทั้งนี้หากพบหรือสงสัยว่าเป็นสิ่งของผิดกฎหมาย สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนสำนักงาน ป.ป.ส.1386 หรือสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ซึ่งหากมีการตรวจพบสิ่งของห้ามส่งทางไปรษณีย์จะมีความโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากมีการส่งของต้องห้ามทางไปรษณีย์เป็นวัตถุอันตรายทางอากาศยาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 80,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลยหากจะส่งของสักชิ้น เพราะผลกระทบหากมองอย่างข้อเท็จจริงก็เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อพนักงาน ผู้รับ รวมถึงผู้ส่งด้วย เพื่อไม่ให้ผิดต่อข้อกฎหมายธรรมนิติจึงนำข้อมูลมาฝากกันค่ะ

 

ข้อมูลอ้างอิง

กระทรวงยุติธรรม

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?