ภาษีมรดกที่ดิน จ่ายเท่าไรจึงชอบด้วยกฎหมาย?

เป็นเรื่องที่น่ายินดีและบางทีก็เป็นปัญหาที่ทำให้หลายคนปวดหัวสำหรับผู้ที่ได้รับมรดกที่ดิน เพราะนั่นหมายถึงการตามมาด้วยการจัดการต่างๆ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งแม้จะได้รับตกทอดมาฟรีๆ แต่ก็ยังมีค่าภาษีที่ผู้รับจำเป็นต้องจ่ายและหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วการจัดการภาษีมรดกที่ดินนี้มีรายละเอียดปัจจัยต่างๆ อย่างไร วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบ โดยจะเน้นในส่วนของการรับมรดกที่ดินเจ้าของเสียชีวิตไปแล้วค่ะ

การโอนที่ดินมรดกเมื่อเจ้าของเสียชีวิตไปแล้ว

เมื่อเจ้าของที่ดินเสียชีวิตลง ที่ดินดังกล่าวจะตกทอดสู่ทายาทโดยธรรมเท่านั้น ไม่สามารถตกทอดสู่ทายาทที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ และการโอนสิทธิ์ก็จะเสียเพียงค่าธรรมเนียมการโอนเท่านั้น ยกเว้นแต่ว่าทรัพย์สินมรดกที่ได้รับนั้นมีมูลค่าสุทธิรวมเกิน 100 ล้านบาท ก็จะต้องเสียค่าภาษีมรดกเพิ่มด้วย

ค่าใช้จ่ายสำหรับการโอนที่ดินมรดก

อัตราค่าใช้จ่ายสำหรับการโอนที่ดินมรดกนั้นมีค่าธรรมเนียมแตกต่างกันดังนี้

1. ที่ดินมรดกที่ยกให้ลูกตามกฎหมาย บิดามารดา และสามีภรรยาที่จดทะเบียน รวมถึงผู้สืบสายเลือดโดยตรง ได้แก่ ลูก หลาน เหลน และต่ำลงมา กรณีนี้จะเสียค่าธรรมเนียมสำหรับการโอนในอัตราที่ต่ำที่สุด โดยเสียเพียง 0.5% ของราคาประเมิน

2. ที่ดินมรดกที่ยกให้ญาติพี่น้อง บุตรบุญธรรม หรือบุคคลอื่น ที่ได้รับมรดกที่ดินที่ระบุไว้ในพินัยกรรม กรณีนี้จะเสียค่าธรรมเนียมสำหรับการโอนในอัตรา 2.0% ของราคาประเมิน

การรับมรดกตามลำดับทายาท

ตามมาตรา 1599-1600 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ระบุว่า เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้น ย่อมตกทอดแก่ทายาททันที โดยมรดกของผู้ตาย ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่างๆ ด้วย ซึ่งทายาทของผู้ตายต้องรับสืบทอดหนี้สินของผู้ตายไปพร้อมกับทรัพย์สินเพื่อความเป็นธรรม จึงกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบไว้เพียงไม่เกินมูลค่าของมรดกที่ตนได้รับมา

กองมรดกของผู้ตาย ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิ์ตามกฎหมาย ตามลำดับทายาท (ในกรณีที่ไม่ได้ทำพินัยกรรม)

1. ทายาทโดยสิทธิ์ตามกฎหมาย ได้แก่ ผู้สืบสันดาน (ลูก หลาน เหลน)

2. ภรรยาหรือสามี (ต้องได้จดทะเบียนสมรสกันเท่านั้น)

3. บิดามารดา

4. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

5. พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

6. ปู่ ย่า ตา ยาย

7. ลุง ป้า น้า อา

แต่หากเจ้าของทรัพย์สินหรือที่ดิน ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในพินัยกรรม มรดกดังกล่าวจะถูกส่งมอบไปยังผู้ที่มีชื่อในพินัยกรรมหรือผู้รับผลประโยชน์ได้เลย โดยไม่ต้องไปไล่ลำดับทายาท

ภาษีมรดก

จะถูกเรียกเก็บเมื่อผู้รับมรดกได้รับทรัพย์สินมรดกมูลค่าสุทธิรวมเกิน 100 ล้านบาท โดยจะเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกินจาก 100 ล้านบาทเท่านั้น (ไม่คิดรวม 100 ล้านบาทแรก) โดยจะแบ่งอัตราค่าเก็บภาษีมรดกเป็น 5% และ 10% ตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรตั้งไว้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ผู้รับมรดกที่เป็นคู่สมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะได้รับการยกเว้นภาษีการรับมรดก

2. ผู้รับมรดกที่เป็นบุพการี ได้แก่ บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด และที่สูงขึ้นไป หรือผู้สืบสายเลือดแท้ๆ เช่น ลูก หลาน เหลน และต่ำลงมานั้น จะต้องเสียภาษีมรดกในอัตราคงที่ 5%

3. ผู้รับมรดกที่เป็นญาติพี่น้อง หรือบุคคลทั่วไปซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดกับผู้ให้มรดก จะต้องเสียภาษีมรดกในอัตราคงที่ 10%

ดังนั้นการรับมรดกที่ดินผู้รับจะต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายและรู้ลำดับทายาทของตนเพื่อให้ทราบว่าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการโอนและภาษีมรดกในอัตราเท่าไร เพื่อการครอบครองที่ดินมรดกนั้นเป็นไปอย่างถูกต้อง ไม่เป็นปัญหาในภายหลัง

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?