23 กุมภาพันธ์ 2565
หากเอ่ยถึงสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างที่อยู่ในความคุ้มครองของประกันสังคมจะได้รับนั้น หลายคนอาจเข้าถึงและรู้เพียงสิทธิที่ได้จากกองทุนประกันสังคมที่ตัวลูกจ้างและนายจ้างเองร่วมกันจ่ายเงินสมทบ
แต่รู้หรือไม่ว่าตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างได้เข้าทำงานในองค์กรก็มีอีกหนึ่งความคุ้มครองที่ลูกจ้างจะได้รับจากการทำงานเกิดขึ้นแล้วนั่นคือกองทุนเงินทดแทน
แล้วกองทุนเงินทดแทนกับกองทุนประกันสังคมต่างกันอย่างไร ต้องจ่ายสมทบเท่าไร ใครจ่ายบ้าง ลูกจ้างจะได้รับสิทธิเมื่อไร มาติดตามไปพร้อมๆ กัน
ทำความรู้จักกองทุนเงินทดแทน
กองทุนเงินทดแทนเป็นกองทุนที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นทุนในการจ่ายเงินทดแทนให้กับลูกจ้าง ในกรณีที่ลูกจ้างมีการเจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ ทุพพลภาพ สูญหาย หรือเสียชีวิตจากการทำงานให้กับนายจ้างเท่านั้น และความคุ้มครองนี้จะเกิดขึ้นกับลูกจ้างนับตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างเข้าทำงาน
ใครส่งเงินสบทบกองทุนเงินทดแทน?
• นายจ้าง
โดยนายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเพียงฝ่ายเดียว และอัตราการจ่ายเงินสบทบของแต่ละบริษัทจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของธุรกิจที่นายจ้างประกอบกิจการ และขณะเดียวกันก็ใช่ว่านายจ้างทุกคนหรือทุกกิจการจะต้องจ่ายเงินสบทบนี้ทั้งหมด เพราะยังมีบางกิจการได้รับการยกเว้น
7 กิจการที่ได้รับการยกเว้นการจ่ายสมทบกองทุนเงินทดแทน
• ราชการส่วนกลาง,ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
• รัฐวิสาหกิจ
• กิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งไม่ใช้ลูกจ้างตลอดปี และไม่มีงานในลักษณะอื่นรวมอยู่ด้วย
• ครู หรือ ครูใหญ่ของโรงเรียนเอกชน
• กิจการที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ
• ลูกจ้างของนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งงานที่ลูกจ้างทำนั้นมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย
• ลูกจ้างของนายจ้างซึ่งประกอบการค้าเร่หรือการค้าแผงลอย
สิทธิประโยชน์ลูกจ้างในกองทุนเงินทดแทน
1. กรณีเจ็บป่วย
จะได้รับความคุ้มครอง 2 ส่วน คือ
• ค่ารักษาพยาบาล สามารถเบิกได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นไม่เกิน 35,000 บาท ต่อการเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย 1 ครั้ง หากเกินจากที่กำหนดสามารถเบิกเพิ่มได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดในกฏกระทรวงอีกไม่เกิน 200,000 บาท
• ค่าทดแทนรายเดือน ในอัตรา 60% ของค่าจ้าง หากแพทย์วินิจฉัยให้หยุดพักรักษาตัวติดต่อกันเกิน 3 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี
2. กรณีสูญเสียอวัยวะ
• ค่าทดแทนรายเดือน ในอัตรา 60% ของค่าจ้าง ตามประเภทการสูญเสียอวัยวะและระยะเวลาที่กำหนด
• กรณีที่ลูกจ้างจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู จะได้รับการฟื้นฟูที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน ของสำนักงานประกันสังคม ดังนี้
• ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูด้านการแพทย์ และอาชีพเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 20,000 บาท
• ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานไม่เกิน 20,000 บาท
3. กรณีทุพพลภาพ
• ค่าทดแทนรายเดือนในอัตรา 60% ของค่าจ้าง เป็นเวลาไม่เกิน 15 ปี
4. กรณีตายหรือสูญหาย
• ค่าทำศพจ่ายให้แก่ผู้จัดการศพ 100 เท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน (ปัจจุบันจ่าย 18,100 บาท)
• ค่าทดแทนรายเดือนในอัตรา 60% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 8 ปี แก่ทายาท
ทำความรู้จักกองทุนประกันสังคม
กองทุนประกันสังคม คือกองทุนเงินสมทบที่เป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม โดยจะได้รับความคุ้มครองและประโยชน์ทดแทนในกรณที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตโดยไม่จำเป็นต้องเกิดจากการทำงานก็ได้ รวมทั้งยังให้สิทธิประโยชน์ครอบคลุมถึงกรณีคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงานด้วย
ใครส่งเงินสบทบกองทุนประกันสังคม
• ลูกจ้าง
• นายจ้าง
• รัฐบาล
สิทธิประโยชน์ลูกจ้างในกองทุนประกันสังคม
1. กรณีเจ็บป่วย
ความคุ้มครองเกิดขึ้นเมื่อมีการจ่ายเงินสมทบแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการรักษาพยาบาล
2. กรณีคลอดบุตร
ความคุ้มครองเกิดขึ้นเมื่อจ่ายเงินสมทบแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเดือนที่คลอด โดยผู้ประกันตนจะได้รับค่าคลอดบุตรจำนวน 15,000 บาท และสามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
3. กรณีทุพพลภาพ
ความคุ้มครองเกิดขึ้นเมื่อจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3 เดือน ก่อนทุพพลภาพซึ่งไม่ใช่สาเหตุเนื่องจากการทำงาน โดยผู้ประกันตนจะได้รับการดูแลรักษาพยาบาลและเงินทดแทนการขาดรายได้ ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน (คิดจากอัตราค่าจ้างสูงสุด 15,000 บาท) ตลอดชีวิต
4. กรณีเสียชีวิต
ความคุ้มครองเกิดขึ้นเมื่อจ่ายเงินสมทบแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนถึงแก่ความตาย โดยจะจ่ายให้กับครอบครัวหรือทายาทของผู้ประกันตน ซึ่งจะเป็นเงินค่าทำศพจำนวน 50,000 บาท และเงินสงเคราะห์กรณีตายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
5. กรณีสงเคราะห์บุตร
ความคุ้มครองเกิดขึ้นเมื่อเมื่อจ่ายเงินสมทบแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่รับสิทธิประโยชน์ทดแทน โดยจะได้เงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเป็นเดือนละ 800 บาท/บุตร 1 คน เป็นเวลา 6 ปี ตั้งแต่แรกเกิด จนบุตรอายุ 6 ปีบริบูรณ์ ซึ่งจะสามารถขอใช้สิทธิได้ครั้งละไม่เกิน 3 คน
6. กรณีชราภาพ
ความคุ้มครองเกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันตนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนแล้ว หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต โดยจะได้รับเงินบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพตามจำนวนเงินที่ได้จ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคมไว้ ซึ่งจะรวมถึงเงินสมทบจากนายจ้างและและผลตอบแทนจากกองทุนประกันสังคมด้วย
หากผู้ประกันตนมีการจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 1 ปี จะมีสิทธิได้รับเพียงเงินส่วนที่ตนเองจ่ายเงินสมทบเท่านั้น
7. กรณีว่างงาน
ความคุ้มครองเกิดขึ้นเมื่อจ่ายเงินสมทบแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนที่จะมีการว่างงานเกิดขึ้น โดยผู้ประกันตนต้องขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ลาออกหรือถูกเลิกจ้าง
สรุปความแตกต่างระหว่างกองทุนเงินทดแทนกับกองทุนประกันสังคม
• ผู้ที่จ่ายเงินสมทบ โดยกองทุนเงินทดแทนจะมีเพียงนายจ้างที่จ่าย แต่กองทุนประกันสังคมจะมีทั้งลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาลร่วมจ่าย
• สิทธิประโยชน์และความคุ้มครอง โดยกองทุนเงินทดแทนสิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับนั้นมี 4 กรณี และต้องเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการทำงานเท่านั้น ขณะที่กองทุนประกันสังคมลูกจ้างจะได้รับสิทธิครอบคลุมถึง 7 กรณี โดยไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากการทำงาน
ข้อมูลอ้างอิง
www.sso.go.th
www.sau-jeddah.mol.go.th