เรื่องควรรู้ ทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ให้ปลอดภัย

23 กุมภาพันธ์ 2565

ยุคที่การจัดการการเงินเป็นเรื่องง่ายเพียงปลายนิ้ว ด้วยเทคโนโลยีการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการงานผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Banking) อินเทอร์เน็ต (Internet Banking) ซึ่งนับวันยิ่งเข้ามาทดแทนการใช้เงินสดแบบเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยข้อดีด้านความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และลดความเสี่ยงของข้อผิดพลาดต่างๆ จากการบริหารจัดการเงินสด และเพื่อความปลอดภัยของการทำธุรกรรมออนไลน์ เราในฐานะผู้ใช้และเจ้าของเงินควรรู้เท่าทันมิจฉาชีพ และระมัดระวังอย่างรอบด้าน

1. อุปกรณ์ที่ใช้ต้องเชื่อถือได้

อุปกรณ์ที่ใช้ทำธุรกรรมนั้นต้องปลอดภัยเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต หรือสมาร์ทโฟน ที่สำคัญคือควรใช้อุปกรณ์เหล่านี้ที่เป็นของตนเอง ไม่ควรหยิบยืมใครใช้ หรือใช้อุปกรณ์สาธารณะในการทำธุรกรรม เพื่อลดความเสี่ยงของเงินในบัญชี และช่วยให้สามารถจับสัญญาณความผิดปกติได้เมื่อเกิดเหตุการณ์น่าสงสัย

2. อัปเดทอุปกรณ์ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุด

การมีอุปกรณ์ที่ใช้ซอฟท์แวร์ตัวล่าสุด ไม่เพียงแต่เป็นการอัปเดตการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังเป็นการปิดทุกช่องโหว่ที่มิจฉาชีพใช้เป็นทางเข้ามาในอุปกรณ์ได้ ดังนั้นเพื่อประหยัดเวลา และความปลอดภัยสูงสุด อาจเลือกใช้ระบบอัปเดทอัตโนมัติก็ได้

3. รู้ตัวอยู่เสมอว่ากำลังใช้อินเทอร์เน็ตที่ไหน

อินเทอร์เน็ตทุกที่ใช่ว่าจะปลอดภัยสำหรับการทำธุรกรรมออนไลน์ โดยเฉพาะพวก Free-Wifi ในร้านกาแฟ หรืออินเทอร์เน็ตฟรีตามแหล่งท่องเที่ยว บางครั้งอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับการจ่ายบิล หรือโอนเงิน แต่หากจำเป็นต้องทำธุรกรรมออนไลน์จริงๆ ให้ใช้ Virtual Private Network หรือ (VPN) เพื่อเข้ารหัสการใช้งาน ทำให้ผู้อื่นไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้

4. ใช้โปรแกรมรักษาความปลอดภัยที่น่าเชื่อถือ

ก่อนเชื่อมต่อเข้าสู่บัญชีธนาคาร ควรติดตั้งโปรแกรมป้องกันหลายชั้น และอัปเดทอย่างสม่ำเสมอ เพราะโปรแกรมเหล่านี้จะสามารถรับมือกับไวรัส และมัลแวร์ได้หลายชนิด หรือแม้กระทั่งกลลวงจากอีเมล์ หรือเว็บไซต์ปลอมที่หลอกให้เจ้าของกรอกข้อมูลสำคัญลงไปได้อีกด้วย

5. รหัสผ่านต้องซับซ้อน ไม่ใช้ซ้ำ

กฎเหล็กของการตั้งรหัสผ่านคือ อย่าใช้รหัสผ่านซ้ำกัน แม้การจำรหัสหลายๆ ตัว จะเป็นเรื่องยาก แต่หากนึกถึงเงินในบัญชีที่เสียให้ภัยมิจฉาชีพแล้วเชื่อว่าต่อให้มีอีกกี่สิบรหัส เราก็จะจดจำได้ รวมทั้งการตั้งรหัสผ่านนั้นต้องยาก ซับซ้อน และถามตัวเองทุกครั้งว่ารหัสผ่านที่ตั้งไว้นั้นดีพอแล้วหรือยัง เพราะรหัสผ่านที่ดี ย่อมสร้างความปลอดภัยที่มากกว่า และเป็นปราการป้องกันภัยที่ดียิ่งขึ้น

6. ยืนยันตนสองขั้นตอนเพิ่มความปลอดภัย

ถ้าหากธนาคารเสนอการใช้การยืนยันตนสองขั้นตอน หรือ (2FA) ขอแนะนำให้ใช้ เพราะวิธีนี้จะเป็นการเช็กความปลอดภัยซ้ำ เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง และยืนยันการทำธุรกรรมไปด้วยพร้อมๆ กัน อีกทั้งยังป้องกันการทำธุรกรรมโดยคนที่มีข้อมูลรหัสผ่านของเราได้อีกด้วย เพราะรหัสผ่านที่ใช้ยืนยันจะแจ้งเข้ามาทางสมาร์ทโฟนของเจ้าของบัญชี

7. อย่าตกหลุมพราง

มิจฉาชีพจะใช้ทุกวิถีทางเพื่อขโมยข้อมูลสำคัญ อย่างการปลอมตัวเป็นธนาคาร หรือแจ้งเตือนให้เปลี่ยนรหัสผ่านด้วยลิงก์ปลอมที่เขียนมาในอีเมล์ เหล่านี้หากมีเข้ามาและก่อนที่จะดำเนินการต่างๆ ตามนั้นควรต้องตรวจสอบให้ดีว่าเป็นของจริงหรือไม่ ถ้าหากไม่แน่ใจให้ติดต่อสอบถามสถาบันการเงินที่ถือบัญชีอยู่

8. ใช้ปุ่ม Logout

เมื่อใช้โปรแกรมธุรกรรมเสร็จ อย่าลืม Logout เพื่อป้องกันภัยกรณีที่โดนแฮกข้อมูลเข้ามาในช่วงนั้น มิจฉาชีพหรือคนอื่นที่ไม่หวังดีจะสามารถทำธุรกรรมต่อได้ทันที

9. ใช้ระบบ SMS กับ Online Banking

สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยเช็กยอดเงิน หรือทำธุรกรรมออนไลน์ไม่บ่อยนัก การใช้ระบบแจ้งเตือนเป็นข้อความ SMS เมื่อมีความเคลื่อนไหวในบัญชี จะช่วยให้รู้ความเป็นไปของบัญชีได้ดียิ่งขึ้น

 

การทำธุรกรรมออนไลน์ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ใช้บริการควรหมั่นศึกษารูปแบบธุรกรรมและวิธีการรักษาความปลอดภัยที่ผู้ให้บริการเสนอก่อนตัดสินใจใช้บริการ ศึกษากลโกงด้วยวิธีการต่างๆ และติดตามข่าวสารเทคโนโลยีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้รู้เท่าทันและป้องกันภัยทางการเงินในรูปแบบต่างๆ

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?