เลือก…กองทุนไหนดี?  

เลือกลงทุนกับกองทุนไหนดี

19 มิถุนายน 2562

สำหรับคนที่อยากจะลงทุนผ่านกองทุนที่มีให้เลือกมากมาย เรามีวิธีเลือกกองทุนสำหรับคนที่ไม่รู้จักกองทุนรวมมาแนะนำครับ    

กองทุนคืออะไร?

กองทุน หรือ กองทุนรวม คือ การนำเงินจากผู้ลงทุนรายย่อยหลายๆ คนมารวมกันเพื่อที่จะเอาเงินเหล่านั้นไปลงทุนผ่านสินทรัพย์ต่างๆ โดยมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลการลงทุนให้ ซึ่งผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนในกองทุนรวมจะมีอยู่ 2 อย่าง คือ กำไรจากการขายและเงินปันผล โดยกำไรจากการขายและเงินปันผลจะเกี่ยวข้องกับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนนั้นๆ ที่เรียกว่า NAV (Net Asset Value) หรือมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดของกองทุนในแต่ละวัน โดยจะหักหนี้สินและค่าใช้จ่ายต่างๆ ของกองทุนออกไปแล้วนั่นเองครับ

ลองเช็คดูง่ายๆ ตามข้อมูลของกองทุนที่ประกาศในหน้าเว็บไซต์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ต่างๆ นี่แหละครับ ถ้ากำไรก็แปลว่า NAV เพิ่มขึ้น ส่วนการขาดทุนก็ทำให้ NAV ลดลง และถ้าหากเป็นกองทุนที่มีการจ่ายปันผลก็จะจ่ายจากสินทรัพย์สุทธิที่ทำให้ NAV ลดลงเช่นเดียวกันครับ

ยกตัวอย่างเช่น กองทุน ABC มี NAV (มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ) อยู่ 1 ล้านบาท แต่จำนวนหน่วยที่ขายให้กับนักลงทุนคือ 1 แสนหน่วย ดังนั้น NAV ต่อหน่วย = 1 ล้านบาท/แสนหน่วย = 10 บาทต่อหน่วย

สมมติว่า วันนี้ตลาดหุ้นได้ปรับตัวสูงขึ้น หุ้นในกองทุน ABC ก็มีราคาเพิ่มขึ้น สินทรัพย์ของกองทุนก็เพิ่มตาม และหลังจากคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนตามราคาตลาด (Mark to Market) ที่หักออกด้วยค่าใช้จ่ายและหนี้สินของกองทุนรวมกลายเป็น 1.2 ล้านบาท ดังนั้น NAV ต่อหน่วยจะเปลี่ยนเป็น 12 บาท ซึ่งหากกองทุน ABC ตัดสินใจจ่ายปันผลหน่วยละ 1 บาท NAV ของกองทุนก็จะลดลงเหลือ 11 บาทนั่นเองครับ

กำไรจากการขายจะเกิดขึ้นเมื่อเราขายกองทุนออกมา ส่วนเงินปันผลจะได้รับเมื่อกองทุนมีการประกาศจ่ายเงินปันผลครับ

 

ข้อดีและข้อจำกัดของการลงทุนในกองทุนรวม

การลงทุนในกองทุนรวมนั้นมีทั้งข้อดีและข้อจำกัด ที่ต้องศึกษาทำความเข้าใจก่อนที่จะลงทุนนะครับ และนี่คือตารางเปรียบเทียบสั้นๆ พร้อมคำอธิบาย เพื่อใช้เปรียบเทียบประกอบการตัดสินใจครับ

 

ข้อดี ข้อจำกัด
ใช้เงินลงทุนน้อย ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับทรัพย์สิน
ลงทุนได้หลากหลาย กระจายความเสี่ยงได้ มีค่าธรรมเนียม
มีผู้จัดการกองทุนดูแลให้ มีระยะเวลาที่เหลื่อมล้ำกัน
มีผลตอบแทนดี มีความเสี่ยงและโอกาสขาดทุน

 

ข้อดี  ใช้เงินลงทุนน้อย เพราะเริ่มต้นได้ด้วยเงินเพียงไม่กี่บาทเท่านั้น (บางกองทุนสามารถซื้อได้ด้วยเงินเพียง 1 บาท) ทำให้ทุกคนสามารถเริ่มต้นลงทุนได้โดยที่ไม่ต้องสะสมเงินให้มากพอ และยังสามารถเลือกลงทุนที่มีความหลากหลายตามนโยบายของกองทุน ตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำไปจนถึงสูง โดยที่เราสามารถเลือกที่จะกระจายความเสี่ยงได้ด้วยตัวเองในกองทุนหลากหลายประเภท ที่ดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างผู้จัดการกองทุนคอยจัดการให้โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรมากนัก และมักทำผลตอบแทนได้ดีกว่าที่เราลงทุนเองเสียอีกครับ

ข้อจำกัด :  ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับทรัพย์สินที่เราเลือกลงทุน เพราะแต่ละกองทุนจะจำกัดไว้โดยนโยบายที่ระบุไว้เท่านั้น ซึ่งเราเองก็มีหน้าที่ต้องทราบถึงข้อจำกัดในการลงทุนด้วย นอกจากนั้นการลงทุนยังมีค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการ ไม่ว่ากองทุนจะกำไรหรือไม่ก็จะมีค่าธรรมเนียมเสมอครับ ส่วนการแจ้งข้อมูลจะไม่ได้เป็นแบบทันทีตลอดเวลาโดยจะมีระยะเวลาที่เหลื่อมล้ำกัน ซึ่งเราจะรับรู้ผลการลงทุนผ่านราคา NAV ก็ต่อเมื่อสิ้นวันไปแล้ว ยิ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในกองทุนต่างประเทศอีกทีหนึ่งก็จะยิ่งช้ากว่านั้น รวมถึงยังมีความเสี่ยงและโอกาสขาดทุนด้วยนะครับ ไม่ใช่ว่าจะกำไรเพียงอย่างเดียว ดังนั้นควรจะศึกษาให้ดี ให้เข้าใจก่อนการลงทุนด้วยครับ

 

ประเภทของกองทุนรวมที่น่าสนใจ

ปกติแล้วกองทุนจะถูกแบ่งตามความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป โดยมีถึง 8 ระดับ ซึ่งระดับความเสี่ยงที่มากขึ้นนั้นหมายถึงโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น กองทุนที่มีความเสี่ยงระดับที่ 1 คือ กองทุนรวมตลาดเงิน โดยจะลงทุนกับพันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง หรือตราสารอื่นๆ ที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี ถือเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด ในขณะที่กองทุนที่มีความเสี่ยงระดับที่ 8 คือ กองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกต่างๆ เช่น ทองคำ น้ำมัน หรือสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นสินทรัพย์เสี่ยงที่มีความยุ่งยากในการประเมินราคาและมีความผันผวนมาก เนื่องจากมีความซับซ้อนมากขึ้นกว่ากองทุนทั่วไปครับ

นอกจากนั้นยังมีกองทุนสำหรับลดหย่อนภาษีอย่าง LTF และ RMF ที่เป็นกองทุนรวมอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงเดียวกันกับกองทุนรวมหุ้น หรือความเสี่ยงระดับ 7 ครับ

กองทุน LTF ย่อมาจาก Long Term Equity Fund หรือ กองทุนรวมหุ้นระยะยาวที่ลงทุนในหุ้น (ไม่น้อยกว่า 65% ของสินทรัพย์สุทธิ) ส่วน กองทุน RMF ย่อมาจากคำว่า Retirement Mutual Fund เป็น กองทุนรวมที่มีมีระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวนานจนถึงเกษียณ ที่สามารถลงทุนกับสินทรัพย์ทุกประเภทที่มีความเสี่ยงตั้งแต่ ระดับ 1 จนถึง 8 ขึ้นอยู่กับนโยบายของกองทุนนั้นๆ ครับ

คนส่วนใหญ่มักเริ่มต้นจากการซื้อกองทุน LTF และ RMF เป็นอันดับแรกๆ ทั้งที่ยังไม่ทราบถึงความเสี่ยงและโอกาสขาดทุน ซึ่งต้องบอกเลยครับว่าอาจจะเป็นปัญหาได้เช่นเดียวกัน

ข้อดีของกองทุนกลุ่มนี้คือ สร้างผลตอบแทนได้สูง เหมาะกับการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว และลดหย่อนภาษีได้ โดยกองทุน LTF มีเงื่อนไขให้สามารถซื้อกองทุน LTF ได้สูงสุด 15% ของรายได้ในแต่ละปี แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ซื้อมาปีไหนจะได้ลดหย่อนภาษีปีนั้นได้เลย และไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี แต่ต้องถือครองไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทินจึงจะสามารถขายได้

ส่วน RMF นั้นซื้อได้เหมือนกันกับ LTF คือ 15% ของรายได้ในแต่ละปีสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท แต่จะต้องคำนวณร่วมกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราขการ (กบข.), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และประกันชีวิตแบบบำนาญด้วย

ที่สำคัญ RMF ยังมีเงื่อนไขให้ถือครองกองทุนจนอายุครบ 55 ปี และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็ม และ RMF นั้นต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง ซื้อขั้นต่ำอย่างน้อย 3% ของเงินได้ในแต่ละปี หรือ 5,000 บาท โดยเลือกจำนวนที่ต่ำกว่ามาเป็นเกณฑ์ครับ

เห็นไหมครับว่า แค่คำถามว่ากองทุนไหนดี ก็ทำให้เราต้องมารู้จักกับกองทุนประเภทต่าง ๆ มากมายนี้ก่อนทีนี้ถ้าเราจะเลือกกองทุนรวมดี ๆ สักกองทุนนั้นควรจะทำอย่างไร ผมอยากให้แนวทางง่ายๆ ในการพิจารณาดังนี้

 

แนวทางในการเลือกกองทุนรวมที่ดี

  1. รู้ว่ากองทุนลงทุนในสินทรัพย์อะไร และเราต้องการอะไรในการลงทุน

สิ่งแรกที่ควรรู้คือ กองทุนที่เราจะซื้อลงทุนในสินทรัพย์อะไร มีความเสี่ยงแค่ไหน และเรารับความเสี่ยงได้ไหม โดยพิจารณาถึงผลขาดทุนที่จะเกิดขึ้นด้วย เช่น ลงทุนไป 100 แต่มีโอกาสขาดทุน 40% แบบนี้รับได้หรือเปล่า ซึ่งถ้าไม่รู้ในข้อแรกนี้อย่าเพิ่งไปต่อที่ข้อ 2 นะครับ

ทีนี้่พอรู้แล้วให้ถามต่อว่า แล้วเราต้องการอะไรจากการลงทุนบ้าง เช่น ผลตอบแทนประมาณเท่าไร ประหยัดภาษีไหม วางแผนเพื่อเป้าหมายอะไร และกองทุนที่ว่านี้ตอบโจทย์ในสิ่งที่เราต้องการทั้งหมดหรือเปล่า

  1. ผลตอบแทนที่ผ่านมาดีไหม น่าสนใจหรือเปล่า

แม้ว่าเราจะไม่รู้อนาคต แต่การเลือกกองทุนที่ให้ผลตอบแทนย้อนหลังที่ดีในระยะยาวที่ผ่านมา น่าจะสะท้อนว่ามีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าในระดับหนึ่ง ดังนั้นถ้ากองทุนที่เราสนใจให้ผลตอบแทนสูงสุดมาตลอด โดยพิจารณาเลือกจากสัก 10 อันดับแรก เราก็น่าจะมั่นใจได้ในระดับหนึ่งครับ

  1. เลือกกองทุนที่มีค่าธรรมเนียมต่ำ

เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาวนั่นเอง โดยกองทุนที่มีค่าธรรมเนียมต่ำจะช่วยให้ผลตอบแทนของเราเพิ่มขึ้นแน่ ๆ ในทางหนึ่ง ซึ่งตรงนี้ต้องดูถึงความคุ้มค่าในการบริหารจัดการของทางกองทุนประกอบกันครับ

 

 

หมายเหตุ : ขอขอบคุณข้อมูลประกอบบางส่วนจากหนังสือ “รวยหุ้นได้ไม่ต้องลงทุนเอง” โดยหมอนัท คลินิกกองทุน ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

ที่มา : บางส่วนจากบทความ “กองทุนไหนดี? วิธีเลือกกองทุนสำหรับคนที่ไม่รู้จักกองทุนรวม” คอลัมน์ “บทความพิเศษ” โดย TAXBugnoms วารสาร เอกสารภาษีอากร ปีที่ 37 ฉบับที่ 434 เดือนพฤศจิกายน 2560 

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?