ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ กับการนำพากลุ่มบริษัท‘ธรรมนิติ’ก้าวสู่ความเป็นองค์กรดิจิทัล

27 มิถุนายน 2562

ผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรง ที่ถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการยกระดับกลุ่มบริษัทธรรมนิติ  ก้าวสู่ความเป็นองค์กรดิจิทัล

กลุ่มบริษัทธรรมนิติ สถาบันวิชาชีพเก่าแก่ของคนไทย ที่มีอายุครบ 71 ปีเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีบริษัทในกลุ่มทั้งหมด 10 บริษัท โดยมีบริษัทแม่คือบริษัท ธรรมนิติ จำกัด (มหาชน)

กลุ่มบริษัทธรรมนิติให้บริการด้านวิชาชีพครบวงจร ที่สนับสนุนการดำเนินการของบริษัท ด้วยบริการให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ภาษี การจัดทำบัญชี การจัดทำเงินเดือน ตรวจสอบบัญชี ตรวจสอบภายใน อบรมสัมมนา และบริการด้านไอที

ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ หรือคุณป็อม คนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง ที่ถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการยกระดับกลุ่มบริษัทธรรมนิติ สถาบันวิชาชีพเก่าแก่ของไทย ให้ก้าวผ่านคลื่นการเปลี่ยนแปลงของกระแสไอทีและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ถาโถมมาลูกแล้วลูกเล่า แต่ละช่วงต้องมีการเตรียมพร้อมวางแผนอย่างไร คุณป็อม ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ General Manager บริษัท ดีไอทีซี จำกัด หนึ่งในกลุ่มบริษัทธรรมนิติจะมาบอกเล่าประสบการณ์กว่า 15 ปีให้เราฟังกันครับ

 

จากเส้นทางนักบินสู่โลกไอที 

ผมเรียนด้านอินดัสเทรียลดีไซน์มาจากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งตอนนั้นจริง ๆ ผมฝันอยากเป็นนักบิน  แต่เกิดความสนใจเรื่องไอทีเริ่มตอนที่ไปเรียนที่ออสเตรเลีย  เนื่องจากช่วงนั้นเพิ่งเริ่มมีอินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ตื่นตาตื่นใจมาก ผมสนใจเรื่องการบินก็เลยไปหาข้อมูลด้านเทคโนโลยีด้านอากาศยาน  ยานยนต์และคอมพิวเตอร์ พอมีเวลาว่างก็จะไปฝังตัวอยู่ที่ร้านหนังสือ Technical Bookshop นั่งอ่านอยู่ที่ร้านวันละ 6-7 ชั่วโมง พอศึกษาไปเรื่อย ๆ ก็รู้ว่าเทคโนโลยีการบินเข้าสู่ดิจิทัลหมดแล้ว ทั้งระบบ Auto Pilot และ Flight Management System เทคโนโลยีบริหารจัดการการบินด้วยข้อมูลเหล่านี้นับเป็นตัวอย่างแรก ๆ ของการใช้เทคโนโลยีเข้ามาข่วยทำงานแทนคน เรียกว่าเหมือนปัญญาประดิษฐ์ (AI) สมัยนี้ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าต่อมาอีกไม่นานระบบ Automation เหล่านี้จะเป็นเรื่องใกล้ตัวในปัจจุบัน ส่วนเรื่องเว็บไซต์ก็ถือเป็นของใหม่ พอศึกษาเรื่อย ๆ ก็ลองทำเอง เขียน HTML Javascript แล้วนำขึ้นให้คนที่เมืองไทยสามารถเข้ามาดูได้ ถือเป็นเรื่องสนุก ๆ ที่ได้ทำในขณะที่คนอื่นยังต้องเขียนจดหมายหากันอยู่เลย”

องค์กรดิจิทัล

ร่วมบุกเบิก … จากศูนย์สู่การเติบโต

แม้ว่าเรื่องไอทีจะเป็นเรื่องที่คุ้นเคยกันในปัจจุบัน แต่หากย้อนกลับเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้วยังถือเป็นเรื่องใหม่ที่ยุ่งยากซับซ้อน โดยเฉพาะกับธุรกิจด้านวิชาชีพที่ยังไม่คุ้นชิน

“ผมมีโอกาสเข้ามาร่วมงานกับธรรมนิติช่วงปี 2546  สมัยนั้นเรียกได้ว่าบริษัทยังดำเนินการเป็นระบบ Manual เป็นหลัก ด้วยความเป็นสถาบันอันเก่าแก่ มีมาตรฐานการทำงานที่เป็นขั้นตอนและระบบการทำงานที่ชัดเจน การเริ่มต้นจึงต้องค่อยเป็นค่อยไป  ผมเริ่มจากเว็บไซต์เพื่อไม่เป็นการกระทบระบบเดิมและคนของเรา  ผมเริ่มพัฒนาเว็บไซต์ Dharmniti.co.th  ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่มีทีมเป็นของตัวเองจึงเลือกใช้ Outsource ภายนอก ผมค่อย ๆ เรียนรู้การทำงานในช่วงที่เราพัฒนา เลยทำให้ผมได้ทำงานร่วมกับ Outsource หลากหลายเจ้า ที่ทำให้ผมได้เห็นปัญหาในการทำงานร่วมกับ Outsource ในมุมกว้าง ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ผมเห็นโอกาสว่าปัญหาที่เราเจอคนอื่นน่าจะเจอเหมือนกัน จึงได้ปรึกษากันภายใน ผมโชคดีที่ได้ทำงานกับผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์อย่าง คุณไพศาล พืชมงคล ซึ่งตอนนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการจัดการคนที่ 1 กลุ่มบริษัทธรรมนิติ  ถึงแม้ท่านจะอายุมากแต่วิสัยทัศน์เฉียบคม ท่านเล็งเห็นสิ่งต่าง ๆ ก่อนผมด้วยซ้ำ สิ่งที่ผมได้ไปปรึกษาจึงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มรูปแบบ เราเริ่มมีการลงทุนด้านบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ  อย่างต่อเนื่อง จากนั้นผมเริ่มวางแผนเกี่ยวกับการวางระบบ Network เพราะเห็นว่าถึงเวลาอันสมควรแล้ว”

 

ช่วงเวลาแห่งความท้าทาย

“เมื่อเริ่มมีระบบ Network เป็นพื้นฐานสำคัญที่ผมและทีมงานได้พัฒนาจนแข็งแรง ก็เข้าสู่ช่วงแห่งการเชื่อมต่อและสร้างมาตรฐานไปยังบริษัทย่อยในกลุ่มบริษัทธรรมนิติ จึงเกิดการรวมศูนย์การบริหารจัดการด้านไอทีเพื่อเชื่อมต่อและปรับปรุงระบบ Network ให้เชื่อมโยงถึงกัน

เราเริ่มจัดทำศูนย์ข้อมูลกลาง หรือ Data Center และ Web Hosting เป็นของตัวเอง รวมถึงใช้แนวทาง Open Source มาพัฒนาระบบ เพราะเรามองว่าเป็นแนวทางที่เปิดกว้าง ไม่ผูกขาด มีความยืดหยุ่นและประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้การพัฒนาของทีมงานเราเป็นไปอย่างรวดเร็วและน่าพอใจ หรือในส่วนของเว็บไซต์ และ CMS เราถือเป็นบริษัทแรก ๆ ในเมืองไทยที่มีการนำ Joomla Framework มาใช้อย่างจริงจัง”

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลกระทบถึงคนที่แวดล้อม การมีเพียงระบบโครงข่ายและอาวุธยุทโธปกรณ์ครบถ้วน แต่หากขาดบุคลากรผู้ใช้งาน ระบบต่าง ๆ คงไม่ถูกใช้งานอย่างเต็มศักยภาพและการพัฒนาคงจะไม่ยั่งยืน การพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อม  มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานจึงถือเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องที่ท้าทาย

“ผมคิดว่าทุกคนในองค์กรควรต้องให้ความสนใจในการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ใช่เฉพาะพวกคนไอทีเท่านั้น  เราต้องสร้างความตระหนักด้านการนำนวัตกรรมและไอเดียใหม่ ๆ ปรับ Mindset ให้เขารู้ว่าควรจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างไร จะหยิบส่วนใดมาใช้ต้องมองให้ออก คือต้องพัฒนาคนให้คิดแบบดิจิทัลและเข้าถึงโลกไอทีด้วย ให้พวกเขาได้เรียนรู้ เข้าใจและใช้เป็น ไอเดียความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ จะเกิดขึ้นตามมา

ผมเห็นว่าถ้าเราทำให้เขาเห็นประโยชน์ ทำให้เข้าใจ สร้างบรรยากาศ คนเราจะเรียนรู้เร็วขึ้น  ปี 2550 เรามีการนำระบบบริหารออฟฟิศบน Google (Google Apps) สำหรับองค์กรมาใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ ทั้ง Mail Celendar และ Drive นับเป็นการเริ่มต้นเข้าสู่ Cloud Computing ขององค์กร และเป็นการยกระดับบุคลากรทั้งองค์กรอย่างก้าวกระโดดในคราวเดียว”

องค์กรดิจิทัล

ขยายความเป็นดิจิทัลสู่ส่วนบริการลูกค้า

เมื่อบุคลากรภายในมีการปรับตัวและพร้อมรับมือในความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราก็เริ่มขยายขอบเขตพัฒนาไปยังส่วนการบริการลูกค้า

“ เมื่อเล็งเห็นโอกาสแห่งความเปลี่ยนแปลง เราเริ่มต้นด้วยการพัฒนาเว็บไซต์ให้กับกลุ่มธุรกิจฝึกอบรมสัมมนา ซึ่งถือเป็นบริษัทที่มีการติดต่องานกับลูกค้ารายย่อยภายนอกมากที่สุดในเครือ เพราะด้วยมีการจัดอบรมสัมมนาถึงปีละ 3,000 คอร์ส มีผู้เข้าร่วมกว่าหนึ่งแสนคนต่อปี ผมและทีมได้จัดทำเว็บไซต์เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าในการดูรายละเอียดคอร์สสัมมนา จองสัมมนา สั่งซื้อหนังสือ เรียกว่าเราเป็นธุรกิจวิชาชีพเจ้าแรก ๆ ที่นำระบบ E-Commerce มาใช้ และที่ก้าวหน้าไปมากกว่านั้นคือเราติดต่อกับ payment gateway ที่ธนาคารเอเชียเพิ่งเปิดบริการเป็นเจ้าแรก ให้ลูกค้าของเราสามารถทำการชำระเงินออนไลน์ได้ทันที นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาระบบ LMS สำหรับ E-Learning ซึ่งเป็นบริการใหม่ที่สามารถให้นักบัญชีผู้เข้าร่วมอบรม สามารถทำการอบรมออนไลน์ผ่านระบบ E-Learning และสามารถนับชั่วโมง CPD ผู้ทำบัญชีพร้อมออกหนังสือรับรองได้ โดยสภาวิชาชีพบัญชีและกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอีกด้วย”

 

The Spin Off จากหน่วยงาน ขยายสู่บริษัท กับลูกค้าของตัวเอง

ด้วยสิ่งที่ทำ เริ่มแตกหน่อใหม่ที่ขยายฐานแห่งการบริการ ผู้บริหารได้เล็งเห็นถึงศักยภาพ และโอกาสแห่งอนาคตในการนำเสนอบริการต่อยอดให้กับกลุ่มลูกค้าของธรรมนิติ  ในการช่วยเตรียมความพร้อมให้กับบริษัทลูกค้าในการปรับองค์กรเข้าสู่โลกดิจิทัล จึงได้มีการยกระดับศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นบริษัท ดีไอทีซี จำกัด

“ ดีไอทีซีเรามุ่งมั่นสู่การเป็น IT Solution & System Provider ที่จะช่วยนำเสนอและจัดหาแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสม (IT Solution) กับบริษัทลูกค้า เพราะโลกเทคโนโลยีในปัจจุบันจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมาประกอบกันเป็น Solution ซึ่งต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่หลากหลาย การเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ความเป็นดิจิทัลมีหลายมุม หลายสิ่งที่องค์กรต้องทำ เริ่มตั้งแต่โครงสร้างระบบพื้นฐาน (Network Infrastructure), ระบบ Network ระบบ Internet, ระบบโทรศัพท์ การเลือกใช้ ตลอดจนการติดตั้ง Hardware & Software , WebSite , Application, ตลอดจนการบำรุงรักษา ดูแลอุปกรณ์และระบบ (Maintenance) เมื่อเราได้ข้ามผ่านการปรับองค์กรของเรามา จึงต้องการเตรียมความพร้อมให้กับบริษัทในเครือให้มีความพร้อมเช่นกัน  เรียกได้ว่าเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างทางด้านระบบไอทีให้กับลูกค้าทั้งภายในและภายนอกองค์กร ประกอบกับประสบการณ์ที่ได้เจอในช่วงที่ผมได้มีโอกาสร่วมงานกับ Outsource ที่หลากหลาย ผมมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ DiTC เป็นบริษัทที่ให้บริการด้วยความซื่อสัตย์ น่าเชื่อถือ ตามวิถีแห่งธรรมนิติ และผมเชื่อว่า นื่คือจุดต่างหลักของเรา”

 

Integration การยกระดับทั้งองค์กร บุคลากร ลูกค้า สู่วิถีดิจิทัล ไปด้วยกัน

ถึงเราจะเริ่มพัฒนามาสักระยะหนึ่ง ด้วยผลงานที่เติบโต แต่ด้วยกระแสดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การปรับตัวยังคงต้องทำอย่างต่อเนื่อง สำหรับผมเรายิ่งต้องเดินเร็วกว่าเดิมและต้องมองรอบด้าน ทั้งในส่วนของธรรมนิติเอง บุคลากรของเรา ลูกค้าของเรา ด้วยทิศทางที่ผมตั้งเป้าหมายไว้คือ

1.การยกระดับบริการให้เป็นแพลตฟอร์ม โดยมุ่งสร้าง New Venture หรือธุรกิจบริการใหม่ ๆ ขึ้นมาด้วยทรัพยากรภายในองค์กรของเราเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมนิติเป็นองค์กรวิชาชีพด้านกฎหมาย บัญชี ภาษี เราก็จะใช้ข้อมูล ความรู้และทรัพยากรตรงนี้มาสร้างมูลค่าเพิ่มในการให้บริการ

2.New Partners, New Innovation  ยุคนี้เป็นยุคแห่งการแบ่งปัน เรามุ่งเน้นที่จะทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลาย เพื่อร่วมแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์และเติบโตไปด้วยกัน

3.Human Centric  ทิศทางสำคัญอีกเรื่องคือเรื่องคน ทำอย่างไรให้คนมีความสุขกับการทำงาน ใช้เทคโนโลยีเป็น การยกระดับความเป็นวิชาชีพไอที เพื่อเสริมการทำงานร่วมกัน เราจึงมีการปรับโครงสร้างการทำงานอยู่เสมอ อย่างตอนนี้เรามีการจัด Techtalk หรือการบรรยายเรื่องของไอที ดิจิทัลในประเด็นต่าง ๆ ทุกเดือน เพื่ออัพเดทความรู้ด้านไอทีแก่พนักงาน เมื่อเขารู้ว่าเทคโนโลยีจะนำไปใช้อะไรได้ก็จะเกิดไอเดียและนำไปต่อยอดได้

4.การพัฒนาระบบการทำงานภายในให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยระบบไอที เรามุ่งเน้นให้คนของเราทำงานได้อย่างสะดวกสบาย ด้วยความฉลาดทางด้านไอทีที่จะเข้ามาสนับสนุนการทำงาน เพื่อให้คนของเราได้มีเวลาเหลือไปคิดงานที่เพิ่มขีดความสามารถในการทำงาน ลดเวลาการทำงานที่ไม่จำเป็น ลดโอกาสเกิดความผิดพลาดในการทำงาน และนำข้อมูลในอดีตมาศึกษา วิเคราะห์ เพื่อเตรียมตัวสู่อนาคต เป็นต้น ที่สำคัญเราให้พนักงานเริ่มเข้ามามีส่วนกับการพัฒนาโปรแกรมภายในหลาย ๆ อย่าง เช่น ระบบ MIS,  E-Payment, E-Leave, E-Surway, Check-in หน้างานสัมมนา ตลอดจนระบบบัญชีการเงิน ที่ได้รับข้อมูลที่มีประโยชน์มากมายจากผู้ใช้งาน เรามี Crowdsourced Testing ที่เป็นพนักงานในองค์กรกว่า 700 คนซึ่งเป็นทั้งผู้ใช้และผู้ทดสอบระบบ

นอกจากนี้ผมยังเห็นว่าโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วทำให้พฤติกรรมและความคาดหวังของผู้บริโภคเปลี่ยนตาม การพัฒนาสิ่งต่าง ๆ  เริ่มจากการใช้ข้อมูล (Data) ที่ตรวจสอบได้ ไม่ใช่จากประสบการณ์ ความคุ้นเคย หรือความรู้สึกอีกต่อไป รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบทางดิจิทัลใหม่ ๆ ซึ่งเราต้องปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ทัน”

ถึงภายนอกการเปลี่ยนแปลงองค์กรที่มีลักษณะเป็นสถาบันทรงคุณวุฒิอันเก่าแก่ จะดูเหมือนเป็นไปได้ยากและท้าทาย แต่คุณป็อมก็ได้ทำให้เราเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการวางแผนอย่างเป็นระบบ ความร่วมมือร่วมใจของทีมงาน และที่ขาดไม่ได้เลยคือความมีวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงที่จะช่วยผลักดันในระดับนโยบาย และสนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง

“มันไม่ง่ายนะ มันเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก แต่ผมและทีมงานก็มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ธรรมนิติ เป็นองค์กรที่มีความเป็นดิจิทัลที่ผสมผสานกับความเป็นสถาบันอันเก่าแก่ได้อย่างลงตัว ผมภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมนิติ  ผมร่วมงานกับธรรมนิติมา 15 ปี จนถึงวันนี้ความมุ่งมั่น และความตั้งใจของผมยังเหมือนเดิม ผมทำงานด้วยความรู้สึกว่า สิ่งที่ผมทำมีประโยชน์กับคนอื่น และผมเองก็จะเน้นกับทีมงานให้เห็นถึงคุณค่างานที่พวกเราทำ เพราะถือเป็นการทำประโยชน์ให้กับองค์กรและสังคมด้วย แล้วผมเชื่อเสมอว่า หากเราทำงานด้วยซื่อสัตย์ จริงใจ  ตั้งใจแล้วความสำเร็จต่าง ๆ ก็จะตามมาเอง”

 

ที่มา : นิตยสาร HR Society Magazine ฉบับสิงหาคม 2561 

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?