สิทธิลูกจ้างทดลองงาน และบทบาทนายจ้างที่ควรรู้

การเลือกสรรลูกจ้างเข้าทำงานในบริษัทมีกระบวนการและหลักเกณฑ์การคัดเลือกที่แตกต่างกันตามรูปแบบบริษัทและตำแหน่งงาน เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างตกลงร่วมงานกันแล้ว การพิสูจน์ความสามารถของลูกจ้างด้วยการกำหนดระยะเวลาทดลองงาน จึงเป็นทางเลือกที่บริษัทส่วนใหญ่เลือกใช้ มาดูกันว่า สิทธิลูกจ้างทดลองงาน และบทบาทนายจ้างที่ควรรู้ มีอะไรบ้าง

การทดลองงาน คืออะไร?

การทดลองงาน คือ การที่นายจ้างได้ตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานแล้ว แต่เพื่อพิสูจน์ความรู้ความสามารถ ทักษะการทำงานในตำแหน่งนั้นๆ รวมถึงการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมองค์กร กฎระเบียบ สภาพแวดล้อม และเพื่อนร่วมงาน นายจ้างจะกำหนดระยะเวลาให้ลูกจ้างได้ทดลองทำงานก่อน โดยเรียกว่า ช่วงทดลองงาน หรือ Probation หรือ Probationary Period หากลูกจ้างปฏิบัติตนผ่านเกณฑ์มาตรฐานจึงบรรจุเป็นลูกจ้างจริง

ลูกจ้างทดลองงานมีสิทธิอย่างไร?

ในทางกฎหมายคำว่า ลูกจ้าง ไม่ได้มีการแบ่งแยกประเภทว่าเป็นลูกจ้างทดลองงาน หรือลูกจ้างประจำ ดังนั้นหากพูดถึงเรื่องของสิทธิและความคุ้มครองทางกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จะถือว่าลูกจ้างทดลองงาน เป็นลูกจ้าง ซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแรงงานเท่าเทียมลูกจ้างประจำทุกประการ และกฎหมายมีข้อห้ามไม่ให้นายจ้างเลือกปฏิบัติกับลูกจ้าง

เพื่อให้การรับบุคคลเข้าทำงานมีมาตรฐาน และได้คนที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งงาน หลายบริษัทจึงกำหนดให้มีช่วงทดลองงานเพื่อให้ลูกจ้างได้พิสูจน์ตนเอง และมีการทำตามข้อตกลงที่ต่างฝ่ายยอมรับกันได้

บทบาทหน้าที่นายจ้างช่วงทดลองงาน

ช่วงทดลองงานไม่ใช่เพียงลูกจ้างที่ต้องพิสูจน์ตนเองให้นายจ้างเห็นถึงความเหมาะสมกับตำแหน่งและองค์กรเพียงฝ่ายเดียว แต่ฝั่งนายจ้างเองจะต้องมีเกณฑ์การประเมินลูกจ้างเป็นระยะทั้งด้าน

• สมรรถนะ ขีดจำกัด หรือความอึดในการทำงาน

• ความสามารถในการทำงาน และผลงานเพื่อพิสูจน์คำพูดตอนสัมภาษณ์ว่ามีความสามารถจริงตามที่ลูกจ้างแจ้งไว้

• ศักยภาพ ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งและความสามารถอื่นๆ เพิ่มเติมที่สามารถเติมเต็มการทำงานในตำแหน่งให้ดีขึ้นได้

• ทัศนคติ ความคิด มุมมองต่างๆ ของลูกจ้าง เกี่ยวกับงานและหน่วยงาน

• ปฎิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงาน

ระยะเวลาที่ใช้ในการทดลองงาน

ระยะเวลาการทดลองงานนั้น ในทางกฎหมายไม่ได้มีข้อบังคับเกี่ยวกับระยะเวลาไว้ชัดเจน ทำให้นายจ้างมีสิทธิ์ที่จะกำหนดระยะเวลาการทดลองงานด้วยตนเอง และจะนานเท่าไรก็ได้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยเงื่อนไขการทำงานนี้จะตกลงกันก่อนเริ่มงานจริงหรือหลังเริ่มงานก็ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ระยะเวลาการทดลองงานส่วนใหญ่ที่หลายบริษัทกำหนดไว้จะอยู่ในช่วง 90-120 วัน หรือหากครบกำหนดก็อาจมีการขยายเวลาการทดลองงานออกไปอีกก็ได้ตามข้อตกลง

กรณีที่ลูกจ้างผ่านช่วงทดลองงานตั้งแต่ 120 วันขึ้นไปแล้ว หากนายจ้างต้องการเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิดใดๆ ตามมาตรา 119 นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเช่นเดียวกับลูกจ้างปกติ ตามข้อบังคับมาตรา 118 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานด้วย (กรณีทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน)

ตัวอย่าง ลูกจ้างได้รับค่าจ้าง 15,000 บาท/เดือน เมื่อลูกจ้างทำงานครบ 120 วัน แล้วนายจ้างบอกเลิกจ้างโดยไม่แจ้งล่วงหน้าก่อน 1 เดือน จำนวนเงินทั้งหมดที่นายจ้างต้องจ่ายแก่ลูกจ้างคือ เงินเดือนงวดสุดท้าย 15,000 บาท + เงินชดเชย 15,000 บาท + เงินค่าตกใจ (ตามที่บริษัทกำหนด)

ลักษณะการเลิกจ้างระหว่างทดลองงาน

การเลิกจ้างลูกจ้างระหว่างทดลองงานแบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ

• กรณีไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า คือการที่ลูกจ้างได้กระทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 119 (ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้นายจ้างหรือบริษัทได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนข้อบังคับ ละทิ้งหน้าที่ติดต่อกัน 7 วันทำงาน ประมาทเลินเล่อ และได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา) กรณีนี้ไม่ว่าลูกจ้างจะทดลองงานครบหรือไม่ครบ 120 วัน ก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง

• กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า คือการที่ลูกจ้างไม่ผ่านการทดลองงาน เนื่องจากผลงาน คุณสมบัติ หรือความประพฤติไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด หากอายุงานไม่ครบ 120 วัน นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับการทดลองงาน

• ลูกจ้างที่อยู่ในช่วงทดลองมีฐานะเป็น “ลูกจ้าง” เช่นเดียวกันกับลูกจ้างปกติที่ได้รับการบรรจุแล้ว มีสิทธิได้ผลประโยชน์และความคุ้มครองตามกฏหมายนับตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงาน

• ระหว่างทดลองงาน 120 วัน นายจ้างควรประเมินการทำงานอย่างเป็นทางการอย่างน้อย 2 ครั้ง หรือคอยดูแล พูดคุย ถ่ายไถ่ความเป็นไปของลูกจ้างเป็นระยะๆ

• หากจะประเมินผลการทดลองงาน ควรดำเนินการแต่เนิ่นๆ ก่อนครบกำหนด 120 วัน เพราะหากเกินกำหนด 120 วัน หากบอกเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ต้องจ่ายเงินชดเชย

tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?