ในยุควิกฤติ! ข้อมูลเครดิตสำคัญอย่างไร? พฤติกรรมไหนเสี่ยงเสียเครดิต

11 มีนาคม 2565

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ผลกระทบระลอกแล้วระลอกเล่ายังคงสร้างความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งสำหรับบางคนนอกจากเงินไม่พอใช้ยังมีไม่พอจ่ายชำระหนี้รายเดือน สร้างผลกระทบต่อถึงเครดิตทางการเงินที่จะมีสถานะไม่ปกติอีกไป

ข้อมูลเครดิตคืออะไร?

ข้อมูลเครดิต คือ ข้อมูลที่เกี่ยวกับข้องประวัติการชำระหนี้ ซึ่งถูกจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หากเมื่อมีผู้เรียกดูจะปรากฏเป็นรายงานข้อมูลเครดิต

ปัจจุบันข้อมูลเครดิตประกอบด้วยข้อมูล 2 ส่วนคือ

• ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงตัวตนลูกค้า เช่น หากเป็นบุคคลจะเป็น เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน ชื่อ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด สถานภาพการสมรส อาชีพ หากเป็นนิติบุคคลจะเป็น ชื่อ สถานที่ตั้ง เลขที่ทะเบียนนิติบุคคล

• ข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติ ประวัติการชำระ และสถานะบัญชี

โดยในรายงานข้อมูลเครดิตจะมีตัวเลขบอกสถานะการชำระหนี้ ซึ่งแต่ละตัวเลขมีความหมายที่ต่างกัน คือ

10 หมายถึง ชำระหนี้ตามปกติ จ่ายครบ จ่ายตรงตามเงื่อนไข ไม่มียอดค้างชำระ หรือค้างชำระไม่เกิน 30 วัน

11 หมายถึง ปิดบัญชีสินเชื่อแล้ว ไม่มีหนี้ค้าง

12 หมายถึง เคยชำระหนี้ แต่ได้พักชำระหนี้ตามนโยบายรัฐ

20 หมายถึง สถานะหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน ซึ่งเป็นสถานะที่ส่งผลเสียต่อลูกหนี้ในการขอสินเชื่อครั้งต่อไป

ข้อมูลเครดิตสำคัญอย่างไร?

สำหรับผู้ที่ขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะกี่หนี้กับกี่สถาบันการเงิน ข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นจะถูกแสดงในรายงานข้อมูลเครดิตทั้งหมด และเป็นเหมือนข้อมูลแสดงพฤติกรรมการสร้างหนี้และชำระหนี้ที่สถาบันการเงินจะใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อในครั้งต่อไป ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าข้อมูลเครดิตมีความสำคัญดังนี้

• แสดงถึงประวัติการชำระหนี้ที่สะท้อนถึงพฤติกรรมและวินัยทางการเงินของเจ้าของข้อมูล

• แสดงถึงความตั้งใจในการชำระหนี้และความน่าเชื่อถือ

• เป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งที่สถาบันการเงินใช้ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ

• เป็นประโยชน์สำหรับเจ้าของบัญชีในการเช็กสถานะหนี้แต่ละส่วนให้เป็นไปอย่างปกติ

ทำไมต้องตรวจสอบข้อมูลเครดิต?

• เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลส่วนที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงินมีความถูกต้อง ทั้งบัญชีที่ปิดไปแล้ว และบัญชีที่กำลังชำระ หรือพักชำระ

• ป้องกันการนำเอกสารส่วนตัวไปแอบอ้างปลอมแปลงเพื่อสมัครสินเชื่อ หรือกู้เงินโดยที่เจ้าของข้อมูลไม่รู้ตัว และไม่ได้ก่อหนี้ขึ้นมาเอง

• ช่วยเตรียมพร้อมก่อนขอสินเชื่อ โดยเป็นเหมือนการตรวจสอบตัวเองก่อนว่ามีคุณสมบัติเข้าข่ายการขอสินเชื่อได้หรือไม่

• รู้สถานะการเงิน เห็นความเคลื่อนไหวของบัญชีหนี้แต่ละบัญชี เพื่อเป็นตัวกระตุ้นให้เจ้าของข้อมูลหันมาพิจารณาการใช้จ่าย เร่งชำระหนี้ให้หมดสิ้น และลดการสร้างหนี้เพิ่มขึ้น

• รายงานข้อมูลเครดิต อาจถูกใช้เป็นเอกสารสำคัญประกอบการสมัครงานบางตำแหน่ง ที่ต้องใช้ประกอบเพื่อแสดงความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสในการทำงาน

วางแผนจัดการหนี้เพื่อรักษาเครดิตในภาวะวิกฤติ

ในภาวะวิกฤติที่หลายคนยากจะหลีกเลี่ยงได้ และมาพร้อมปัญหาการเงินของหลายๆ คน การวางแผนเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้มีทางออกไปในทิศทางที่เป็นไปได้มากที่สุด และส่งผลเสียน้อยที่สุดทั้งต่อสถานะเครดิตการเงิน การชำระหนี้กับสถาบันการเงิน และการใช้ชีวิต

1. จัดการหนี้กรณีที่ยังมีสภาพคล่อง

ในสถานการณ์ที่เข้าขั้นแย่ในช่วงนี้ใครยังมีรายรับเข้าสม่ำเสมอ การเงินยังไม่กระทบมากนัก และมีหนี้ที่ต้องชำระรายเดือน ควรแบ่งชำระตามปกติ เพื่อให้หนี้นั้นหมดสิ้นตามกำหนดเวลา โดยดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

• สรุปรายการหนี้ที่ต้องชำระต่อเดือนทุกรายการ เพื่อตั้งงบประมาณอย่างเหมาะสม

• ผ่อนชำระหนี้ให้ตรงเวลาทุกงวด เพื่อป้องกันการชำระหนี้ล่าช้าและเสียเครดิต

• เก็บหลักฐานการชำระเงินทุกอย่างไว้

• หากหนี้เหลือน้อยให้นำเงินก้อนปิดชำระหนี้สิน

2. จัดการหนี้กรณีที่รายรับน้อยกว่ารายจ่าย

• พักชำระเงินต้น

เป็นการขอผ่อนปรนชำระคืนเงินต้นตามเวลาที่กำหนดไว้ แต่ยังชำระส่วนของดอกเบี้ยตามปกติ ซึ่งธนาคารจะไม่ถือว่าผิดนัดชำระหนี้ และประวัติการผ่อนจ่ายชำระหนี้ไม่เสียอีกด้วย

• การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย

คือการที่สถาบันการเงินผ่อนปรนให้สามารถเลื่อนงวดการผ่อนชำระ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ออกไประยะหนึ่ง โดยเป็นการเลื่อนวันครบกำหนดชำระออกไป โดยไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ และไม่เสียประวัติในฐานข้อมูลเครดิต

สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับการผ่อนปรนไม่ว่าจะเป็นการพักหนี้ หรือเลื่อนชำระ หากรายรับรายได้กลับมาเป็นปกติ หรือมีความสามารถพอจะแบ่งชำระได้แล้ว ควรกลับมาชำระหนี้ให้เป็นปกติดังเดิม เพราะการผ่อนปรนจากธนาคารนั้นไม่ใช่การยกหนี้ส่วนที่เหลือให้ ภาระหนี้นั้นไม่ได้หายไปไหน และที่สำคัญดอกเบี้ยยังเดินอยู่

3. การปรับโครงสร้างหนี้

เป็นการเจรจาระหว่างลูกหนี้กับสถาบันการเงินกรณีที่จ่ายชำระเงินไม่ไหว โดยอาจมีการทำสัญญาขยายระยะเวลาในการชำระหนี้ ลดจำนวนยอดผ่อน หรือลดอัตราดอกเบี้ยให้น้อยลงชั่วคราว เพื่อลดหนี้เสีย และลูกหนี้เสียเครดิตการเงินในอนาคต โดยมี 3 แนวทางในการปรับโครงสร้างหนี้ ดังนี้

3.1 ปรับโครงสร้างหนี้แบบป้องกัน

• ลูกหนี้ที่มีประวัติการผ่อนชำระดีมาโดยตลอด แต่เพราะเหตุการณ์วิกฤติทำให้รายได้ขาดหายไปชั่วคราว

• ยังมีศักยภาพในการผ่อนชำระ และมีโอกาสที่จะกลับมาสร้างรายได้ตามปกติเมื่อวิกฤติผ่านพ้นไป

• การปรับโครงสร้างกลุ่มนี้จะยังถือเป็นหนี้ปกติ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีประกาศรองรับ

• ลูกหนี้ควรรีบติดต่อขอเจรจากับเจ้าหนี้ให้เร็วที่สุด เพื่อหาแนวทางปรับโครงสร้างหนี้

3.2 กลุ่มที่เป็นหนี้เสียอยู่แล้ว

• กลุ่มลูกหนี้ที่ค้างชำระเกิน 3 งวดแล้ว และถือเป็น NPL (หนี้เสีย) ก่อนการเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้

• กลุ่มนี้เรียกว่า ปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา ซึ่งทางเลือกจะมีไม่มากเพราะไม่ต้องการถูกดำเนินคดี

• ลูกหนี้ควรรีบเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ หรือ ติดต่อเจ้าหนี้เพื่อเจรจาแนวทางออก

3.3 กลุ่มที่เจอเหตุการณ์หนักมาก

• ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบแล้วรายได้หายไปหมด (income shock) แต่ยังมีหนี้ต้องผ่อนชำระรอบด้าน เช่น บ้าน รถ บัตรเครดิต

• ลูกหนี้ควรรีบขอพักชำระหนี้ คือแขวนต้นเงิน และดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายไว้ก่อน

• หากยังมีกำลังอาจจ่ายดอกเบี้ยนิดๆ หน่อยๆ เรียกว่าพักชำระหนี้ และในประวัติการชำระหนี้จะขึ้นสถานะ อยู่ระหว่างการพักชำระหนี้ หากสามารถชำระได้เมื่อไรก็จะกลับมาเป็นปกติ

พฤติกรรมควรเลี่ยงก่อนเสียเครดิตการเงิน

1. ชำระหนี้ล่าช้า

เป็นพฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะการชำระล่าช้าไม่เพียงแต่มีประวัติข้อมูลที่จะถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลของเจ้าหนี้ แต่ยังจะไปปรากฏในรายงานขอมูลเครดิตด้วย ซึ่งหากเจ้าของข้อมูลทำการยื่นเรื่องขอสินเชื่อในครั้งต่อไปจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ และธนาคารจะมองว่าคุณไม่มีความสามารถและวินัยในการชำระหนี้

2. ค้างชำระหนี้

จะส่งผลต่อประวัติการชำระหนี้ หากเกิดขึ้นบ่อยๆ จะส่งผลเสียต่อเครดิตการเงินที่ออกมาไม่ดี การทำธุรกรรมทางการเงินจะทำได้ยากเพราะสถาบันการเงินมองเห็นโอกาสที่หนี้จะเสียสูง

3. สร้างภาระหนี้เยอะ

รายจ่ายต่อเดือนมากกว่ารายรับ การมีรายจ่ายต่อเดือนมากกว่ารายรับสื่อถึงสภาพคล่องทางการเงินที่อยู่ในขั้นวิกฤติ มีการบริหารจัดการเงินไม่ดี เสียเครดิตในการยื่นทำธุรกรรม เพราะมีหนี้เกินลิมิต มีโอกาสที่จะเกิดภาวะชำระล่าช้า หรือค้างชำระ หากเลวร้ายหน่อยก็เข้าขั้นนิ่งเฉยต่อหนี้ ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย

 

ข้อมูลเครดิต เป็นเหมือนรายงานพฤติกรรมการจัดการเงินซึ่งมีทั้งข้อมูลสินเชื่อต่างๆ ที่เจ้าของข้อมูลมี รวมถึงความสม่ำเสมอของการชำระหนี้ ดังนั้นหากมีหนี้แล้ว และได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติหรือมีเหตุให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ดังเดิมควรรีบปรึกษาธนาคารเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกร่วมกัน และเลี่ยงการมีประวัติข้อมูลเครดิตเสีย

 

ข้อมูลอ้างอิง
www.ncb.co.th
www.creditinfocommittee.or.th

tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?