โครงการตรวจสอบการเสียภาษี เพื่อชำระภาษีที่ขาดโดยสมัครใจ

Voluntary Audit Program (VAP)

18 เมษายน 2563

ข่าวดีขณะนี้กรมศุลกากรได้ขยายเวลาโครงการตรวจสอบสมัครใจ หรือ Voluntary Audit Program (VAP) จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 (จากเดิมหมดเขตเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562)

โครงการดังกล่าวช่วยให้ธุรกิจภาคเอกชนมีเวลาเพิ่มเติมและสามารถยื่นคำร้องให้กรมศุลกากรพิจารณาในการขอยกเว้นค่าปรับที่เกิดขึ้นจากการละเมิดหรือการกระทำความผิดทางศุลกากรโดยมิได้เจตนา ซึ่งกรมศุลกากรมีความมุ่งหวังที่จะยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานและความโปร่งใสจากการกำหนดนโยบายดังกล่าวที่ดำเนินการมาเป็นระยะๆ ตั้งแต่ปี 2553

ประโยชน์ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการ VAP ของกรมศุลกากร
โครงการ VAP โดยกรมศุลกากร อนุญาตให้ผู้นำเข้าทำการชำระอากรและภาษีส่วนขาดที่กรมศุลกากรโดยไม่มีค่าปรับ หากเปรียบเทียบกับพิธีการตรวจสอบทางศุลกากรโดยปกติแล้วผู้นำเข้าที่กระทำความผิดทางศุลกากรจะต้องชำระค่าปรับสูงถึง 2 เท่าของอากรส่วนที่ขาด นอกจากนี้ในการเข้าร่วมโครงการ VAP เพื่อความสะดวก บริษัทไม่ต้องไปดำเนินการตามสำนักท่าเรือ/ท่าอากาศยานที่นำเข้า ซึ่งจะมีภาระค่าใช้จ่ายมากกว่า โดยให้มาดำเนินการได้ที่เดียว ณ กรมศุลกากร (โดยสำนักตรวจสอบอากรเป็นผู้ดำเนินการให้)

ผู้ใดมีสิทธิเข้าร่วมโครงการ VAP
ผู้ประกอบการ หรือผู้นำเข้า/ส่งออกที่ไม่มีการกระทำความผิดทางศุลกากรต่อไปนี้สามารถเข้าร่วมโครงการได้
1. ลักลอบนำเข้า/ส่งออก
2. มีเจตนาเลี่ยงภาษี
3. นำเข้าสินค้าต้องห้ามและ/หรือสินค้าควบคุมโดยไม่มีใบอนุญาต หรือ
4. นำเข้าสินค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
นอกจากนี้ผู้ประกอบการที่กำลังถูกตรวจสอบหลังการตรวจปล่อย (Post Clearance Audit) หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาคดีทางศุลกากร หรืออยู่ภายใต้การตรวจสอบโดยกรมสืบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ไม่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการดังกล่าว

ผู้ประกอบการสามารถเข้าร่วมโครงการ VAP ได้อย่างไร?
ปกติเจ้าพนักงานศุลกากรจะเลือกผู้ประกอบการจากฐานข้อมูลของตน และส่งหนังสือเชิญชวนเข้าร่วมโครงการตามความสมัครใจ โดยผู้ประกอบการจะสามารถเข้าร่วมได้เมื่อมีหนังสือเชิญหรืออีกทางเลือกผู้ประกอบการเองสามารถตอบรับการเข้าร่วมโครงการได้โดยส่งหนังสือแสดงเจตจำนงให้แก่กรมศุลกากร (ตามเอกสารแนบ) ก็ได้

ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์จาก VAP โดยอัตโนมัติหรือไม่?
แม้ผู้ประกอบการจะได้รับหนังสือเชิญเข้าร่วมโครงการจากกรมศุลกากร และได้แสดงเจตจำนงเข้าร่วมแล้ว แต่ไม่สามารถรับรองถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการได้ 100% เนื่องจากบางคดีไม่อยู่ในขอบเขตการให้ VAP (นิรโทษกรรม) หากเจ้าพนักงานศุลกากรพบว่าผู้นำเข้ามีเจตนาหลีกเลี่ยงศุลกากร เจ้าพนักงานมีสิทธิในการยกเลิกการงดเว้นค่าปรับศุลกากรตามที่ได้รับในโครงการดังกล่าวได้ จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่ากรณีดังกล่าวครอบคลุมการหลีกเลี่ยงภาษีโดยเจตนาในโครงการส่งเสริมการลงทุน BOI บางราย และจะขึ้นกับดุลยพินิจของเจ้าพนักงานศุลกากร นอกจากนั้นเจ้าพนักงานมีสิทธิยกเลิกการงดเว้นที่ได้อนุมัติในโครงการ VAP นี้หากพบกว่าเป็นการกระทำความผิดซ้ำ

ที่มา :  จากบทความ “โครงการตรวจสอบการเสียภาษี เพื่อชำระภาษีที่ขาดโดยสมัครใจ” โดย สิทธิชัย พรหมสุวรรณ  วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 38 ฉบับที่ 456  เดือนกันยายน  2019  สนใจสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร”  คลิก

 

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?