รู้หรือไม่ ยืมใช้สินค้าต้องเสียภาษี

23 กุมภาพันธ์ 2565

การยืมสินค้ามีหลายลักษณะทั้งแบบสินค้าคงรูปและแบบสินค้าใช้สิ้นเปลือง ซึ่งการยืมสินค้าในแต่ละแบบจะมีภาระภาษีแตกต่างกัน โดยหลักแล้วหากเป็นกรณีการให้ยืมสินค้าแบบคงรูป จะพิจารณาว่าผู้ให้ยืมได้โอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าไปยังผู้ยืมหรือไม่เป็นสำคัญ หากสินค้าที่นำมาให้ยืมนั้น ผู้ให้ยืมไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ในสินค้านั้นให้แก่ผู้ยืม และผู้ยืมได้นำสินค้าตัวที่ยืมไปนั้นคืนให้แก่ผู้ให้ยืม กรณีดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าแต่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ ซึ่งการยืมสินค้านี้ อาจมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับการให้เช่าทรัพย์สินในบางลักษณะ และอาจทำให้เกิดความสับสนแก่ผู้ใช้กฎหมาย จึงต้องศึกษาหลักกฎหมายและตัวอย่างต่างๆ ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้

เจ้าของกิจการ พนักงาน หรือบุคคลอื่นใด อาจเคยให้ยืมใช้สินค้ากับบุคคลอื่นๆ ใช้เพื่อกิจการหรือเพื่อส่วนตัวเช่น ให้ยืมใช้เครื่องจักรเพื่อนำไปผลิตสินค้าให้ยืมทรัพย์สินส่วนตัว เพื่อให้ผู้ที่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ทรัพย์สินได้ใช้สอยประโยชน์ในทรัพย์สินที่ยืมมาตามความประสงค์

การให้ยืมทรัพย์สินที่เป็นการยืมตามสัญญายืมใช้คงรูปจะไม่ได้มีการคิดค่าตอบแทนระหว่างกันแต่อย่างใดแต่ในบางกรณีอาจมีการคิดค่าตอบแทน เช่น การคิดดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงิน การคิดค่าเสียประโยชน์จากการให้บุคคลอื่นใช้ทรัพย์สินที่ยืม เป็นต้น

ดังนั้นเมื่อบุคคลฝ่ายหนึ่งให้บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งยืมทรัพย์สินสิ่งสำคัญที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องศึกษาให้ถ่องแท้ คือ หลักกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลรัษฎากร เป็นต้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

1. สัญญายืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ในการศึกษากฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับการยืมจะต้องศึกษาประมวลกฎหมายแพ่งและ

พาณิชย์โดยเฉพาะบรรพที่ 3 ลักษณะที่ 9 ว่าด้วยเรื่องการยืม นอกจากนี้ยังต้องศึกษาบรรพที่ 1 ได้แก่ หลักในเรื่องนิติกรรม เนื่องจากสัญญายืมเป็นนิติกรรม 2 ฝ่าย และบรรพที่ 2 ได้แก่ หลักในเรื่องหนี้ เนื่องจากสัญญายืมเป็นสัญญาที่ก่อให้เกิดหนี้ขึ้นตามกฎหมายด้วย นอกจากนี้ยังต้องนำหลักกฎหมายที่เป็นบททั่วไปในบรรพที่ 1 และ 2 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเจตนาของคู่สัญญา ความสามารถในการทำนิติกรรม และวัตถุประสงค์ในการทำนิติกรรม สัญญายืมนั้นจึงจะมีผลใช้บังคับตามกฎหมาย

หลักของกฎหมายแล้ว สัญญายืมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สัญญายืมใช้คงรูป และสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง โดยแยกพิจารณาสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. สัญญายืมใช้คงรูป หมายถึง สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่ง เรียกว่า ผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว ดังนั้น สัญญายืมจึงเป็นสัญญาที่ไม่มีค่าตอบแทน (มาตรา 640 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

2. สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง หมายความว่า สัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืมและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภทชนิดและปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้นสัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม (มาตรา 650 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

2. สัญญาเช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

หลายๆ ท่านมักสับสนระหว่างสัญญาเช่ากับสัญญายืมว่ามีลักษณะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

เนื่องจากสัญญาทั้ง 2 สัญญานี้มีความคล้ายคลึงกันในหลายๆ ด้าน โดยสัญญาเช่าทรัพย์สินตามมาตรา 537 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมายถึง สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น ดังนั้น สัญญาเช่าจึงเป็นสัญญามีค่าตอบแทน    

 

บางส่วนจากบทความ  ”ยืมใช้สินค้าต้องเสียภาษีโดย : ดร. เพชรรัตน์ ศุภนิมิตรกุลกิจ[1] //Section: Tax Talk / Column: Tax How to .วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 40 ฉบับที่ 469 เดือน ตุลาคม 2563 

สมัครสมาชิก“วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index  https://magazine.dst.co.th/tax.html

tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?