การกระทำความผิด ตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร

การกระทำความผิดตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร ป็นบทกำหนดโทษทางอาญา สำหรับการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร หรือขอคืนภาษีอากร อันมีลักษณะกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน ตามลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร การกระทำความผิดดังกล่าว ถือได้ว่า เป็นบททั่วไปเกี่ยวกับความรับผิดอาญาที่ใช้ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร

ซึ่งการจะพิจารณาว่า บุคคลใดต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร จำต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดที่บัญญัติไว้ ซึ่งมาตรา 37 บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปีและปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท

(1) โดยเจตนาแจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือเพื่อขอคืนภาษีอากรตามลักษณะนี้ หรือ

(2) โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือขอคืนภาษีอากรตามลักษณะนี้

จะเห็นได้ว่า บทบัญญัติตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร มีการกระทำอันเป็นองค์ประกอบความผิด ดังนี้

1. การกระทำที่เป็นองค์ประกอบภายนอกมี 2 กรณี ดังนี้

1.1 กรณีกระทำการแจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือขอคืนภาษีอากร (มาตรา 37 (1))

1.2 กรณีหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือขอคืนภาษีอากร ซึ่งกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน (มาตรา 37 (2))

ข้อสังเกต

สำหรับการกระทำกรณีการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงนั้น ผู้กระทำผิดอาจมีการแจ้งด้วยตนเอง หรือตอบคำถามเนื่องจากถูกสอบถามจากเจ้าพนักงานก็ได้ อีกทั้ง การกรอกข้อความในเอกสารก็ถือเป็นการแจ้งอย่างหนึ่ง

ซึ่งคำว่า “แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ” หมายถึง การยืนยันข้อเท็จจริงในอดีตหรือปัจจุบันซึ่งเป็นความเท็จ คือ ไม่ตรงกับความจริงหรือจริงเพียงบางส่วนที่ได้นำมาแจ้งแก่เจ้าพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งด้วยวาจา หนังสือ หรือกิริยาท่าทางที่แสดงให้เห็นว่าเป็นความเท็จก็ได้ และสำหรับกรณีหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือขอคืนภาษีอากร ซึ่งกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน

ในส่วนของการกระทำโดยการฉ้อโกงได้มีบทความผิดตามมาตรา 341 แห่งประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานฉ้อโกงไว้ว่า “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม …”

ซึ่งคำว่า “โดยฉ้อโกง” ที่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร จึงมีความหมายถึง การหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งด้วย และในการกระทำความผิดตามมาตรา 37 (2) แห่งประมวลรัษฎากร กฎหมายยังได้กำหนดถึงการกระทำโดยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันไว้ด้วย

จึงเห็นได้ว่า กฎหมายได้กำหนดลักษณะการกระทำความผิดกรณีนี้ไว้ค่อนข้างกว้าง เพื่อต้องการให้การปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยง หรือขอคืนภาษีอากร โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่า การกระทำใดที่จะทำให้ผู้กระทำต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร การกระทำนั้น น่าจะหมายความรวมถึงการงดเว้นการที่จักต้องกระทำเมื่อตนมีหน้าที่นั้นด้วย โดยต้องพิจารณาประกอบกับพฤติการณ์ในการกระทำว่ามีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือไม่ ซึ่งจากกรณีการกระทำอันเป็นองค์ประกอบความผิดดังกล่าว ถ้าผู้กระทำผิดได้มีการกล่าวหรือยืนยันข้อเท็จจริงบิดเบือนไปจากความเป็นจริง ก็อาจทำให้ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้นได้ เช่น ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1115/2519 วินิจฉัยสรุปความได้ว่า “ผู้ใดแจ้งข้อความไม่ตรงต่อความจริง โดยผู้นั้นรู้อยู่แล้วว่าข้อความที่แจ้งนั้นเป็นเท็จ ทั้งนี้ เพื่อประสงค์จะหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร คือภาษีอากรฝ่ายสรรพากร ย่อมมีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 แล้ว”

2. การกระทำที่เป็นองค์ประกอบภายใน

ซึ่งการกระทำความผิดตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากรทั้งสองกรณีนั้น ผู้กระทำต้องมีเจตนากระทำความผิด ตามมาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งลักษณะของการกระทำความผิดอาญาตามมาตรา 37 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือเพื่อขอคืนภาษีอากรตามลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร โดยการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร หรือการขอคืนภาษีอากรตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเป็นการกระทำที่ได้มีการแสดงออกไป เช่น แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ตอบคำถามอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เป็นต้น

ข้อสังเกต

การกระทำความผิดตามมาตรานี้ ต้องมีเจตนาตามมาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ด้วย กล่าวคือ ต้องมีเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรนั้น และต้องกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นทำนองเดียวกัน ซึ่งการหลีกเลี่ยงภาษีอากรที่ต้องเสียตามลักษณะนี้ ต้องเป็นการหลีกเลี่ยงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (Tax Evasion) มิใช่เป็นการที่ผู้เสียภาษีใช้วิธีไม่ผิดกฎหมายทำให้เสียภาษีอากรน้อยลงหรือไม่ต้องเสียภาษี โดยใช้ความคลุมเครือของกฎหมายหรือใช้ช่องโหว่ของกฎหมายหรือความบกพร่องของกฎหมาย อันเป็นเพียงการหลบหลีกภาษี (Tax Avoidance) ซึ่งยังไม่เป็นความผิดตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ต้องเสียภาษีเพิ่มรวมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมายอันเป็นบทลงโทษทางแพ่ง หากเข้าองค์ประกอบความผิดทางอาญาจึงต้องรับโทษทางอาญาด้วย

3. การที่บุคคลใดอาจต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร

ต้องปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานซึ่งพิสูจน์ได้ว่า มีการกระทำอันเข้าลักษณะหนึ่งลักษณะใดอันครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร และผู้กระทำมีเจตนากระทำความผิดตามมาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งอาจมีได้ในกรณี ตัวอย่างเช่น

3.1 บุคคลมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่ามูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และได้ให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จเกี่ยวกับรายรับดังกล่าว หรือนำหลักฐานเท็จมาแสดงต่อเจ้าพนักงานประเมินให้เชื่อว่าตนมีรายรับไม่เกินกว่ามูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเช่นนี้ บุคคลดังกล่าวอาจมีความรับผิดทางอาญา ตามมาตรา 37 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ได้

3.2 ในกรณีที่บุคคลตาม 3.1 ไม่นำรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการทั้งหมดไปแสดงในแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือแสดงไว้แต่เพียงบางส่วน เช่น ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) โดยแสดงรายได้ไว้เพียง 1,800,000 บาท ในปีภาษี 2563 แต่ในปีภาษีดังกล่าว ปรากฏว่าบุคคลนั้นมีเงินได้พึงประเมิน 2,500,000 บาท การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นการแสดงเงินได้อันเป็นความเท็จ หากบุคคลนั้นได้กระทำโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร หรือขอคืนภาษีอากรอันเป็นเท็จ กรณีย่อมเข้าลักษณะเป็นความผิดอาญาตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร

ดังนั้น การที่บุคคลใดจะต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่าเข้าองค์ประกอบความผิดดังกล่าวหรือไม่

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 487/2506

การที่จำเลยจะมีความผิดตามมาตรา ๓๗ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร นี้ ต้องปรากฏว่า จำเลยได้หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร โดยมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่บัญญัติไว้คือ กระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือกระทำโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว แต่กรณีของจำเลยเป็นเรื่องไม่กระทำ คือ ไม่ออกใบรับ จึงไม่ต้องด้วยมาตรา ๓๗ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งการไม่กระทำ คือ ไม่ออกใบรับเช่นนี้ ก็ได้มีบทบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้โดยเฉพาะแล้ว คือ มาตรา ๑๐๕ แห่งประมวลรัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8967/2561

การกระทำความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ต้องมีเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ด้วย โดยจำเลยทั้งสองต้องมีเจตนาร่วมกันหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรนั้น และต้องร่วมกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นทำนองเดียวกัน ซึ่งการหลีกเลี่ยงภาษีอากรที่ต้องเสียตามลักษณะนี้ ต้องเป็นการหลีกเลี่ยงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (Tax Evasion) มิใช่เป็นการที่ผู้เสียภาษีใช้วิธีไม่ผิดกฎหมายทำให้เสียภาษีอากรน้อยลงหรือไม่ต้องเสียภาษี โดยใช้ความคลุมเครือของกฎหมายหรือใช้ช่องโหว่ของกฎหมายหรือความบกพร่องของกฎหมาย อันเป็นเพียงการหลบหลีกภาษี (Tax Avoidance) ซึ่งยังไม่เป็นความผิดตามมาตรา 37

การไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมิน มิได้หมายความว่าจะถือเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ แม้จำนวนภาษีดังกล่าวจะยุติตามการประเมินก็ฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 1 กระทำการหลบหลีกภาษีอากรที่ยอมรับไม่ได้ (Unacceptable Tax Avoidance) หรือเป็นการหลบหลีกภาษีอากรที่ไม่บริสุทธิ์ (Abusive Tax Avoidance) ซึ่งมีโทษเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอันเป็นโทษทางแพ่งเท่านั้น

ตัวอย่างแนววินิจฉัยของกรมสรรพากร

ตัวอย่างที่ 1

การที่บุคคลใดอาจต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร เพราะเหตุแห่งการไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่ามูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากรนั้น ต้องปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานซึ่งพิสูจน์ได้ว่า มีการกระทำอันเข้าลักษณะหนึ่งลักษณะใดอันครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร และผู้กระทำมีเจตนากระทำความผิดตามมาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งอาจมีได้ในกรณีที่บุคคลมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่ามูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และได้ให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จเกี่ยวกับรายรับดังกล่าว หรือนำหลักฐานเท็จมาแสดงต่อเจ้าพนักงานประเมินให้เชื่อว่าตนมีรายรับไม่เกินกว่ามูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเช่นนี้ บุคคลดังกล่าวอาจมีความรับผิดทางอาญา ตามมาตรา 37 (1) แห่งประมวลรัษฎากรได้ (อ้างอิงหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรตามหนังสือที่ กค 0702/3604 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2560)

ตัวอย่างที่ 2

กรณีผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือบุคคลในคณะบุคคล มีเจตนาไม่นำเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับจากห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคล มาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น จะมีความผิดฐานแจ้งความเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรเป็นเหตุให้ได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท ตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร นอกจากนี้ ยังคงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับจำนวนหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีที่ต้องเสียตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ตามมาตรา 22 แห่งประมวลรัษฎากร หรือจำนวนสองเท่าของจำนวนภาษีที่ต้องเสียตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ตามมาตรา 26 แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี และต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร (อ้างอิงหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรหนังสือที่ กค 0702/726 ลงวันที่ 28 มกราคม 2559)

ตัวอย่างที่ 3

ผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือบุคคลในคณะบุคคลจะต้องมีเจตนาโดยสุจริตร่วมกันในการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล และจะต้องมีการดำเนินการร่วมกันในการประกอบกิจการตามความเป็นจริง มีการร่วมกันรับผิดชอบในกิจการของคณะบุคคล เงินที่ได้จากการประกอบกิจการจะต้องเป็นของคณะบุคคล และการประกอบกิจการของคณะบุคคลนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคณะบุคคล มิใช่เพื่อประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ถ้าได้จัดตั้งขึ้นเพื่อกระทำการแทนบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายบุคคลหรือมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายบุคคลเป็นตัวการกระทำการอันมีลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร จะมีความผิดตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร จากข้อเท็จจริงปรากฏว่า คณะบุคคลได้จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบริการจัดทำบัญชีและงบการเงิน บริการให้คำแนะนำและตรวจสอบบัญชี จัดทำและบริการด้านภาษีอากร และมีวัตถุประสงค์เพื่อหวังเงินผลกำไรจากผลประกอบการมาแบ่งเฉลี่ยในอัตราส่วนที่เท่ากัน จึงไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของคณะบุคคล แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของบุคคลแต่ละคนที่ลงหุ้นในคณะบุคคล

กรณีคณะบุคคลประกอบกิจการดำเนินธุรกิจหาผลประโยชน์ร่วมกัน แต่ไม่ได้ระบุจำนวนเงินที่บุคคลแต่ละคนลงทุน โดยคณะบุคคลนำเงินของแต่ละบุคคลมาซื้อหุ้นกู้ในบริษัท ก. จำกัด (มหาชน) ธนาคาร ข. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ร. จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทดังกล่าวได้ออกใบหุ้นกู้และหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในนามคณะบุคคลเห็นว่า การซื้อหุ้นกู้ในบริษัทต่าง ๆ เป็นการดำเนินการนอกขอบวัตถุประสงค์ของคณะบุคคล รายได้ของการลงทุนที่คณะบุคคลได้รับจากบริษัทฯ จึงมิใช่เงินได้ของคณะบุคคล การจัดตั้งคณะบุคคล เป็นการจัดตั้งขึ้นเพื่อกระทำการแทนบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งมิใช่ประโยชน์ของคณะบุคคล แต่ตั้งขึ้นเพื่อแบ่งแยกฐานภาษีของบุคคลธรรมดา เงินได้จากการลงทุนจึงถือเป็นเงินได้ของบุคคลธรรมดาผู้ร่วมในคณะบุคคล จึงต้องนำดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่ได้รับจากบริษัทต่าง ๆ ไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่น ๆ ของบุคคลนั้น เพื่อเสียภาษีต่อไป  (อ้างอิงหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรหนังสือหนังสือที่ กค 0702(กม.04)/1313 ลงวันที่ 25กรกฎาคม 2557)

สรุป  การกระทำความผิดตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องมีเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ด้วย โดยต้องมีเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรนั้น และต้องร่วมกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นทำนองเดียวกัน ซึ่งการหลีกเลี่ยงภาษีอากรที่ต้องเสียตามลักษณะนี้ ต้องเป็นการหลีกเลี่ยงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

เรื่องโดย : วราพร เศรษฐธนารักษ์ วารสารเอกสารภาษีอากร ฉบับมีนาคม 2564 Vol.40 No.474

 

tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?