เกษียณอายุแล้วทำอย่างไร มีสิทธิประโยชน์อะไรควรได้รับบ้าง?

19 เมษายน 2566

 

เกษียณอายุแล้วทำอย่างไร มีสิทธิประโยชน์อะไรควรได้รับบ้าง?

จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุในไทยปี 2565 พบว่ามีประชากรผู้สูงอายุมากถึง 12,116,199 คน คิดเป็น 18.3% ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 0.5% ซึ่งการเพิ่มขึ้นนี้ส่งผลต่อสังคมในหลายๆ ด้าน หรือแม้แต่ตัวผู้สูงอายุเองที่จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้ไม่มีรายได้ ดังนั้นสิทธิประโยชน์ที่ควรได้จึงเป็นเรื่องที่ต้องหยิบยกขึ้นมาศึกษารายละเอียด เพื่อไม่พลาดสิทธิ์สำคัญต่างๆ โดยจะมีอะไรบ้าง ตามไปดูพร้อมๆ กัน

การแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุในไทย

จำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นในปี 2565 กว่า 12 ล้านคน แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ

1) ผู้สูงอายุวัยต้น ช่วงอายุ 60-69 ปี จำนวน 6,843,300 คน คิดเป็น 56.5% ของผู้สูงอายุทั้งหมด

2) ผู้สูงอายุวัยกลาง ช่วงอายุ 70-79 ปี จำนวน 3,522,778 คน คิดเป็น 29.1%

3) ผู้สูงอายุวัยปลาย อายุ 80 ปีขึ้นไป จำนวน 1,750,121 คน คิดเป็น 14.4%

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อประเทศก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ?

• โครงสร้างของประชากรเปลี่ยนทำให้ขาดแคลนแรงงาน

• รายได้เฉลี่ยต่อบุคคลลดลง

• วัยเกษียณขาดรายได้ทำให้มีการออมลดลง และความต้องการลงทุนน้อยลง

• งบประมาณรายจ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น เพื่อบริการสังคมแก่ผู้สูงอายุ

• GDP ชะลอตัวลงจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

สิทธิประโยชน์อะไรควรได้รับเมื่อเกษียณอายุ

การวางแผนหลังเกษียณเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ที่ควรดำเนินการ โดยเฉพาะเรื่องการเงิน รวมถึงสิทธิ์พึงได้ต่างๆ โดยสิทธิประโยชน์หลังเกษียณที่มนุษย์เงินเดือนจะได้รับมีหลักๆ 3 อย่าง คือ

1) เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

2) เงินชราภาพจากประกันสังคม

3) เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

1.  เงินชดเชยตามกฎหมาย

ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้างในกรณีที่เลิกจ้างซึ่งรวมถึงกรณีเกษียณอายุด้วย

เงินชดเชยตามกฎหมาย ถือเป็นเงินก้อนที่จะได้รับโดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงานกับนายจ้างรายล่าสุด ดังนั้นเมื่อลูกจ้างมีการเกษียณอายุตามเกณฑ์บริษัท หรือใช้ตามอายุเกษียณที่ 60 ปี ลูกจ้างจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน โดยคำนวณตามระยะเวลาที่ทำงานกับบริษัทและเงินเดือนสุดท้าย

• อายุงาน (ต่อเนื่อง) 120 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี → เงินชดเชย 30 วัน

• อายุงาน (ต่อเนื่อง) 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี → เงินชดเชย 90 วัน

• อายุงาน (ต่อเนื่อง) 3 ปี แต่ไม่เกิน 6 ปี → เงินชดเชย 180 วัน

• อายุงาน (ต่อเนื่อง) 6 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี → เงินชดเชย 240 วัน

• อายุงาน (ต่อเนื่อง) 10 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี → เงินชดเชย 300 วัน

• อายุงาน (ต่อเนื่อง) 20 ปีขึ้นไป → เงินชดเชย 400 วัน

2.  เงินชราภาพจากประกันสังคม

เงินชราภาพจากประกันสังคมนี้ สิทธิ์ที่จะได้รับจะเกิดขึ้นเมื่อเกษียณอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป และไม่ได้เป็นผู้ประกันตนของประกันสังคมแล้ว โดยสามารถติดต่อรับเงินได้ภายใน 2 ปี โดยจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ

1) หากจ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน หรือไม่ถึง 15 ปี จะได้รับบำเหน็จเงินก้อน

2) หากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน หรือตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จะได้รับบำนาญรายเดือนไปตลอดชีวิต

ทั้งนี้สิทธิ์ของการได้รับบำนาญรายเดือนจากประกันสังคม เงินบำนาญจะอยู่ที่ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย แต่ถ้าจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน จะได้รับเพิ่ม 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน

3.  เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

แม้จะเคยเป็นลูกจ้างมีรายได้ประจำ หรือได้รับเงินชราภาพจากประกันสังคมอยู่แล้วก็ตาม ก็ยังสามารถรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้อีกด้วย เพราะเมื่อเกษียณอายุแล้วจะไม่ถือว่าเป็นผู้ประกันตนของประกันสังคม โดยเมื่ออายุ 60 ปี ก็มีสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพจากภาครัฐเป็นรายเดือน และจะเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ

แต่ผู้ที่มีสิทธิ์จะต้องยื่นคำขอหรือลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่สำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร หรือที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านก่อน

สิทธิ์ยามเกษียณเหล่านี้เป็นสิทธิ์ควรได้เมื่อเกษียณอายุและออกจากงาน เป็นสิทธิ์ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่ในสังคมได้โดยไม่ต้องเป็นภาระของลูกหลานมาก แต่อย่างไรก็ตามการเตรียมพร้อมวางแผนเกษียณไว้อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะด้านการเงินและค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างเพียงพอ จะยิ่งทำให้วัยเกษียณนั้นสะดวกสบายและมีความสุขมากขึ้น

 

 

อ้างอิงข้อมูล

สำนักงานประกันสังคม

ระบบสถิติทางการทะเบียน

 

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?