เทคนิคบริหารเงิน รับมือรายได้ลดช่วง COVID-19

11 มีนาคม 2565

บริหารเงิน

 

นาทีนี้คงไม่มีเหตุการณ์ใดสร้างความสั่นสะเทือนทางเศรษฐกิจได้มากเท่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่รายได้ลดหรือมากกว่านั้นคือขาดรายได้จากที่เคยได้รับประจำ ดังนั้นเมื่อรายได้ลด แต่รายจ่ายยังคงมี การบริหารเงินอย่างถูกวิธี และชาญฉลาด โดยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาสทางอาชีพเสริม จะช่วยให้รอดพ้นวิกฤตินี้ไปได้

เทคนิคบริหารเงิน รับมือรายได้ลด

1.  สำรวจทรัพย์สิน เช็กสถานะการเงิน

สำรวจสินทรัพย์ เช็กสภาพคล่องทางการเงิน 

ทำให้เห็นภาพรวมว่าเรามีสินทรัพย์อะไร อยู่ที่ไหนบ้าง จากนั้นแบ่งสินทรัพย์ออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีสภาพคล่องสูง เช่น เงินฝากธนาคาร กองทุนรวม ทองคำ กับสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ เช่น ที่ดิน บ้าน รถยนต์ เพื่อประเมินว่าส่วนที่สามารถแปลงเป็นเงินสดมีมูลค่าเท่าไร สามารถรองรับการใช้จ่ายไปได้ประมาณกี่เดือน ซึ่งในสถานการณ์ที่ยังสรุปจุดสิ้นสุดไม่ได้แบบนี้ สถาพคล่องทางการเงินควรมีพอสำหรับการใช้ชีวิตไม่ต่ำกว่า 6-12 เดือน

รวบรวมรายรับ-รายจ่าย

บางคนมีเงินเข้าจากหลายบัญชี ขณะเดียวกันก็มีรายจ่ายประจำหลายทาง ดังนั้นควรรวบรวมและสรุปรายรับ รายจ่ายของแต่ละเดือนไว้ทั้งหมด เพื่อให้เห็นภาพรวมการเงิน บางคนอาจจะเห็นรายจ่ายที่บางครั้งจ่ายไปตามความเคยชินแต่ไม่ได้สนใจเท่าไรนัก เช่น ค่าบริการแอปพลิเคชันต่างๆ ค่าบริการอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้งาน ถึงเวลานี้ควรใช้วิกฤติเป็นโอกาสที่จะตัดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นออกไป เพื่อเพิ่มยอดเงินเก็บในบัญชี

 

2.  วางแผนการใช้จ่ายเงิน

เมื่อสำรวจสินทรัพย์ทั้งหมดแล้ว ลำดับต่อไปคุณควรวางแผนการเงิน และทำงบประมาณควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด แล้วดูว่าในแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายรวมแล้วเท่าไร เงินสด เงินสำรองในมือที่แบ่งไว้รายเดือนมีเพียงพอกับรายจ่ายหรือไม่ หากยังติดลบควรเร่งตัดรายการที่ไม่จำเป็นออก

ทั้งนี้การควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากตัวคุณจะทำอย่างเคร่งครัด ตัดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นหมดแล้ว ควรแจ้งสถานการณ์กับคนในครอบครัว และชี้แจงแนวทางให้เข้าใจและปฏิบัติตรงกันด้วย

 

3.  เคลียร์หนี้ลดภาระ เลี่ยงก่อหนี้เพิ่ม

ในช่วงสถานการณ์ไม่ปกติเพื่อให้การเงินไม่สะดุด ควรเช็กภาระหนี้ทั้งหมดที่มี ไม่ว่าจะหนี้ระยะสั้นหรือระยะยาวว่ามียอดคงเหลือเท่าไร อัตราดอกเบี้ยเท่าไร และผ่อนกี่เดือนหมด แล้ววางแผนการเงินหากรายได้ลดหรือไม่มีรายได้ จะยังสามารถผ่อนต่อได้หรือไม่

หากประเมินแล้วไม่สามารถผ่อนชำระได้ ควรรีบติดต่อสถาบันการเงินเพื่อประนีประนอมหาทางออกแบบที่ไม่ทำให้มีค่าปรับและเสียเครดิต ซึ่งในสถานการณ์วิกฤตินี้มีสถาบันการเงินหลายแห่งมีแนวช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบแล้ว

 

4.  เน้นเงินเก็บ ชะลอการลงทุน

ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน การลงทุนในช่วงนี้อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก ไม่ว่าจะผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าจนอาจติดลบ หรือความเสี่ยงที่อาจกินเวลานาน ดังนั้นคุณควรพยายามเก็บเงินสดไว้ให้มากที่สุด เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในอนาคต

สำหรับบางคนที่ซื้อหุ้นหรือกองทุนไว้อยู่แล้ว แต่ยังตัดสินใจว่าจะขายหรือไม่ขายให้ย้อนกลับไปที่ข้อ 1 คือเช็กสภาพคล่องทางการเงิน ถ้ายังมีความคล่องตัวมาก ไม่เดือนร้อนเรื่องเงินเท่าไร อาจจะยังเก็บไว้ก่อน เพื่อรอขายในช่วงจังหวะที่ดีได้รับผลตอบแทนน่าพอใจ (คุณต้องสามารถยอมรับความเสี่ยงในวิกฤตินี้ได้)

 

 

5. หารายได้เสริม เพิ่มทักษะความสามารถ

เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ส่งผลให้รายได้หดหาย การปรับตัวและเริ่มต้นเร็วจะทำให้คุณมีโอกาสรอดในสถานการณ์วิกฤตินี้ ไม่ว่าจะเป็นการมองหาอาชีพเสริม และการศึกษาหาความรู้พัฒนาทักษะความสามารถต่อยอดการสร้างรายได้เสริม โดยทั้งการทำอาชีพเสริมและศึกษาความรู้ใหม่ๆ นั้น สามารถทำได้ทางออนไลน์ ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ และเพิ่มรายได้ไปพร้อมกัน

 

6.  ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหว และใช้สิทธิ์ความช่วยเหลือให้เกิดประโยชน์

การหมั่นติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด จะช่วยให้คุณเข้าถึงสถานการณ์การระบาด เพื่อเตรียมพร้อมป้องกันตัวเอง รวมทั้งอัปเดตมาตรการความช่วยเหลือจากทาง รัฐบาล หน่วยงาน และสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระโดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากรายได้หดหาย เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย การพักชำระหนี้ การชดเชยรายได้ การจ่ายเงินเยียวยา

 

7.  ดูแลรักษาสุขภาพกายใจให้แข็งแรง

การดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรงจะช่วยให้มีโอกาสหารายได้เพิ่ม และลดภาระค่าใช้จ่ายจากการรักษาตัว แต่กรณีที่เริ่มรู้สึกถึงความเจ็บป่วย ควรรีบรักษาเพื่อไม่ให้อาการทรุดหนัก

ในการรักษาความเจ็บป่วย สำหรับใครที่ไม่มีประกันสุขภาพ ควรเช็กสิทธิการรักษาพยาบาลของคุณก่อน เพราะประชาชนคนไทยมีสิทธิการรักษาพยาบาลพื้นฐานรองรับอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หากเจ็บป่วยแล้วใช้สิทธิที่มีในโรงพยาบาลที่กำหนดไว้จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้

 

โควิด-19 เป็นวิกฤติหนึ่งที่เหมือนๆ กับวิกฤติต่างๆ ที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนว่าสักวันจะสามารถแก้ไขและผ่านไปได้ สำคัญคือการเรียนรู้ที่จะปรับตัว วางแผนการใช้ชีวิต และการใช้เงินอย่างรอบคอบ อดทนและพยายามแก้ปัญหาทุกอย่างด้วยสติ ไม่ว่าวิกฤติไหนก็จะผ่านไปได้ด้วยดี

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?