รู้ไว้ก่อนสาย! สิทธิพึงได้เมื่อเกษียณอายุ

28 พฤศจิกายน 2563

เมื่อไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วจนติดอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชีย โดยในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ มีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด สถานการณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานตามมา รวมถึงตัวผู้สูงอายุเองที่จะขาดรายได้หลักไปด้วย

การขยายอายุการจ้างงานวัยเกษียณ

พร้อมผลักดันให้มีนโยบายรองรับในอนาคต เป็นทางออกหนึ่งที่ภาครัฐดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เช่น

•   การขาดแรงงาน

•   GDP ชะลอตัวลงจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

•   ความมั่นคงทางรายได้เมื่อยามสูงวัย

•   การลดภาระพึ่งพิงจากครอบครัว

แนวทางการขยายการจ้างงานวัยเกษียณ

พนักงานวัยเกษียณที่ต่ออายุการทำงานต้องเขียนใบสมัครเข้าทำงานใหม่ และนับอายุงานใหม่โดยเป็นระบบยืดหยุ่นตามความต้องการและความเหมาะสม โดยมีเงื่อนไขดังนี้

•   พนักงานต้องมีสุขภาพพร้อมทำงาน

•   พนักงานมีทักษะฝีมือการทำงาน

•   พนักงานมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน องค์กร และเพื่อนร่วมงาน

เกษียณแล้วไม่ได้ทำงานยังมีรายได้จากแหล่งไหนบ้าง

นอกจากการวางแผนการเงินหลังเกษียณที่ดีแล้ว การศึกษาเรื่องสิทธิพึงได้ตามกฎหมายยังเป็นอีกแนวทางที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้เกษียณอีกช่องทาง โดยผู้เกษียณสามารถใช้สิทธิเพื่อรับเงินต่างๆ ได้ดังนี้คือ

1. เงินชดเชยตามกฎหมาย

เป็นสิทธิที่แรงงานทุกคนจะได้รับตามกฎหมาย หากมีการเกษียณในบริษัทที่ทำงานมาต่อเนื่องครบ 20 ปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้าย ตามเนื้อหาใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562

มาตรา 15 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (6) ของมาตรา 118 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
“(6) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน โดยคำนวณเป็นหน่วย”

2. เงินประกันสังคม-กรณีชราภาพ

แหล่งเงินพึงได้ตามสิทธิสำหรับคนวัยเกษียณที่ไม่ควรละเลย เพราะเป็นความคุ้มครองที่ประกันสังคมจัดสรรเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายไว้ให้ผู้ประกันตนยามชราภาพ

โดยเงินสมทบกรณีชราภาพนั้นจะถูกแบ่งหักในยอด 3% จากอัตราที่เราจ่ายประกันสังคมทั้งหมด 5% ของอัตราเงินเดือน ทั้งนี้สามารถยื่นคำขอรับสิทธิที่สำนักงานประกันสังคมภายใน 2 ปี นับจากวันที่มีสิทธิได้รับประโยชน์กรณีชราภาพ หรือวันที่สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน

3. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

แหล่งเงินเกษียณ 2 แหล่งแรกนั้น ถือเป็นสิทธิพึงได้ที่มากับช่วงเวลาในการทำงานเพียงแต่ไม่เคยได้ใช้เพราะยังไม่ถึงเวลาจนหลายคนก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีแหล่งเงินเกษียณนี้อยู่ หรือบางคนรู้ว่ามีแต่ไม่รู้ขั้นตอน

ส่วนแหล่งเงินเกษียณที่ 3 นี้ถือเป็นสิทธิของคนไทยทุกคน เรียกว่า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืออะไร?

•   สวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ภาครัฐจัดสรรไว้ให้กับผู้สูงอายุ คือบุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายการดำรงชีวิตในแต่ละเดือน

•   เมื่ออายุครบ 60 ปี คนไทยที่มีสัญชาติไทยทุกคนจะมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเหมือนกันหมด ยกเว้นคนที่ได้รับสวัสดิการหรือ สิทธิประโยชน์ใดๆ จากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

•   จ่ายเป็นรายเดือนเข้าบัญชีเงินฝากภายในวันที่ 10 ของทุกเดือน ตามอัตราที่กำหนดไว้ในแต่ละช่วงอายุ ตั้งแต่ 600 – 1,000 บาทต่อเดือน

•   ผู้ที่มีสิทธิจะต้องยื่นคำขอหรือลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่สำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร หรือที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนระหว่างวันที่1-30 พ.ย.ของทุกปี และเริ่มจ่ายเบี้ยยังชีพให้ตั้งแต่เดือน ต.ค. ปีถัดไป

•   ผู้มีสิทธิควรลงทะเบียนล่วงหน้า 1 ปี ก่อนอายุครบ 60 ปี เพื่อให้ได้รับเบี้ยยังชีพทันทีเมื่ออายุครบ 60 ปี

ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นสิทธิยามเกษียณที่พึงมี บางส่วนอาจเกิดขึ้นระหว่างช่วงเวลาที่ทำงานและค่อยๆ สั่งสมมาเรื่อยๆ โดยจะได้ใช้เมื่อมีอายุครบและตรงตามเงื่อนไข และบางส่วนเป็นสิทธิพึงได้จากภาครัฐหากอายุครบตามเงื่อนไข แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิทธิที่ผู้เกษียณควรรู้ เพื่อรักษาสิทธิที่ควรจะได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าแม้จะมีเงินยามเกษียณก้อนต่างๆ รองรับ แต่การเตรียมพร้อมวางแผนด้านเงินใช้จ่ายยามเกษียณอย่างเพียงพอ และไม่เดือนร้อน จะยิ่งเพิ่มความสุขให้วัยเกษียณนั้นสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?