สรุป ข้อดี ข้อเสีย กฎหมายใหม่ “ทรัพย์อิงสิทธิ” ที่ผู้เช่า และ ผู้ให้เช่า ต้องรู้!

14 มกราคม 2563

สรุป ข้อดี ข้อเสีย กฎหมายใหม่ “ทรัพย์อิงสิทธิ” ที่ผู้เช่า และ ผู้ให้เช่า ต้องรู้! มีผลบังคับใช้ตุลาคมนี้!

“ทรัพย์อิงสิทธิ”

เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เพิ่มเข้ามา ทำให้เราได้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ของตัวเอง เพื่อสนับสนุนการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

ทรัพย์อิงสิทธิ คือสิทธิในการใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทางกฎหมายฉบับนี้ เอื้อประโยชน์ทั้งผู้เช่าและผู้ให้เช่า

 

สิทธิประโยชน์ที่ “ผู้เช่า” จะได้รับ

1. โอนหรือตกทอดแก่ทายาทได้

แต่เดิมเมื่อผู้เช่าเสียชีวิต สัญญาเช่าย่อมระงับลง ไม่สามารถขาย โอน หรือตกทอดแก่ทายาทได้
แต่การที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์จดทะเบียนทรัพย์อิงสิทธิ แล้ว ให้สิทธิผู้เช่าสามารถขาย โอนทรัพย์สินที่เช่าให้ผู้อื่น หรือตกทอดทางมรดกต่อไปได้

*การขาย โอน เช่า ตกทอดทางมรดก หรือทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์อิงสิทธิ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่

2. ใช้เป็นหลักประกัน

ผู้เช่าสามารถนำทรัพย์อิงสิทธิไปใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้โดยการจำนองได้ นำบทบัญญัติการจำนองมาใช้โดยอนุโลม

3. ดัดแปลง ต่อเติม

แต่เดิมผู้เช่าไม่มีสิทธิดัดแปลงทรัพย์สินที่เช่า เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ให้เช่าเสียก่อน
หากจดทะเบียนทรัพย์อิงสิทธิ ผู้เช่ามีสิทธิดัดแปลง ต่อเติม หรือสร้างขึ้นใหม่ในอสังหาริมทรัพย์ (ยกเว้นกรณีห้องชุด) โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้ให้เช่า เมื่อทรัพย์อิงสิทธิ์สิ้นสุดลง อสังหาริมทรัพย์ที่ดัดแปลง จะตกเป็นของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ (ผู้ให้เช่า) เว้นแต่จะตกลงเป็นอย่างอื่น

4. ดำเนินธุรกิจในระยะยาว

เมื่อกฎหมายให้สิทธิผู้เช่าในการขาย โอน หรือตกทอดมรดกแก่ทายาทในทรัพย์สินที่เช่า ย่อมเกิดผลดีทั้งผู้เช่าและผู้ให้เช่า ในการดำเนินธุรกิจต่อไปในระยะยาว ผู้เช่าสามารถหาประโยชน์จากทรัพย์สินของตนได้เรื่อย ๆ

 

 

ตัวอย่าง

นายเอ ได้นำอสังหาริมทรัพย์ของตนไปจดทะเบียน “ทรัพย์อิงสิทธิ” แล้วนำไปปล่อยให้ นายบี เช่าเพื่อทำธุรกิจร้านอาหาร นายบีสามารถดัดแปลง ต่อเติมพื้นที่ที่เช่าได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากนายเอผู้ให้เช่า
หากภายหลังนายบีต้องการขยายธุรกิจของตน ก็สามารถนำทรัพย์นั้นไปเป็นหลักประกันได้ เพื่อขยายการลงทุนและเสริมสร้างธุรกิจเมื่อธุรกิจอยู่ตัวก็สามารถขายต่อ โอน หรือตกทอดทางมรดก ให้ผู้อื่นดูแลกิจการต่อ ๆ ไปได้
นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เช่าแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ให้เช่า ในการได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินของตนในระยะยาวแล้ว ยังเป็นการประกันการชำระหนี้ การจ่ายค่าเช่าของผู้เช่าอีกด้วย

 

ทำอย่างไรถึงจะได้ทรัพย์อิงสิทธิ?

  • ให้ เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน พร้อมแสดงโฉนดที่ดินหรือหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด
  • โดยทรัพย์อิงสิทธิมีกำหนดเวลาได้ไม่เกิน 30 ปี และจะจดทะเบียนทรัพย์อิงสิทธิเฉพาะบางส่วนของอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้
  • หากการจดทะเบียน ทรัพย์อิงสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ที่มีการจำนองหรือใช้เป็นหลักประกัน ต้องขอความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้รับจำนองหรือผู้รับหลักประกันเสียก่อน
  • ค่าจดทะเบียนก่อตั้งทรัพย์อิงสิทธิ ครั้งละ 20,000 บาท

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?