ใช้ซอฟต์แวร์ผิดลิขสิทธิ์ … ลบแล้วไม่ช่วยพ้นผิดได้!

14 มกราคม 2563

ว่าด้วยเรื่อง…“กฎหมายลิขสิทธิ์”

การละเมิดลิขสิทธิ์ในส่วนของซอฟต์แวร์ หรือโปรแกรมต่าง ๆ ที่ติดตั้งเพื่อใช้งานในคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะการใช้งานภายในองค์กรที่เป็นทรัพย์สินของบริษัท เมื่อมีผู้ใช้งานจำนวนมาก จึงยากต่อการควบคุม

หากผู้ใช้งานมีการลงโปรแกรมในคอมพิวเตอร์ที่ไม่ถูกลิขสิทธิ์ อาจส่งผลกระทบตั้งแต่ไวรัส การถูกล้วงข้อมูล ไปจนถึงการถูกฟ้องร้อง เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

และการถอนการติดตั้งหรือลบโปรแกรมอาจไม่ช่วยให้พ้นผิด เพราะว่าสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้

 

ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์

โปรแกรมที่ถูกพัฒนาขึ้นมา ต่างมีลิขสิทธิ์เป็นของตัวเอง เพราะเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ที่กฎหมายให้ความคุ้มครอง ภายใต้

  • พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
  • พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558
  • พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558

โดยให้เจ้าของลิขสิทธิ์ถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานสร้างสรรค์ที่ตนได้กระทำขึ้น

 

แล้วใครเป็นผู้ตรวจสอบ ?

บริษัทที่ทำการตรวจสอบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ คือ BSA (Business Software Alliance) กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ เป็นหน่วยงานที่ดูแลอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์และคู่ค้าฮาร์ดแวร์ทั่วไป ซึ่งสมาชิกบีเอสเอ* ประกอบด้วยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อาทิ Microsoft, Adobe, Autodesk, Intel, Siemens ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกมีสาขาอยู่ทั่วโลก

 

อ้างอิง https://ww2.bsa.org/about-bsa/bsa-members

 

แล้วใครเป็นผู้แจ้ง?

ผู้ที่พบเห็นสามารถแจ้งเบาะแสการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในองค์กรธุรกิจได้ และรับเงินรางวัลสูงสุด 1,000,000 บาท

 

ขั้นตอนการตรวจสอบ

  • มีผู้รายงานการละเมิดลิขสิทธิ์ ที่ bsa.org
  • BSA ได้รับการแจ้งเบาะแส จะทำการรวบรวมและตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับจนมั่นใจได้ว่าเป็นความจริง
  • จากนั้นจะทำการร้องขอต่อศาลเพื่อขอหมายค้น
  • เข้าตรวจเครื่องคอมพิวเตอร์ในบริษัท ซึ่งจะทำการตรวจทุกเครื่องเพื่อดูว่าติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ตัวไหนไว้บ้าง
  • หากไม่พบ ผู้ตรวจสอบจะใช้โปรแกรมโดยเฉพาะของบริษัทตรวจเช็กอีกครั้งว่าเคยติดตั้งหรือไม่ แม้ว่าผู้ใช้ได้ทำการถอนการติดตั้งไปแล้วก็ตาม โปรแกรมนี้ก็ยังจะสามารถตรวจพบประวัติการติดตั้งได้

หากพบการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

หากบริษัทถูกตรวจพบว่าใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ตำรวจก็จะอายัดเครื่องไว้เป็นหลักฐาน
ส่วน BSA จะบันทึกข้อมูลผู้ใช้งานเครื่องนั้น ๆ และรายการซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ติดตั้งในแต่ละเครื่อง จำนวนปีที่ติดตั้งใช้งานและแจ้งค่าปรับในขั้นต้น
โดยคิดจากค่าบริการของโปรแกรมต่อปี ตามจำนวนการใช้งาน และจะแจ้งวิธีการที่ทางองค์กรต้องดำเนินต่อไป

กรณีตัวอย่าง

ศาลแพ่งตัดสิน “ออโต้เดสก์” ชนะคดี

  • คดีนี้เริ่มต้นเมื่อปลายปี 2548 โดยการสืบสวนของตำรวจ นำไปสู่การเข้าตรวจค้นสำนักงานของบริษัท พบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่พนักงานของบริษัทใช้งาน
  • ศาลฯ พิจารณาจากหลักฐานที่จำเลยซึ่งเป็นโรงงานผลิตพลาสติกขนาดใหญ่และมีฐานลูกค้าอยู่ในเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ และให้ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ได้รับค่าเสียหายมูลค่า 1.8 ล้านบาท รวมถึงค่าความเสียหายของซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิด และดอกเบี้ยนับตั้งแต่มีการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนเป็นต้นไป
  • หลังจากการดำเนินคดีในศาลอาญาจึงยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง บริษัท ออโต้เดสก์ ได้รับชัยชนะในคดีละเมิดลิขสิทธิ์เมื่อเดือนก.ค. 2552

อ้างอิง https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9520000094745 , https://www.thairath.co.th/content/27531

การกระทำที่เข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์

1. การแจกจ่ายระหว่างผู้ใช้งาน แม้ว่าจะเป็นการทำคัดลอกซอฟต์แวร์ต้นฉบับของแท้ไปลงเครื่องอื่น ๆ ก็นับว่าเป็นการละเมิด เนื่องจากเกินจำนวนสิทธิ์การใช้งานที่ได้รับมา

2. การปลอมแปลงสินค้าในรูปแบบ CD พร้อมคู่มือ ทำการปลอมแปลงเพื่อการจำหน่ายนับว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

3. การละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ โดยปล่อยให้ดาวน์โหลด โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์

4. ผู้จำหน่ายคอมพิวเตอร์ทำการติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้เพื่อเป็นการสมนาคุณ ผู้ซื้อควรขอใบอนุญาตให้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (License) หากไม่มีการมอบให้ อาจเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

 

โทษของการละเมิดลิขสิทธิ์

ซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์คือสิ่งที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 (พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์) โดยจัดเป็นงานมีลิขสิทธิ์ประเภทงานวรรณกรรม (Literary work) โดยบทลงโทษมีดังนี้

  • คัดลอกและไปเผยแพร่ที่สาธารณะหรือแบ่งปันผู้อื่น ปรับ 20,000 – 200,000 บาท
  • ทำเพื่อขาย นำออกจำหน่าย โทษจำคุก 6 เดือน – 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 -8 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ขอคำปรึกษาปัญหาเรื่อง “ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์” ฟรี

บริษัท ดีไอทีซี จำกัด
ผู้ให้บริการด้านเว็บไซต์และไอทีครบวงจร
ในเครือบริษัท ธรรมนิติ จำกัด(มหาชน)

โทร. 02-555-0999
อีเมล : contact@ditc.co.th

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?