หลักกฎหมายเกี่ยวกับ “การชันสูตรพลิกศพ” แนวทางและข้อเท็จจริงที่ควรรู้

01 มีนาคม 2565

การชันสูตรพลิกศพ ?

คือ กระบวนการทางการแพทย์ที่ตรวจวินิจฉัยร่างกายผู้ตายว่าผู้ตายคือใคร ตายเมื่อใด ใครเป็นผู้กระทำให้ตาย

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148

เมื่อปรากฏแน่ชัดหรือสงสัยว่า บุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่ตายโดยประหารชีวิตตามกฎหมาย”

การตายโดยผิดธรรมชาติคือ 5 ลักษณะ ดังต่อไปนี้

•  การฆ่าตัวตาย

•  การถูกสัตว์ทำร้าย

•  การตายโดยอุบัติเหตุ

•  การตายที่ยังไม่ปรากฏเหตุ

•  การถูกผู้อื่นทำให้ตาย

วัตถุประสงค์ทางกฎหมาย

       •  กรณีฆ่าตัวตาย การชันสูตรพลิกศพจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า ตายเพราะฆ่าตัวเอง ไม่ใช่ถูกผู้อื่นฆ่า หากเป็นการฆ่าตัวตายจริง ผลการชันสูตรพลิกศพอาจแสดงให้รู้ถึงผู้เกี่ยวข้องในการตายและสามารถนำผู้ที่เกี่ยวข้องไปลงโทษทางอาญาได้

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 292

เอาผิดแก่ผู้ปฏิบัติทารุณแก่คนที่ต้องพึ่งอาศัยตน เพื่อให้บุคคลนั้นฆ่าตัวเอง

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 293

เอาผิดแก่คนที่ช่วยหรือยุยงเด็ก หรือคนที่จิตใจไม่ปกติให้ฆ่าตัวเอง”

       •  กรณีถูกสัตว์ทำร้าย การชันสูตรพลิกศพจะทำให้รู้ว่าการตายนั้นถูกสัตว์กระทำโดยตรง ไม่ใช่เป็นการบาดเจ็บจากการกระทำของมนุษย์

       •  การตายโดยอุบัติเหตุ การชันสูตรพลิกศพจะทำให้ทราบว่า การตายเกิดขึ้นจากปัจจัยเหล่านั้นจริง ๆ ไม่ได้เกิดจากการกระทำผิดทางอาญา

       •  การตายที่ยังไม่ปรากฏเหตุ การชันสูตรพลิกศพจะทำให้ทราบว่า ผู้ตาย ตายเพราะเหตุใด และเหตุที่ทำให้ตายเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดอาญา หรือไม่

       •  กรณีถูกผู้อื่นทำให้ตาย การชันสูตรพลิกศพจะทำให้ทราบถึงสาเหตุการตายโดยแน่ชัดว่า เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดอาญาอย่างไร การเก็บวัตถุพยานต่าง ๆ จากผู้ตาย หรือผู้บาดเจ็บ สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานเชื่อมโยงเหตุการณ์ในการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

ผู้มีหน้าที่ทำการชันสูตรพลิกศพ

เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการในการรับแจ้งเรื่องเมื่อมีผู้ตาย รวมทั้งเป็นผู้ดำเนินการติดต่อ ติดตามผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชันสูตรพลิกศพ

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150

กรณีการเสียชีวิตแบบผิดธรรมชาติ ให้เจ้าพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่พบศพนั้น สาธารณสุขจังหวัด หรือแพทย์ประจำสถานีอนามัย หรือแพทย์ประจำโรงพยาบาล เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพ”

ผู้มีอำนาจหน้าที่ ได้แก่

       •  พนักงานสอบสวน

       •  เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง

       •  แพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

การดำเนินการทางคดี

1.เมื่อมีการชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานสอบสวนและ  พนักงานอัยการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้เสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งความ ขยายเวลาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน (ต้องมีเหตุผลที่มีการขยายเวลา)

2.เมื่อได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานอัยการทำคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลทำการไต่สวน และทำคำสั่งแสดงว่า

       •  ผู้ตายคือใคร ?

       •  ตายที่ไหน ?

       •  ตายเมื่อใด ?

       •  เหตุและพฤติการณที่ตาย ?

ถ้าเสียชีวิตโดยมีคนทำร้าย ต้องรู้ว่าใครเป็นผู้กระทำภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับสำนวน ขยายเวลาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน (ต้องมีเหตุผลที่มีการขยายเวลา)

3.ในการไต่สวน ให้ศาลแจ้งกำหนดวันที่จะทำการไต่สวนไว้ที่ศาล และแจ้งวันนัดไต่สวนให้สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทน โดยชอบธรรม หรือญาติของผู้ตาย อย่างน้อย 1 คน ให้รู้ก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่า 15 วัน

4.ก่อนการไต่สวนเสร็จสิ้น สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม หรือญาติของผู้ตาย มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอเข้ามาซักถามพยาน นอกจากนี้ยังมีสิทธิแต่งตั้งทนายความดำเนินการแทนได้

5.ศาลสามารถเรียกพยานมาสืบเพิ่มเติมได้ และยังขอให้ผู้เชียวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการไต่สวนได้

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?