ไขข้องสงสัยภาษีเงินได้เกี่ยวกับคณะบุคคล เรื่อง ภาษีคณะบุคคล ตอนที่ 1

10 กันยายน 2562

     การกำหนดนิยามศัพท์คำว่า “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรโดยให้หมายความว่า “บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงกระทำการร่วมกันอันมิใช่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ”

กล่าวได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ 2558 หรือวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ดังนี้

 

     การกำหนดนิยามศัพท์คำว่า “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรโดยให้หมายความว่า “บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงกระทำการร่วมกันอันมิใช่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ”

เพื่อแยกแยะการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของการกระทำกิจการร่วมกันของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปที่เคยเหมือนกันของ “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” และ “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล” ออกต่างหากจากกันโดยเด็ดขาดกล่าวคือหากประกอบกิจการในรูปของ“ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล”ต้องเป็นกรณีที่มีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น แต่หากประกอบกิจการในรูปของ “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ต้องเป็นกรณีที่มีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น

ดังนั้นนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ไม่ว่าจะใช้ชื่อว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล” หรือจะได้ชื่อว่า “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ก็ตามหากมีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันผลกำไรอันเกิดจากการประกอบกิจการร่วมกันก็ย่อมต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในฐานะ “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล”ในชั้นที่หนึ่งก่อนและเมื่อมีการแบ่งปันผลกำไรอันเกิดจากการประกอบกิจการดังกล่าวเมื่อใดผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนที่มิใช่นิติบุคคลนั้นต้องนำเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าวไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกครั้งหนึ่ง ตัวอย่างเช่น :ในปี พ.ศ. 2557 ห้างหุ้นส่วนสามัญ XY มีเงินได้พึงประเมินจากประกอบโรคศิลปะจำนวน 2,000,000 บาท ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากำหนดให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 60 ของเงินได้แล้วหักลดหย่อนส่วนตัวหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนคนละ 30,000 บาท คงเหลือเงินได้สุทธิ 740,000 บาท สำหรับเงินได้สุทธิจำนวน 150,000 บาท แรกได้รับยกเว้นภาษีเงินได้คิดเป็นภาษีเงินได้ที่ต้องชำระจำนวน 63,500 บาทสมมุติห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวนี้ ไม่มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงมาหักเลยจำนวนกำไรสะสมคงเหลือที่ต้องแสดงใน “รายงานบัญชีรับ–จ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ยื่นพร้อมกับแบบ ภ.ง.ด.90 สำหรับปีภาษี 2557 ที่ต้องยื่นภายในเดือนมีนาคม 2558 คือ 2,000,000 บาท เท่าที่ได้รับเพราะการหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาเป็นหลักเกณฑ์เพื่อการคำนวณภาษีเงินได้เท่านั้นมิใช่ค่าใช้จ่ายจริงดังนั้นต่อมาในปี 2558 เป็นต้นไปห้างหุ้นส่วนได้นำจำนวนกำไรดังกล่าวมาแบ่งปันกันเช่น คนละ 1,000,000 บาท ผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนต้องนำเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินส่วนแบ่งของกำไรซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากรไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้อีกครั้งหนึ่งนับว่าเป็นความซ้ำซ้อนอย่างยิ่งหากไม่หาแนวทางแก้ไขปัญหานี้เช่นให้ทุกอย่างที่กระทำในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญจดเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในปี 2557 และไม่กระทำกิจการในนามของห้างฯ อีกต่อไป เป็นต้น

 

หลักกฎหมาย

ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 39) พ.ศ. 2557 ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา กำหนดให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ของปีภาษีถัดจากปีที่ประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งได้แก่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไปนั้นเอง พอจะสรุปอธิบายความเกี่ยวกับสาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ได้ต่อดังนี้

 

  1. ได้บัญญัตินิยามศัพท์คำว่า “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ขึ้นใหม่ในมาตรา 39 โดยกำหนดให้เพิ่มข้อความขึ้นระหว่างบทนิยามคำว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” และคำว่า “ขาย” ดังนี้ “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” หมายความว่า “บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงกระทำการร่วมกัน อันมิใช่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ”  ทั้งนี้ เพื่อแยก “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ออกต่างหากจาก “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล” โดยเด็ดขาด กล่าวคือ การจะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในนามของ “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล”  ได้นั้น ต้องเป็นกรณีที่ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น โดยเด็ดขาด ดังนั้น แม้จะได้ชื่อว่า “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล”  หากมีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันผลกำไรอันเกิดจากการประกอบกิจการร่วมกัน ก็ย่อมถือเป็น “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล” จึงพึงที่จะต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้ ให้ชัดแจ้งไปเลย

 

  1. ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 39) พ.ศ. 2557 ไม่มีข้อกำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในคำนวณและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล แต่อย่างใด ดังนั้น วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ก็ยังคงเหมือนเดิมทุกประการ ทั้งในส่วนของเกณฑ์การรับรู้เงินได้ หลักเกณฑ์การหักค่าใช้จ่าย การหักลดหย่อน และการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้สุทธิในส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาทแรก รวมทั้งอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และหน้าที่ในการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.94 เคยปฏิบัติอย่างไรก็ให้ปฏิบัติคงเดิมต่อไป ซึ่งรวมทั้ง กรณีที่เมื่อผู้อำนวยการหรือผู้จัดการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในระหว่างปีภาษีในชื่อของห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลนั้น เสมือนเป็นบุคคลธรรมดาคนเดียวโดยไม่มีการแบ่งแยก ทั้งนี้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลแต่ละตนไม่จำต้องยื่นรายการเงินได้ สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเพื่อเสียภาษีอีก แต่ถ้าห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลนั้นมีภาษีค้างชำระ ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลทุกคนร่วมรับผิดในเงินภาษีที่ค้างชำระนั้นด้วย ทั้งนี้ ตามความในมาตรา 56 วรรคสอง

 

  1. ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 39) พ.ศ. 2557 กำหนดให้ยกเลิกความตามมาตรา 42 (14) ที่เดิมบัญญัติว่า “เงินส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที มิใช่นิติบุคคล ซึ่งต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้…” ดังนั้น การยกเลิกมาตรา 42 (14) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเคยกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว โดยผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนต้องนำเงินได้ที่เป็นส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล อันเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร นั้น ไปถือรวมเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้ในนามของหุ้นส่วนคนนั้น อีกครั่งหนึ่ง ก็เพื่อตัดสิทธิประโยชน์อันเป็นช่องโหว่ของการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลทีมิใช่นิติบุคคล เพื่อหลบเลี่ยงภาษีจากการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามของผู้มีเงินได้คนเดียวออกไป ซึ่งย่อมก่อให้เกิดความซ้ำซ้อนในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ถือเป็นหน่วยทางภาษีอากรที่เล็กหรือย่อยที่สุดแล้ว ทั้งนี้ ตามหลักการทั่วไป รัฐจะไม่จัดเก็บภาษีจากเงินได้ที่ทอดถ่ายไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป ที่มิใช่ธุรกรรมทางการค้า ดังจะเห็นได้จากการยกเว้นภาษี ดังจะเห็นได้ว่า รัฐยังคงยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือเงินได้จากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร หรือแม้แต่กรณีเงินได้ของกองมรดกของผู้ตายที่ยังมิได้แบ่งที่ได้เสียภาษีเงินได้แล้ว เมื่อแบ่งให้แก่ทายาท ก็จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (16) แห่งประมวลรัษฎากร

 

  1. อธิบดีกรมสรรพากร ได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 249) เรื่อง กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล จัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่าย ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ดังนี้

(1) ให้ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล จัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงยอดเงินคงเหลือยกมา จำนวนรวมของยอดรายได้และยอดรายจ่ายที่ได้มีการรับมาหรือจ่ายไปในระหว่างปีภาษี และยอดเงินคงเหลือยกไป โดยต้องมีรายการและข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้

(2) การจัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่าย ตามข้อ (1) ให้ทำเป็นภาษาไทย ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศให้มีภาษาไทยกำกับ

(3) การจัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่าย ตามข้อ (1) ให้ยื่นต่อเจ้าพนักงานประเมินพร้อมกับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ของทุกปีภาษี

(4) ประกาศดังกล่าวให้ใช้บังคับสำหรับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ซึ่งจะต้องยื่นรายการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป

 

ข้อสรุปเรื่องภาษีของคณะบุคคล คือ

 

ในการกำหนดให้ห้างหุ้นส่วนสามัญมีหน้าที่ต้องจัดทำ “รายงานบัญชีรับ–จ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ยื่นพร้อมกับแบบ ภ.ง.ด.90 ซึ่งจะต้องยื่นรายการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ทั้งนี้ต้องเริ่มจัดทำรายงานบัญชีรับ – จ่ายดังกล่าว ประจำปีภาษี 2557 เป็นปีแรก ในอันที่จะใช้เป็นฐานสำหรับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับจากห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล และขอย่ำกันอีกครั้งว่า มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ 2558 หรือวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ดังนี้

 

  1. การกำหนดนิยามศัพท์คำว่า “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ในมาตรา 39 โดยให้หมายความว่า“บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงกระทำการร่วมกัน อันมิใช่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ” เพื่อแยกแยะการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของการกระทำกิจการร่วมกันของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปที่เคยเหมือนกันของ “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” และ “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล” ออกต่างหากจากกันโดยเด็ดขาด

 

  1. หากประกอบกิจการในรูปของ “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล” ต้องเป็นกรณีที่มีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น แต่หากประกอบกิจการในรูปของ “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ต้องเป็นกรณีที่มีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น

 

  1. นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ไม่ว่าจะใช้ชื่อว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล” หรือจะได้ชื่อว่า “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ก็ตาม หากมีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันผลกำไรอันเกิดจากการประกอบกิจการร่วมกัน ก็ย่อมต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในฐานะ “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล” ในชั้นที่หนึ่งก่อน และเมื่อมีการแบ่งปันผลกำไรอันเกิดจากการประกอบกิจการดังกล่าว เมื่อใดผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนที่มิใช่นิติบุคคลนั้น ต้องนำเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าวไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกครั้งหนึ่ง เพราะได้ยกเลิกการยกเว้นเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลตามมาตรา 42 (14) แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ดังกล่าว

 

  1. สมมติ ในปี พ.ศ. 2557 ห้างหุ้นส่วนสามัญ SN. มีเงินได้พึงประเมินจากประกอบโรคศิลปะจำนวน 2,000,000 บาท ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากำหนดให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 60 ของเงินได้ แล้วหักลดหย่อนส่วนตัวหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนคนละ 30,000 บาท คงเหลือเงินได้สุทธิ 740,000 บาท สำหรับเงินได้สุทธิจำนวน 150,000 บาท แรกได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ แล้วคิดเป็นภาษีเงินได้ที่ต้องชำระเป็นจำนวนเงิน63,500 บาท

 

  1. ในที่นี้ กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าว ไม่มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงมาหักเลย จำนวนกำไรสะสมคงเหลือที่ต้องแสดงใน “รายงานบัญชีรับ – จ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ยื่นพร้อมกับแบบ ภ.ง.ด.90 สำหรับปีภาษี 2557 ที่ต้องยื่นภายในเดือนมีนาคม 2558 คือ 2,000,000 บาท เท่าที่ได้รับ เพราะการหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาเป็นหลักเกณฑ์เพื$อการคำนวณภาษีเงินได้เท่านั้น มิใช่ค่าใช้จ่ายจริง ดังนั้น หากต่อมาในปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ห้างหุ้นส่วนได้นำจำนวนกำไรดังกล่าวมาแบ่งปันกัน เช่น คนละ (2,000,000 – 63,500)/2 = 963,150 บาท

 

  1. ผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนต้องนำเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินส่วนแบ่งของกำไร ซึ่งถือเป็นเงินได้พึง

ประเมินตามมาตรา 40 (8) ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้อีกครั้งหนึ่งกรณีดังกล่าว นับว่าเป็นความซ้ำซ้อนอย่างยิ่งหากไม่หาแนวทางแก้ไขปัญหานี้ เช่น ให้ทุกอย่างที่กระทำในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญจดเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในปี 2557 และไม่กระทำกิจการในนามของห้างฯ อีกต่อไป เป็นต้น รายงานบัญชีรับ – จ่าย ของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 (2) ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 249) เรื่อง กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2557 โดยให้มีผลใช้บังคบตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป จึงขอนำมาสรุปและแจ้งให้ท่านได้รับทราบดังนี้

 

  1. วัตถุประสงค์ ตามประกาศฉบับดังกล่าวได้อ้างเหตุผลในการออกประกาศว่า “เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร” ซึ่งในที่นี้ ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

 

  1. ให้ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ต้องจัดทำรายงานบัญชีรับ – จ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ประจำปีภาษี 2557 เป็นต้นไป ต้องมีรายการและข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศดังกล่าว โดยให้แสดงรายการดังต่อไปนี้ เช่น รายงานบัญชีรับ – จ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ประจำปีภาษี 2557

(1) ยอดเงินคงเหลือยกมาจากปีภาษีก่อน ให้แสดงยอดเงินคงเหลือยกมาจากปี 2556 ตามที่ยกมาจริงหากห้างฯ ได้แบ่งส่วนแบ่งของกำไรสำหรับปี 2556 และหรือปีภาษีก่อนหน้านั้นไปหมดสิ้นแล้วให้แสดงยอดคงเหลือ -0-

(2) ยอดรวมรายรับระหว่างปีภาษี ให้แสดงจำนวนรวมของยอดรายรับระหว่างปีภาษี 2557 โดยให้แสดงยอดรวมเพียงยอดเดียว ทั้งในส่วนที่ได้รับยกเว้นและส่วนที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

(3) ยอดรวมรายจ่ายระหว่างปีภาษี ให้แสดงจำนวนรวมของยอดรายจ่ายระหว่างปีภาษี 2557 โดยให้แสดงยอดรวมเพียงยอดเดียว เฉพาะในส่วนของรายจ่ายที่ห้างฯ ได้จ่ายไปจริง ทั้งนี้ เฉพาะรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของห้างฯ เท่านั้น

(4) ส่วนแบ่งเงินกำไรหรือส่วนแบ่งรายได้ที่จ่ายให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคล ให้แสดงส่วนแบ่งเงินกำไรหรือส่วนแบ่งรายได้ที่จ่ายให้ผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือบุคคลในคณะบุคคล ในระหว่างปีภาษี 2557 โดยให้แสดงยอดรวมเพียงยอดเดียว

(5)ยอดเงินคงเหลือยกไปปีภาษีถัดไป ให้แสดงยอดเงินคงเหลือ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 ซึ่งเป็นยอดคงเหลือที่จะใช้เป็นฐานในการแบ่งเงินส่วนแบ่งของกำไรต่อไป (ถ้ามี)

รายการยอดเงินได้คงเหลือยกไป ปรากฏตาม

 

(ก) บัญชีธนาคาร……………………………..สาขา………………………………..

ชื่อบัญชี………………………………..เลขบัญชี………………………………….

(ข) เงินสด……………………………………………..บาท

 

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการหรือผู้จัดการห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ต้องลงนามรับรองว่าข้อความข้างต้นถูกต้องและเป็นความจริงทุกประการ

 

  1. การจัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลดังกล่าว ให้ทำเป็นภาษาไทย ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศให้มีภาษาไทยกำกับ

 

  1. ให้ยื่นบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ประจำปีภาษี 2557 ต่อเจ้าพนักงานประเมินพร้อมกับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ของปีภาษี 2557 ภายในเดือนมีนาคม 2558 นี้

ปุจฉา – วิสัชนา: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

 

ปุจฉา : ร้านจดเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญบุคคลธรรมดาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ด้วย ถ้ายื่นบัญชีแสดงรายรับรายจ่ายของปี 2557 ไม่ได้เก็บหลักฐานการใช้จ่าย…เงินไว้จะทำอย่างไรดี

วิสัชนา : การยื่นบัญชีแสดงรายรับรายจ่ายสำหรับปี 2557 ไม่จำเป็นต้องเก็บหลักฐานการจ่ายเงินเพราะ ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้แต่อย่างใด

 

ปุจฉา : ถ้าจะกรอกรายรับ-รายจ่ายเป็นแบบประเมิน ให้มีค่าใช้จ่ายเป็น75% แล้วแสดงเงินคงเหลืออย่าง เดียวลงในแบบฟอร์มได้ไหม

วิสัชนา : ไม่ควรแสดงยอดคงเหลืออย่างเดียว เพราะมิฉะนั้นอาจต้องเสียภาษีเงินได้ซ้ำซ้อนอีก เนื่องจาก แบ่งกำไรให้กับผู้เป็นหุ้นส่วน จะต้องนำไปเสียภาษีอีกครั้งหนึ่ง (ตามที่ออกมาใหม่นี้)

 

ปุจฉา : ต่อไปควรจะจ้างสำนักงานบัญชีเพื่อให้ทำบัญชีให้ดีหรือไม่

วิสัชนา : ต่อไปควรจะจ้างสำนักงานบัญชีเพื่อให้ทำบัญชีให้ดีกว่าแต่ต้องเลือกสำนักงานบัญชีให้ดีด้วยหรือ ต้องให้แน่ใจว่าเขามีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างจริงจังนะ

 

ปุจฉา : ถ้าอนาคตอยากเลิกจะกิจการแล้วต้องเสียภาษีของสินค้าในสต๊อกที่มีมูลค่าสูงมากควรวางแผน เรื่องนี้อย่างไรดี

วิสัชนา : กรณีเลิกกิจการเป็นผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม/เลิกประกอบกิจการแล้วต้องเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับ สินค้าในสต๊อกที่มีอยู่ทั้งหมด(1) ขายให้หมดหรือ (2)โอนกิจการทั้งหมด ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือ บริษัทที่จดทะเบียน

 

ปุจฉา : การถือหุ้นกันสองคน เช่น ตัวเองและพี่สามีไม่มีรายได้ทางอื่นทั้งคู่แต่สัดส่วนถือหุ้นไม่เท่ากันเรา สามารถขอปรับสัดส่วนการถือหุ้นใหม่ให้เหมาะสมได้หรือไม่

วิสัชนา : การมีหุ้นส่วนสองคนสัดส่วนถือหุ้นไม่เท่ากันสามารถขอปรับสัดส่วนการถือหุ้นให้เหมาะสมได้  โดยการทำสัญญาใหม่ เพื่อแก้ไขสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนเสียใหม่แล้วปิดอากรแสตมป์ 50บาท.

 

ปุจฉา : การจ่ายส่วนแบ่งกำไรของห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่

วิสัชนา : ในขณะนี้ยังไม่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เพราะไม่มีข้อกำหนดให้ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทั้งตามมาตรา 50 และมาตรา 3 เตรส ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ท.ป. 4/2528 และตามข้อ 4 (4) ข้างต้น กำหนดให้ประกาศดังกล่าวให้ใช้บังคับสำหรับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ซึ่งจะต้องยื่นรายการตั้งแต่วันที่1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป หมายความว่า แบบภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด. 91 สำหรับปีภาษี 2557 ที่ถึงกำหนดเวลาต้องยื่นรายการตั้งแต่วันที่1 มกราคม2558 เป็นต้นไปนั้น ต้องมีบัญชีหรือรายงานฯดังกล่าวแนบไป เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับการจ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไรในปีต่อไปเพราะฉะนั้น ควรจ่ายส่วนแบ่งของกำไรของปีก่อนๆ ให้หมดไปภายในปี 2557 เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาการตีความ

 

ปุจฉา : การกรอกแบบบัญชีรับ – จ่ายแนบ สรุปสุดท้ายต้องอิงกับเงินได้สุทธิใช่หรือไม่ เพราะปกติ เราหักค่าใช้จ่ายเหมา แล้วแบบนี้จะต้องทำอย่าไร

วิสัชนา : ในการกรอกแบบรายงานแนบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 สรุปเมื่อวันสิ้นปีภาษีนั้น ไม่ต้องอิงกับเงินได้สุทธิ เพราะการจ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไรห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลจ่ายจากกำไรสุทธิทางบัญชี เช่นเดียวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จึงต้องจัดทำบัญชีเช่นเดียวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และมีหลักฐานการจ่ายประกอบการลงบัญชีจึงจะสามารถแสดงรายงานได้ตามที่กฎหมายกำหนด

 

ปุจฉา : ภาษีเงินได้ที่เสียไปในนามคณะบุคคล สามารถนำมาเครดิตภาษี (เทียบเคียง 47 ทวิ) ในการยื่นภาษีของผู้เป็นหุ้นส่วนได้หรือไม่

วิสัชนา : ภาษีเงินได้ที่เสียไปในนามคณะบุคคล ไม่สามารถนำมาเครดิตภาษี (เทียบเคียงมาตรา47 ทวิ) ในการยื่นภาษีของผู้เป็นหุ้นส่วนได้ เนื่องจากเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) ไม่ใช่เงินได้ตามมาตรา 40 (4)(ข)และผู้จ่ายเงินได้ไม่ใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และไม่มีแนวคิดที่จะให้มีการเสียภาษีในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลอีกต่อไป

 

ปุจฉา : กรณีที่หสม. ประกอบการซื้อมาขายไปสินค้า 40 (8) จะยังสามารถหักค่าใช้จ่ายเหมาร้อยละ 80 เหมือนเดิมได้หรือไม่

วิสัชนา : การที่ หสม. ไม่ว่าประกอบกิจการประเภทใด ก็ยังคงหักค่าใช้จ่ายได้เหมือนเดิม ดังนั้นกรณีกิจการซื้อมาขายไปสินค้า ซึ้งเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) จึงยังคงหักค่าใช้จ่ายเหมาร้อยละ 80 ได้

 

ปุจฉา : ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล รายได้ในปี 2557 สิ0นสุด 31 ธันวาคม 2557 ยังสามารถใช้อัตราเหมาได้ใช่ไหม และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่249) เรื่อง กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล จัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่าย ประกาศนี้ให้ใช้บังคับสำหรับการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 หรือ ภ.ง.ด. 91 ซึ่งจะต้องยื่นรายการตั้งแต่วันที่1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป แบบ ภงด.90,  91 ของปีภาษี 2557 ก็ต้องจัดทำใช่หรือไม่ และกรณีไม่มียอดเงินคงเหลือยกมา และยกไป จะถือว่าผิดหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฏากร ฉบับที่39 ยกเลิก มาตรา 42 (14) ยกเลิกการ ยกเว้นภาษีเงินได้ เงินส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เริ่มตั้งแต่วันที่1 มกราคม 2558 การแบ่งกำไรจะแบ่งคนละครึ่ง หรือ ตามส่วนทุน หรือหลักเกณฑ์ใด”

วิสัชนา : ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า

  1. การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับหน่วยภาษี “ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” สำหรับปีภาษี 2557 และปีภาษีต่อ ๆ  ไป ยังคงเหมือนเดิมทุกประการ ทั้งเกณฑ์การหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน อัตราภาษี การยกเว้นภาษี และวิธีการยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเงินได้ ห้างฯ จึงยังคงสามารถคำนวณหักค่าใช้จ่ายอัตราเหมาได้
  2. ห้างฯ ต้องจัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่าย ประกาศนี้ ให้ใช้บังคับสำหรับการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 หรือ ภ.ง.ด. 91 ซึ้งจะต้องยื่นรายการตั้งแต่วันที่1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป สำหรับแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ของปีภาษี 2557 ด้วย
  3. กรณีที่ห้างฯ ได้จ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไรสำหรับปีก่อนๆ และของปี 2557 จนหมดสิ้นไป จนไม่มียอดเงินคงเหลือยกมา และยกไป ไม่ถือว่าผิดแต่ประการใด
  4. การคำนวณส่วนแบ่งของกำไรที่จ่ายให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วน ให้คำนวณตามสัดส่วนของเงินทุนของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคน ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทและห้างหุ้นส่วน

 

ปุจฉา : รายได้ปี 2557 สำหรับ คณะบุคคล และ หสม. ไม่ใช่นิติฯ ส่วนแบ่งกำไรยังไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเป็นรายได้ สำหรับ ภ.ง.ด. 90 ที่ยื่นภายใน 31 มี.ค. 58 ถูกต้องหรือไม่

วิสัชนา : ถูกต้องแล้ว โดยเริ่มใช้บังคับ สำหรับการแบ่งเงินส่วนแบ่งของกำไรตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป

 

ปุจฉา : ความเข้าใจถูกหรือไหมว่า การเสียภาษีเป็นหน่วยเดียวเหมือนเดิม อัตราเดิม แต่ต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายแนบเข้าไป ใช่ไหมคะ โดยไม่ต้องมีเอกสารสมบูรณ์เหมือนพวกนิติบุคคลก็ได้ และหากมีกำไรต้องนำมาแบ่งกัน และนำเงินได้ไปเสียภาษีบุคคลธรรมดา (ไม่เหมือนปีที่แล้วที่เคยมีข่าวบอกว่าจะเก็บจากรายรับก่อนหักรายจ่าย 20%)

วิสัชนา :  Version  นี้เป็น Version  สุดท้ายที่สนช. แก้ร่างของกรมสรรพากร, การจัดทำบัญชีนั้น หากมีเอกสารหลักฐานประกอบการลงบัญชีครบถ้วนสมบูรณ์ก็ย่อมไม่มีปัญหาที่ตามมาภายหลัง

 

ปุจฉา : การยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี 2557 กรณี หสม. แบ่งกำไร ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนต้องนำรายได้ส่วนแบ่งกำไร รวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2557 ที่จะยื่น 1 ม.ค.-31 มี.ค.2558 เลยหรือไม่

วิสัชนา :  ไม่ต้องครับ เพราะการแบ่งเงินส่วนแบ่งของกำไรในปี พ.ศ. 2557 ยังคงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (14)(ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้ใช้เกณฑ์ เงินสด และปีปฏิทิน)

 

ปุจฉา  : ภ.ง.ด. 90 ที่ต้องยื่นภายใน มี.ค. 2558 ต้องแนบรายการรับ – จ่าย พร้อมกับแบบด้วยใช้หรือไม่

วิสัชนา :  ดูรูปแบบของายงานบัญชีรับ –  จ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ประจำปีภาษี ….. ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่249) เรื่อง กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ลงวันที่17 ธันวาคม พ.ศ. 2557

 

ปุจฉา : เคยได้ยินมาว่า หสม. แม้ไม่แบ่งกำไร แต่ถ้า หสม. นี้มีกำไร จะนับว่าเป็นส่วนแบ่งกำไรของหุ้นส่วนและต้องรวมเป็นรายได้ของหุ้นส่วนในปีนั้นเลย จริงไหม

วิสัชนา : ได้ยินมาผิดแล้วครับ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้ใช้เกณฑ์ เงินสด และปีปฏิทิน)

 

ปุจฉา :  ถ้าในบัญชีรับจ่ายประจำปีของ หสม. ระบุว่าไม่มีการแบ่งผลกำไร ก็สามารถสะสมเป็นเงินคงเหลือของ หสม. ยกไปปีถัดไปก่อนนี้ถูกต้องหรือไม่และไม่บังคับว่าต้องเอาเงินคงเหลือ(รายรับ – รายจ่าย) ต้องนำมาแบ่งกำไรให้หุ้นส่วนเป็นประจำทุกปี ถูกต้องหรือไม่

วิสัชนา : ถูกต้องแล้วครับ

 

ปุจฉา : ส่วนแบ่งกำไรต้องนำไปรวมกับรายได้ของหุ้นส่วนแต่ละคน ในปีภาษี2557 หรือไม่

วิสัชนา :  ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไปจึงต้องนำมาเสียภาษี หากห้างหุ้นส่วนสามัญแบ่งกำไรในปี 2557 ผู้เป็นหุ้นส่วนยังไม่ต้องนำไปรวมเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้แต่อย่างใด

 

ปุจฉา : ถ้าในวัตถุประสงค์ของคณะบุคคลระบุว่าแบ่งกำไรกัน แต่ในทางปฏิบัติ ไม่มีการแบ่งกำไร เราจะต้องทำยังไงได้บ้าง

วิสัชนา : ไม่มีข้อบังคับ แต่ต้องมีหลักฐานว่าเงินส่วนแบ่งของกำไรยังไม่มีการแบ่งให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วน และพร้อมที่จะต้องพิสูจน์ต่อเจ้าพนักงานสรรพากร(เป็นไปได้คือ เงินคงเหลืออยู่ในบัญชีเงินฝากธนาคาร)

 

ปุจฉา : เมื่อมีการแบ่งปันผลกำไรให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนเช่นนี้ ผู้เป็นหุ้นส่วนต้องนำเงินได้ที่เป็นส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญนี้เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) ไปถือรวมเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้ในนามของหุ้นส่วนคนนั้นอีกคำรบหนึ่ง โดยไม่ได้รับยกเว้นดังเช่นแต่ก่อน อย่างนี้ ส่วนแบ่งกำไรนี้จะหักค่าใช้จ่ายได้กี่เปอร์เซ็นต์

วิสัชนา : การหักค่าใช้จ่ายได้ตามมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่11) พ.ศ. 2509 โดยหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรเท่านั้น ไม่มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา

 

ปุจฉา : ในการบันทึกบัญชีรายรับรายจ่ายที่กำหนดให้เราต้องแนบแบบไปกับแบบ ภ.ง.ด.90 แต่เอกสารหลักฐาน-บิลค่าใช้จ่ายที่เราจ่ายไปไม่ได้เก็บไว้ และค่าจ้างผู้ช่วยที่เราจ่าย เราก็มิได้มีการจัดทำเอกสารแต่อย่างใด เราจะต้องทำอย่างไร

วิสัชนา :  ขณะนี้ กฎหมายกำหนดให้แจ้งเท่านั้น ไม่ได้บอกว่าต้องจัดทำรายละเอียดว่าจ่ายอะไรไปเมื่อไร จึงไม่ต้องกังวลใด ๆ

 

ปุจฉา :  ประกาศฉบับนี้ จริง ๆ  แล้ว ก็ไม่ได้ขัดกับกฎหมายซะทีเดียวนะครับ (ตามความเห็นส่วนตัว) เพราะเคยมีกฎหมายกำหนดให้ จัดทำบัญชีรับเงินจ่ายเงิน มาตั้งแต่ประมาณปี 2549 แล้วนั้น แต่ที่น่าแปลกใจ คือ สิ่งที่ให้ทำเมื่อครั้งนั้น ไม่เคยใช้ประโยชน์อะไรเลย แถมยังให้เลือกคำนวณแบบอัตราเหมา ในการยื่นชำระภาษีประจำปี แต่มาตอนนี้ บอกว่าต้องใช้ข้อมูลนั้นอี กรมฯ ควรออกแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ของเก่าก็ต้องยกประโยชน์ไป เพราะไม่ใช่ความผิดของคณะบุคคล หรือหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล แต่ก็ยังเห็นด้วยในประเด็นที่คำสั่งทางปกครองแบบนี้ ก่อให้เกิดปัญหา เพราะเป็นโทษกับผู้เสียภาษีย้อนหลัง

วิสัชนา : เห็นด้วยครับ แต่… การมองเห็นปัญหาโดยรอบด้าน ยังต้องการเวลา และบทเรียนอีกด้วยครับ

 

ปุจฉา : คำถามมีว่า

  1. ทำไมส่วนแบ่งที่จะเอามาเป็นรายได้ของแต่ละบุคคลไม่ใช่รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย จากตัวอย่างเช่นเงินได้สุทธิก่อนภาษี 740,000 หัก ภาษี 63,500 = ? แล้วค่อยเอามาหารแบ่งผลกำไร ถือเป็นรายได้บุคคลธรรมดาของหุ้นส่วน
  2. การแบ่งผลกำไร จะไม่แบ่งหรือแบ่งเพียงเล็กน้อย ในแต่ละปีได้หรือไม่

วิสัชนา : จากข้อคำถาม ขอเรียนว่า

  1. เพราะการจ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไร ห้างฯ ต้องนำกำไรจริงหรือกำไรทางบัญชีมาจ่ายไม่ใช่กำไรทางภาษีอากร (ตามแบบแสดงรายการคำนวณภาษี)
  2. การแบ่งเงินส่วนแบ่งของกำไรของห้าง เป็นไปเจตนาหรือตามความตกลงร่วมกันของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนนั้น ในอันที่จะแบ่งหรือไม่แบ่งก็ได้ (ตามข้อตกลง)

 

ปุจฉา : เราจำเป็นต้องแบ่งกำไรทั้งหมดในแต่ละปีไม่ให้มีเงินคงเหลือไว้เลยหรือไม่

วิสัชนา :  ทำได้ครับ เพราะการแบ่งเงินส่วนของกำไรเป็นข้อตกลงร่วมกันของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนนั้น

 

ปุจฉา : ในกรณีห้างฯ ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 คำนวณค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา แต่ลงบันทึกรายรับรายจ่ายตามจริงต้องมีหลักฐานประกอบได้หรือไม่ มีประกาศกรมฯ ออกมาเพื่อชี้แจงกรณีต่าง ๆ หรือยัง

วิสัชนา : การจัดทำบัญชีของห้างฯ เป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่161) เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่าย ลงวันที่ 21ธันวาคม พ.ศ. 2549 ส่วนผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดทำรายงานภาษีขายและรายงานภาษีซื้อเป็นปกติอยู่แล้ว ในการแสดงค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริง ให้จัดทำได้เลยครับ นอกจากเป็นไปตามกฎหมายดังกล่าว แล้ว ยังเป็นไปตามหลักการบัญชีด้วย

 

ปุจฉา :  กรณีหักค่าใช้จ่ายเราลงบัญชีรับจ่ายตามข้อมูลที่เรามีตามแบบฟอร์มไม่ต้องมีเอกสารประกอบการลงบัญชีเมื่อหักรายจ่ายแล้ว แต่ตอนคำนวณเราจะใช้หักแบบเหมาหรือว่าหักตามจริง สรุปแล้วเราควรจะเลือกใช้วิธีใด

วิสัชนา :  ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลนั้น กรณีที่ห้างฯ หรือคณะบุคคลฯ มีสิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาหรือเลือกหักค่าใช้จ่ายจริง สิทธิดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่ตามปกติ เพราะไม่มีการแก้ไขกฎหมายในส่วนนี้เลย  ครั้นพอห้างฯ หรือคณะบุคคลฯ ต้องการจ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไร การจัดทำบัญชีเพื่อคำนวณหากำไรที่จะนำมาแบ่งปันกัน ให้ใช้เงินได้จริงและค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริง เพราะการจ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไร ต้องจ่ายจากกำไรสะสมที่เกิดขึ้นจริง (กำไรทางบัญชี) เท่านั้น

 

ปุจฉา :  ขอเรียนถามว่า หสม. เพิ่งทำค้าขายปีแรก ไม่แบ่งกำไรได้ไหมเพราะทุนเริ่มต้นน้อยไม่เพียงพอจะซื้อสินค้ามาไว้ขาย สินค้าต้องใช้เงินทุนสูง

วิสัชนา : ทำได้ เพราะการแบ่งเงินส่วนแบ่งของกำไรของห้างฯ เป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนนั้น ในอันที่จะแบ่งหรือไม่แบ่งก็ได้

 

ปุจฉา : ถ้าแบ่งกำไรให้หมดในปี 2557 แต่มีภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่จะได้คืนในปี 2558 ส่วนนี้ถ้าเราถอนมาจากธนาคาร จะถือเป็นส่วนแบ่งกำไรที่ผู้เป็นหุ้นส่วนต้องเสียภาษีปี 2558 ถูกต้องหรือไม่

วิสัชนา : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ้งห้างฯ หรือคณะบุคคลฯ ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ เป็นส่วนที่ถูกหักจากรายได้ เมื่อได้รับคืนจากกรมสรรพากร แล้วนำมาแบ่งปันกัน ก็ย่อมถือเป็นเงินส่วนแบ่งของกำไรด้วยโดยเฉพาะเมื่อแบ่งปันกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป

 

ปุจฉา : ถ้าในกรณีที่คณะบุคคลฯ มีรายได้ดอกเบี้ยประเภทเดียวแล้วเลือกไม่นำมายื่นเสียภาษีปลายปี ยังต้องยื่นบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่ายหรือไม่ ซึ่งคณะบุคคลมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากและหุ้นกู้ได้เสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15%. ไว้แล้วกฎหมายใหม่เราจะนำไปคำนวณขอคืนภาษีเหมือนปีก่อนๆได้ไหม พร้อมกับต้องแนบ บ/ช รายรับ-จ่าย

วิสัชนา : ต้องทำยื่นด้วย เฉพาะกรณีที่ห้างฯ หรือคณะบุคคลฯ นั้นยื่นแบบ ภ.ง.ด.90  เท่านั้น เพราะไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ

 

ปุจฉา : นาย ก นาย ข และนาย ค ได้ร่วมกันเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร ซึ่งได้รับดอกเบี้ยและถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ แต่ดอกเบี้ยรับทั้งปีไม่ถึง 30,000 บาท จึงไม่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ใช่ไหม จึงขอถามว่า จะขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้อย่างไร ทั้งนี้ ได้เคยสอบถามเจ้าหน้าที่สรรพากรตามพื้นที่แล้ว ได้รับคำตอบให้ไปยื่นคำร้อง ค.10 ขอคืน โดยไม่ต้องขอเลขคณะบุคคล แต่จะคืนภาษีให้ทั้ง 3 คนๆ ละเท่าๆ กัน ไม่ทราบว่า ถูกต้องหรือไม่

วิสัชนา : ตามข้อ 2 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย มีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร ลงวันที่11 ตุลาคม 2545 ได้กำหนดเกี่ยวกับการมีและใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังนี้

“ข้อ 2 ให้ผู้มีหน้าที เสียภาษีอากรและผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที หักภาษี ณ ที่จ่าย ดังต่อไปนี้ มีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร

(1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ผู้มีเงินได้ที เป็นบุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ผู้ที่ถึงแก่ความตาย กองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง ให้ยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกำหนด ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีเงินได้พึงประเมิน ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามวรรคหนึ่ง มิให้รวมถึงคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาและอยู่ในประเทศไทยครั้งละไม่เกิน 14 วัน และรวมกันแล้วไม่เกินเก้าสิบวันในปีภาษีหนึ่งๆ

กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นผู้เยาว์ ผู้ที ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถหรือเป็นผู้อยู่ในต่างประเทศ ให้ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ หรือผู้จัดการกิจการอันก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมิน แล้วแต่กรณี มีหน้าที่ยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวตามวรรคหนึ่งแทนผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือ คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ผู้ที่ถึงแก่ความตาย กองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง ให้ผู้อำนวยการหรือผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือผู้จัดการมรดกหรือทายาทหรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแล้วแต่กรณีมีหน้าที่ยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวตามวรรคหนึ่งแทนผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีและใช้เลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ให้ใช้เลขประจำตัวประชาชนนั้นในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร โดยไม่ต้องยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกำหนด”

 

ปุจฉา : ตอนปิดบัญชีเงินฝาก แบ่งดอกเบี้ยกัน ต้องเสียภาษีอีกรอบใช่ไหม

วิสัชนา : ถูกต้องครับ

 

ปุจฉา : ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่249) และ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่39) พ.ศ. 2557 กำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มุ่งค้าหากำไร ที่ผู้ขายถือกรรมสิทธิ~ร่วมกัน (ที่ดินไม่สามารถแบ่งแยกกรรมสิทธิ~ได้ชัดเจน) ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องเสียภาษีในนามของ “ห้างหุ้นส่วนสามัญ”  ในวันที่จดทะเบียนโอนที่กรมที่ดินนั้น ทั้งนี้ ผู้ขายมีสิทธิ~เลือกนำเอาเงินได้ดังกล่าว มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนสิ้นปี หรือไม่ก็ได้

ข้อคำถามคือ

  1. หากผู้ขายไม่ประสงค์นำเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ มารวมคำนวณตอนสิ้นปี (ไม่ต้องยื่น แบบ ภ.ง.ด.90)

(1) ผู้ขายต้องยื่นขอจดทะเบียนขอเลขผู้เสียภาษีของห้างหุ้นส่วนสามัญ ต่อกรมสรรพากรหรือไม่

(2) ผู้ขายจะต้องยื่นรายงานรับ-จ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญ ต่อกรมสรรพากร หรือไม่

 

  1. ทั้งกรณีที่ผู้ขายประสงค์ที่จะนำเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ มารวมคำนวณตอนสิ้นปี และกรณีผู้ขายไม่ประสงค์นําเงินได้มารวมคำนวณตอนสิ้นปี หากต่อมาผู้ขายต้องการแบ่งผลกำไรจากการขายที่ดินคืนแก่ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนที่ได้รับส่วนแบ่งกำไร ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลจากส่วนแบ่งกำไรนี้อีกครั้งหรือไม่

 

  1. ส่วนแบ่งกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งเทียบเคียงเป็นกำไรสุทธิทางบัญชี คำนวณอย่างไร

(1) ราคาขาย คำนวณจาก ราคาประเมินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กรมที่ดิน หรือใช้ราคาขายจริง

(2) ต้นทุนค่าซื้อที่ดิน ที่ซื้อมา สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชี ได้หรือไม่ หรือใช้ ค่าใช้จ่ายหักเหมา ที่คำนวณจากจำนวนปีที่ถือครอง (พรฎ. (ฉบับที่165)) เป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชี

 

  1. เงินส่วนแบ่งกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญ และคณะบุคคล ถ้าเกิน 1.8 ล้านบาท ผู้เป็นหุ้นส่วนที่ได้รับเงินนั้น ต้องนำส่งภาษีขาย และต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการ VAT หรือไม่

 

วิสัชนา :

  1. กรณีดังกล่าว

(1) ผู้ขายยังคงต้องยื่นขอจดทะเบียนขอเลขผู้เสียภาษีของห้างหุ้นส่วนสามัญ ต่อกรมสรรพากร ตามมาตรา 3 เอกาทศ

(2) หากไม่มีการยื่น แบบ ภ.ง.ด.90 ผู้ขายก็ไม่ต้องยื่นรายงานรับ-จ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญ ต่อกรมสรรพากร อย่างไรก็ตาม หากมีการแบ่งเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าวเมื่อใด ผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนก็ยังคงมีหน้าที่ต้องนำเงินส่วนแบ่งของกำไรนั้นไปรวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

 

  1. ทั้งกรณีที่ผู้ขายประสงค์ที่จะนำเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ มารวมคำนวณตอนสิ้นปี และกรณีผู้ขายไม่ประสงค์นำเงินได้มารวมคำนวณตอนสิ้นปี หากต่อมาผู้ขายต้องการแบ่งผลกำไรจากการขายที่ดินคืนแก่ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนที่ได้รับส่วนแบ่งกำไรต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลจากส่วนแบ่งกำไรนี้อีกครั้งด้วย

 

  1. เงินส่วนแบ่งกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ้งเทียบเคียงเป็นกำไรสุทธิทางบัญชี สำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ให้คำนวณดังนี้ ราคาขายจริง หักด้วยต้นทุนค่าซื้อที่ดินที่ซื้อมาจริง และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร เช่น ค่านายหน้า ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าธรรมเนียมโอน เป็นต้น สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชี ไม่อาจใช้อัตราค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ที่คำนวณจากจำนวนปีที่ถือครอง ตาม พรฎ. (ฉบับที่165) มาถือเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชีได้

 

  1. เงินส่วนแบ่งกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคล ถ้าเกิน 1.8 ล้านบาท ผู้เป็นหุ้นส่วนที่ได้รับเงินนั้น และไม่ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการ vat เพราะไม่ใช่รายได้ที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

 

ปุจฉา : ตามปกติ บุคคลธรรมดาใช้ ราคาประเมิน เป็นรายได้ คำนวณภาษี หสม. ที่มิใช่นิติบุคคลและคณะบุคคล ไม่สามารถใช้ ราคาประเมิน แบบบุคคลธรรมดา ใช่หรือไม่

วิสัชนา:  ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการขายอสังหาริมทรัพย์ ให้ใช้ตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามกฎหมายที่ดินเป็นฐาน แต่ในการจ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไร ให้ใช้ราคาขายจริงเป็นฐาน เพราะการจ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไร ห้างฯ ต้องนำกำไรจริงหรือกำไรทางบัญชีมาจ่าย ไม่ใช่กำไรทางภาษีอากร

 

ปุจฉา : การบันทึกรายรับ-จ่าย ของ หสม. ใช้เกณฑ์เงินสด เหมือนกับ รับรู้รายได้ ของ หสม. หรือเกณฑ์คงค้างเหมือนหลักการบัญชี

วิส้ชนา : การคำนวณกำไรเพื่อการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลในการจัดทำบัญชีเพื่อการแบ่งเงินส่วนแบ่งของกำไร นั้น การรับรู้รายได้ และรายจ่ายให้ใช้เกณฑ์คงค้าง เช่นเดียวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเอง

 

ปุจฉา : ถ้าเรายังต้องการค้าขายต่อไประหว่าง

  1. ดำเนินกิจการต่อไปโดยใช้ หสม. แบบเดิม จนเลิกกิจการ ต้องเสียภาษีแบบ หสม. ตลอดไปจนเลิกกิจการ
  2. ทำการยกเลิกปิด หสม. แล้วจดทะเบียนใหม่เป็นบุคคลธรรมดาในชื่อตนเอง แต่ต้องเสียค่าปิดกิจการจ่าย VAT ขายสินค้าคงเหลือ
  3. ทำการโอนกิจการจาก หสม. มาเป็นบุคคลธรรมดาในชื่อตนเอง เคยอ่านเจอว่าไม่เสียVAT แต่ต้องเสียค่าปิดกิจการจากการขายสินค้าคงเหลือ

ในทั้ง 3 วิธีนี้ ควรใช้วิธีไหนมีข้อแตกต่างกันข้อดี-ข้อเสีย อย่างไร แล้วถ้าปิดหรือโอนกิจการเรียบร้อยแล้วยังต้องมีการตรวจสอบได้อีกประมาณกี่ปี

วิสัชนา : ถ้าเรายังต้องการค้าขายต่อไปควรเลือกปฏิบัติตามข้อ 3 โดย “ให้ใช้วิธีที่ 3. ทำการโอนกิจการจาก หสม.มาเป็นบุคคลธรรมดาในชื่อตนเอง”  แต่ต้องจดทะเบียนVAT ก่อน สำหรับรายได้จากการขายสินค้าคงเหลือไม่มี เพราะไม่ได้ขายจึงไม่มีเงินได้กรณีปิดหรือโอนกิจการเรียบร้อยแล้วยังต้องมีการตรวจสอบได้อีก 2 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี..

 

ปุจฉา : รบกวนถามดังนี้

  1. ร้านจดเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญบุคคลธรรมดา จด VAT ด้วย ถ้ายื่นบัญชีแสดงรายรับรายจ่ายของปี 2557 ไม่ได้เก็บหลักฐานการจ่ายเงินไว้จะทำอย่างไรได้บ่าง
  2. แล้วกรอกรายรับ รายจ่ายเป็นประเมิน 75 % ได้หรือไม่
  3. จะต้องเสียค่าปรับหรือต้องทำอย่างไรได้บ้าง
  4. ต่อไปควรจะจ้างสำนักงานบัญชีเพื่อให้ทำบัญชีให้ดีไหม
  5. ถ้าในอนาคตอยากเลิกกิจการ แล้วต้องเสียภาษีสินค้าในstock. ที่มีมูลค่าสูงมาก ควรวางแผนทำอย่างไร
  6. หสม. ถือหุ้นกันสองคน คือ ตัวเองและพีของสามี ไม่มีรายได้ทางอื่นทั้งคู่ แต่สัดส่วนถือหุ้นไม่เท่ากัน เราสามารถขอปรับสัดส่วนการถือหุ้นใน หสม. ได้หรือไม่

วิสัชนา :

  1. การยื่นบัญชีแสดงรายรับรายจ่ายสำหรับปี 2557 ไม่จำเป็นต้องเก็บหลักฐานการจ่ายเงิน เพราะไม่มีกฎหมายกำหนดไว้แต่อย่างใด
  2. ไม่ควรแสดงยอดคงเหลือ เพราะมิฉะนั้น อาจต้องเสียภาษีเงินได้ซ้ำซ้อนจากการแบ่งกำไรอีก
  3. เมื่อได้ปฏิบัติตาม 1. และ 2. ก็ไม่พึงต้องเสียค่าปรับใด ๆ อีก
  4. ต่อไปควรจะจ้างสำนักงานบัญชีเพื่อให้ทำบัญชีให้ดีกว่า แต่ต้องเลือกสำนักงานบัญชีให้ดีด้วย
  5. กรณีเลิกกิจการ VAT แล้วต้องเสีย VAT สำหรับสินค้าใน stock. ที่มีมูลค่าสูงมากนั้น ควรขายให้หมด หรือ โอนกิจการทั้งหมดให้แก่บุคคลธรรมดา หรือบริษัทที่จดทะเบียน VAT
  6. หสม. มีหุ้นส่วนสองคนสัดส่วนถือหุ้นไม่เท่ากัน สามารถขอปรับสัดส่วนการถือหุ้นใน หสม. ได้ โดยแก้ไขสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนเสียใหม่ แล้วปิดอากรแสตมป์ 50บาท

 

ปุจฉา : ถ้าเราต้องการเปลี่ยนผู้ถือหุ้น ต้องทำได้อย่างไร และถ้าต้องแก้ไขสัญญาเราต้องไปยื่นเอกสารที่หน่วยงานไหนบ่าง

วิสัชนา :  โดยหลักทั่วไป เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนถอนทุนออกไป ห้างฯ ต้องเลิก แต่ถ้าประสงค์จะประกอบกิจการต่อไปก็ได้ ต้องแจ้งรายละเอียดการเปลี่ยนผู้เป็นหุ้นส่วน ให้เจ้าพนักงานสรรพากรทราบเพื่อบันทึกเป็นหลักฐานในการขอมีและใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร

 

ปุจฉา : มีกิจการให้เช่าอพาร์ทเมนท์ โดยจัดตั้งเป็นคณะบุคคล ซึ่งคณะบุคคลนั้น ประกอบไปด้วย 3 คนพี่น้อง และถ้าต้องการที่จะเปลี่ยนจากคณะบุคคล เป็น หสม. เราจะทำอย่างไรได้บ้าง โดยที่หสม.ก็จะเป็น 3 คนพี่น้องเหมือนเดิม

วิสัชนา : เนื่องจากในกฎหมายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่บัญญัติจัดเก็บภาษีอากรจาก “ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ตามประมวลรัษฎากรนั้น มีข้อบทที่เหมือนกันทุกประการอาทิ  มาตรา 6 มาตรา 56 วรรคสอง รวมทั้ง มาตรา 47 (6) แต่กรมสรรพากรพยายามที่จะปรับให้มีความ แตกต่างกันในทั้งสองหน่วยภาษีเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีอากร โดยตั้งหน่วยทางภาษีอากรขึ้นมา ใหม่  ดังนั้น ในช่วงเวลาที่กฎหมายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เกี่ยวข้องกับ “ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือ คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ตามประมวลรัษฎากร ยังคงเหมือนกันอยู่เช่นนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะ ปรับเปลี่ยน “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ให้เป็น “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล” โดยพลัน

ข้อมูลจาก : วารสาร CPD & Account ฉบับเดือนพฤษภาคม 2558

 

—-

แหล่งที่มา : www.jobdst.com

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?