เลี่ยง ฉ้อโกง ขอคืนภาษีเท็จ = ความผิดฐานฟอกเงิน

ความผิดฐานฟอกเงิน

18 มิถุนายน 2562

การหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรไม่ได้จำกัดเฉพาะความผิดตามประมวลรัษฎากรเท่านั้น แต่ถือเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและการปราบปรามการฟอกเงินอีกด้วย


หน้าที่ในการเสียภาษีอากรตามกฎหมายเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนตามรัฐธรรมนูญ โดยภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรซึ่งเป็นอำนาจและความรับผิดชอบของกรมสรรพากร แบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น ซึ่งเมื่อประชาชนรู้หรือเพิ่งรู้ว่าตนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรก็ต้องเสียภาษีให้ถูกต้องครบถ้วน

กรณีประชาชนที่มีหน้าที่เสียภาษีอากรได้หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร โดยไม่ชำระภาษีให้แก่กรมสรรพากรหรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง หนีภาษีอากร (Tax evasion) เจ้าพนักงานกรมสรรพากรสามารถประเมินภาษีอากรบุคคลดังกล่าวได้ตามกฎหมาย ส่งผลให้ต้องเสียภาษีในจำนวนที่ตนไม่ได้เสียหรือเสียขาดไป พร้อมทั้งต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มได้ประการหนึ่ง

อย่างไรก็ดีในปัจจุบันปัญหาการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรไม่ได้จำกัดเฉพาะความผิดตามประมวลรัษฎากรแล้วเท่านั้น แต่หากการหลีกเลี่ยงภาษีอากร พยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากร หรือฉ้อโกงภาษีอากร หรือขอคืนภาษีโดยความเท็จโดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน เช่น กรณีตามมาตรา 37 มาตรา 37 ทวิ และมาตรา 90/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นความผิดอาญาตามประมวลรัษฎากรอยู่แล้ว แต่การกระทำดังกล่าวยังถือเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและการปราบปรามการฟอกเงินอีกประการหนึ่งด้วย ซึ่งการกำหนดให้อาชญากรรมเกี่ยวกับภาษีอากรเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและการปราบปรามการฟอกเงินดังกล่าวต้องพิจารณาองค์ประกอบตามที่กฎหมายกำหนดเป็นสำคัญ

สำหรับจุดเริ่มต้นของการควบคุมความผิดฐานฟอกเงินนี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง Asia Pacific Group on Money Laundering (APG) ที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นที่ประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2540 ซึ่งตามข้อบังคับ (Terms of References) ของ APG กำหนดให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำของ Financial Action Task Force (FATF) และข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism (AML/CFT)) ซึ่ง FATF จะดำเนินการประเมินมาตรฐานการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2559

ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์กรต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (Anti-Pacific Group on Money Laundering-APG) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ซึ่งประเทศไทยในฐานะสมาชิกมีพันธกรณีที่ต้องเข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) ซึ่งได้แก่ข้อแนะนำของ Financial Action Task Force (FATF) หากประเทศไทยไม่ผ่านการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานด้าน AML/CFT และอาจเป็นเหตุให้ประเทศไทยถูกขึ้นบัญชีรายชื่อเป็นประเทศเสี่ยง ซึ่งประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของ FATF อาจใช้มาตรการตอบโต้ทางการเงินที่จะส่งผลให้การทำธุรกรรมของลูกค้า หรือสถาบันการเงินไทยเกิดความล่าช้า เพราะจะถูกสถาบันการเงินต่างประเทศตรวจสอบธุรกรรมอย่างเข้มข้น รวมทั้งประเมินความสัมพันธ์กับสถาบันการเงินไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจมีผลต่อการตัดสินใจยกเลิกความสัมพันธ์จนอาจกระทบต่อการค้าการลงทุนระหว่างประเทศของประเทศไทยได้ในที่สุด จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือในการเตรียมการดังกล่าว

กรณีดังกล่าวทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรมสรรพากร เป็นต้น ต้องเร่งปรับปรุงกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยกรมสรรพากรต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมกรณีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีและฉ้อโกงภาษีตามข้อเสนอของ FATF) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยเพิ่มมาตรา 37 ตรี ซึ่งมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 45) พ.ศ. 2560 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2560 อันเป็นวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

สรุปได้ว่า มาตรา 37 ตรีแห่งประมวลรัษฎากร เป็นกฎหมายภาษีอากรเชื่อมโยงกับกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และเป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพของกรมสรรพากรในการปราบปรามการหลีกเลี่ยง การฉ้อโกง และการขอคืนภาษี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมุ่งเน้นที่การกระทำของกลุ่มบุคคลซึ่งได้กระทำความผิดเป็นขบวนการและเกี่ยวข้องกับเงินจำนวนมาก ซึ่งหากรัฐสามารถปราบปรามผู้กระทำความผิดเหล่านี้ได้ รัฐก็จะสามารถนำเงินหรือทรัพย์สินที่ยึดมาเป็นของรัฐจากบุคคลดังกล่าวมาเป็นรายได้เพื่อใช้ในพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างจิตสำนึกและความพึงพอใจในการเสียภาษีของผู้เสียภาษีอากรที่ดีซึ่งมีจำนวนมากอีกด้วย

ที่มา : วารสาร เอกสารภาษีอากร  ปีที่ 36 ฉบับที่ 430 เดือนกรกฎาคม 2560  เขียนโดย  ดร. เพชรรัตน์ ศุภนิมิตรกุลกิจ นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร 

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?