5 ปัญหาเพื่อนบ้าน กับกฎหมายที่ควรรู้

18 มิถุนายน 2562

ปัญหาเพื่อนบ้านที่พบเจอกันบ่อย ปัญหาเหล่านี้มีกฎหมายคุ้มครองอยู่นะครับ เพราะฉะนั้นอย่าได้กังวลใจไปเลย ลองมาดูทางแก้กันดีกว่าว่าเราสามารถจัดการปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง

หลายๆ ท่านอาจพบเจอกับปัญหาเพื่อนบ้านเหล่านี้อยู่บ่อยๆ หากใช้วิธีถ้อยทีถ้อยอาศัยแล้วไม่เป็นผล วันนี้เรามี 5 ปัญหาเพื่อนบ้านที่พบบ่อย ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีกฎหมายคุ้มครองอยู่นะครับ เพราะฉะนั้นอย่าได้กังวลใจไปเลย

1.ต้นไม้รุกล้ำที่ดิน

หากเพื่อนบ้านปลูกต้นไม้ และมีส่วนของต้นไม้รุกล้ำเข้ามาในที่ดิน มีสิทธิดังต่อไปนี้

• แจ้งให้เจ้าของต้นไม้ตัดส่วนที่รุกล้ำออก ภายในระยะเวลาอันสมควร

• หากแจ้งแล้วยังไม่ตัด สามารถตัดส่วนที่รุกล้ำเองได้ (ตามมาตรา 1347 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

*หาก “ราก” ที่รุกล้ำทำให้ เกิดปัญหาต่อโครงสร้าง เช่น กำแพงพัง รากฐานบ้านพัง มีสิทธิเข้าตัดฟันได้เลย

ระวัง ! หากไม่แจ้งก่อนแล้วทำการตัดเองจะ มีความผิดฐาน ทำให้เสียทรัพย์ (ตามมาตรา 358 แห่งประมวลกฎหมายอาญา) และเป็นการทำละเมิด ต้องชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งอีกด้วย

2.จอดรถขวางหน้าบ้าน

แม้ถนนนั้นจะเป็นทางสาธารณะ แต่เมื่อมีรถมาจอดขวางประตูบ้าน จนเป็นเหตุให้เจ้าของบ้านไม่สามารถนำรถเข้าหรือออกจากบ้านได้ ถือเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่เจ้าของบ้าน

เป็นความผิด ฐานก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ (ตามมาตรา 397 แห่งประมวลกฎหมายอาญา)

ระวัง ! เจ้าของบ้านไม่มีสิทธิใช้กำลังทำลายรถของผู้อื่น โดยพลการ หากกระทำจะมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ (ตามมาตรา 358 แห่งประมวลกฎหมายอาญา)

3.สัตว์เลี้ยง

• หากสัตว์เลี้ยงของเพื่อนบ้าน กัด หรือ เข้ามาทำลายสิ่งของในบ้าน จนทำให้เกิดความเสียหายขึ้น

มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จากเจ้าของสัตว์ หรือ ผู้รับดูแลแทนเจ้าของได้ (ตาม ม. 433 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

• หากสัตว์เลี้ยงส่งเสียงดังรบกวน

เป็นความผิด ฐานก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ (ตามมาตรา 397 แห่งประมวลกฎหมายอาญา)

ระวัง ! ผู้ได้รับความเสียหายจะทำร้ายสัตว์หรือฆ่าสัตว์ ไม่ได้ เพราะจะมีความผิดทำให้เสียทรัพย์ (ตามมาตรา 358 แห่งประมวลกฎหมายอาญา) และ  ทารุณกรรมสัตว์

4.การส่งเสียงดัง

หากเพื่อนบ้านส่งเสียงดังรบกวน จนเกิดความเดือดร้อน ไม่ว่าจะโดยการตั้งวงดื่มสุรา เมาแล้วส่งเสียงดังเอะอะโวยวาย เปิดเพลงเสียงดัง หรือทะเลาะวิวาทกัน ถือเป็นความผิดอาญาลหุโทษ

• ฐานส่งเสียงหรือทำให้เกิดเสียงดังโดยไม่มีเหตุอันสมควร (ตามมาตรา 370 แห่งประมวลกฎหมายอาญา)

• ฐานก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ (ตามมาตรา 397 แห่งประมวลกฎหมายอาญา)

5.การบดบังทัศนียภาพ

เมื่อเพื่อนบ้านได้ทำการสร้างอาคาร หรือต่อเติมสิ่งปลูกสร้างที่สูงขึ้นมาก จนส่งผลให้ปิดกั้นทางลม แสงสว่าง และทัศนียภาพ เป็นการทำละเมิด (ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

เจ้าของบ้านมีสิทธิทำให้ความเดือดร้อนหรือความเสียหายหมดไป โดยการ ฟ้องร้องให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ที่บดบังทัศนียภาพนั้นได้ (ตามมาตรา 1337 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?