ส่งเงินสมทบประกันสังคมเกิน …. ขอคืนได้

17 มิถุนายน 2562

ปัจจุบันมีระเบียบสำนักงานประกันสังคมที่ระบุว่า หากนายจ้างหรือผู้ประกันตน ส่งเงินสบทบเกินจำนวนที่ต้องส่ง สามารถขอรับเงินคืนได้  และหนึ่งในกรณีที่จะขอรับเงินคืนก็คือ การที่ผู้ประกันตนทำงานกับนายจ้างหลายรายนั่นเอง  รายละเอียดติดตามได้จากบทความเรื่อง นายจ้าง ผู้ประกันตน นำส่งเงินสมทบไว้เกินจำนวนที่ต้องจ่าย ขอคืนได้

เมื่อเร็วๆ นี้นายจ้างและผู้ประกันตนอาจได้ทราบข่าวว่าสำนักงานประกันสังคมได้ออก ระเบียบสำนักงานประกันสังคม ว่าด้วยการขอรับเงินสมทบที่นำส่งไว้เกินจำนวนที่ต้องชำระคืน พ.ศ. 2560 (มีผลใช้บังคับวันที่ 29 มิถุนายน 2560) โดยมีสาระสำคัญว่า “ให้นายจ้างหรือผู้ประกันตนที่นำส่งเงินสมทบให้แก่สำนักงานประกันสังคมเกินจำนวนที่ต้องชำระ ยื่นคำร้องขอรับเงินคืนเป็นหนังสือต่อสำนักงานประกันสังคมแห่งใดแห่งหนึ่งที่สะดวกในการติดต่อ”

สิทธิของนายจ้างและผู้ประกันตนดังกล่าว มีฐานที่มาจากมาตรา 47 วรรค 4  แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างนำเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตน หรือเงินสมทบในส่วนของนายจ้างส่งให้แก่สำนักงานเกินจำนวนที่ต้องชำระ ให้นายจ้างหรือผู้ประกันตนยื่นคำร้องขอรับเงินในส่วนที่เกินคืนได้ตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนด” ดังนั้นจึงมีความหมายเฉพาะกรณี “เงินสมทบ” ที่นำส่งไว้เกินจำนวนเท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงเงินประเภทอื่นแต่อย่างใด

 

ประเด็นปัญหา : การส่งเงินสมทบเกินจำนวนที่จะต้องชำระจะเกิดขึ้นในกรณีใดได้บ้าง?

พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 กำหนดหน้าที่ของนายจ้าง ลูกจ้าง (หมายถึง ผู้ประกันตนตามมาตรา 33) ประการหนึ่งว่า มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามอัตราที่กำหนด

ปัจจุบันนายจ้าง ผู้ประกันตน (ตามมาตรา 33 ) จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตราเท่ากัน คือ ร้อยละ 5 ของค่าจ้างของลูกจ้าง (ผู้ประกันตน) โดยค่าจ้างขั้นสูงที่นำมาคำนวณต้องไม่เกิน 15,000 บาท (750 บาท / เดือน) โดยพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 47 กำหนดสาระสำคัญว่า ทุกครั้งที่นายจ้างมีการจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง (ผู้ประกันตน) ให้นายจ้างหักค่าจ้างของผู้ประกันตนตามจำนวนที่จะต้องนำส่งเป็นเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตน และให้นายจ้างนำเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนที่ได้หักไว้และเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง (ในอัตราเดียวกัน – จำนวนเท่ากัน) ส่งให้แก่สำนักงานภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้ พร้อมทั้งยื่นรายการแสดงการส่งเงินสมทบตามแบบที่กำหนด

สำหรับกรณีที่ลูกจ้าง (ผู้ประกันตน) ทำงานกับนายจ้างหลายราย นายจ้างแต่ละรายและผู้ประกันตน มีหน้าที่หรือข้อผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยมาตรา  48 กำหนดว่า ให้นายจ้างทุกรายมีหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรา 46 และมาตรา 47  ดังนั้นนายจ้างแต่ละรายจึงมีหน้าที่ต้องออกเงินสมทบ หักค่าจ้างของลูกจ้าง (ผู้ประกันตน)  และนำเงินส่งแก่สำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้ตามปกติ

ส่วนลูกจ้าง (ผู้ประกันตน) ที่ทำงานกับนายจ้างหลายรายมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับการทำงานกับนายจ้างทุกรายตามอัตราที่กล่าวมาแล้วเช่นกัน ดังตัวอย่าง

 

 

จากตัวอย่าง ลูกจ้าง (ผู้ประกันตน) ทำงานกับนายจ้างจำนวน 4 ราย แต่ละรายมีค่าจ้างไม่เท่ากัน ซึ่งนายจ้างแต่ละรายต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายและหักค่าจ้างจากลูกจ้าง (ผู้ประกันตน) เป็นเงินสมทบเพื่อส่งเข้าสมทบกองทุนประกันสังคม

  • ฐานค่าจ้างที่นำมาคำนวณเงินสมทบ : ค่าจ้างจากนายจ้าง 1,2,3 รายละ 15,000 บาท (ฐานค่าจ้างสูงสุด) ค่าจ้างจากนายจ้าง 4 จำนวน 10,000 บาท/เดือน
  • จำนวนเงินสมทบที่นายจ้างมีหน้าที่จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม : นายจ้าง 1, 2, 3 จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม  750 บาท/เดือน/ราย และนายจ้าง 4  500 บาท/เดือน
  • จำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม : จากค่าจ้างที่นายจ้าง 1,2,3 จ่ายให้ คือ 750 บาท/เดือน/ราย รวมเป็นเงิน 2,250 บาท/เดือน และจากนายจ้าง 4 จำนวน 500 บาท/เดือน รวมเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 2,750 บาท/เดือน

เนื่องจากนายจ้างและลูกจ้าง (ผู้ประกันตน) มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นประจำทุกเดือนในอัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้างของผู้ประกันตน โดยฐานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน ดังนั้นหากผู้ประกันตนได้รับค่าจ้างมากกว่า 15,000 บาท/เดือน จะถูกคำนวณเงินสมทบจากฐานค่าจ้างขั้นสูง คือ 15,000 บาท/เดือน เป็นเงินสมทบที่ผู้ประกันตนมีหน้าที่ต้องจ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 750 บาท/เดือน

ด้วยเหตุนี้เมื่อนายจ้าง 1,2,3 จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 750 บาท/เดือน/ราย และนายจ้าง 4 จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 500 บาท/เดือน  ในส่วนของนายจ้างแต่ละรายจึงไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่จะต้องชำระในแต่ละเดือน จึงไม่มีสิทธิที่จะขอคืนเงินสมทบตามระเบียบสำนักงานประกันสังคม ว่าด้วยการขอรับเงินสมทบที่นำส่งไว้เกินจำนวนที่ต้องชำระคืน พ.ศ. 2560

ส่วนผู้ประกันตน ซึ่งทำงานกับนายจ้างจำนวน 4 ราย มีค่าจ้างรวมต่อเดือน 105,000 บาท จึงมีหน้าที่นำส่งเงินสมทบจากฐานค่าจ้างสูงสุด คือ 15,000 บาท ลูกจ้าง (ผู้ประกันตน) จึงต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายเดือนละ 750 บาท แต่เมื่อนายจ้างทุกรายมีหน้าที่หักค่าจ้างที่จ่ายนำส่งเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม และเมื่อรวมเงินสมทบที่นายจ้างทุกรายนำส่งเป็นเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตน คือ 2,750 บาท/เดือน

 

ดังนั้นผู้ประกันตนจึงย่อมมีสิทธิขอรับเงินสมทบที่นำส่งไว้เกินจำนวนที่ต้องชำระตามระเบียบสำนักงานประกันสังคม ว่าด้วยการขอรับเงินสมทบที่นำส่งไว้เกินจำนวนที่ต้องชำระคืน พ.ศ. 2560

 

++++++++++++++++++++++++++++

ที่มา : บทความ นายจ้าง ผู้ประกันตน นำส่งเงินสมทบไว้เกินจำนวนที่ต้องจ่าย…ขอคืนเงินได้ตามเวลา!! โดยอาจารย์ปรานี สุขศรี วารสาร HR Society magazine ปีที่ 15 ฉบับที่ 176 เดือนสิงหาคม 2560

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?