ผิดไหม? หากนายจ้างไม่จ่ายค่าล่วงเวลา (OT) ให้ลูกจ้าง

 

จากกระแสข่าวเมื่อไม่นานมานี้มีการพูดถึงเรื่องการทำงานล่วงเวลา หรือ OT ที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานมีข้อกำหนด ห้ามนายจ้างบังคับลูกจ้างทำงานล่วงเวลาโดยลูกจ้างไม่ยินยอม

ถือเป็นหนึ่งในความคุ้มครองแรงงานที่ทำให้ลูกจ้างมีทางเลือกในการทำงานมากขึ้น เพราะจากปัญหาที่ลูกจ้างหลายคนพบเจอคือทำงานล่วงเวลาแล้วไม่ได้รับค่าจ้างในส่วนนั้น

และถูกเอารัดเอาเปรียบจนเกินไปโดยที่หลายคนไม่รู้ว่าการถูกกระทำแบบนี้จะเรียกร้องเอาผิดกับนายจ้างได้อย่างไร ดังนั้นลองตามเราไปหาคำตอบกันค่ะ

 

การทำงานล่วงเวลาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

ใน พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการทำงานล่วงเวลา และค่าล่วงเวลาไว้ดังนี้

• การทำงานล่วงเวลา หมายความว่า การทำงานนอกหรือเกินเวลาทำงานปกติหรือเกินชั่วโมงทำงานในแต่ละวันที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกันตามมาตรา 23 ในวันทำงานหรือวันหยุด

แล้วแต่กรณี

• ค่าล่วงเวลา หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน

• ค่าทำงานในวันหยุด หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในวันหยุด

• ค่าล่วงเวลาในวันหยุด หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด

 

ทำอย่างไรเมื่อต้องให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา?

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีรายละเอียดส่วนหนึ่งที่นายจ้างไม่มีสิทธิ์บังคับให้ลูกจ้างทำงานนอกเวลาได้ เว้นแต่จะปฏิบัติตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

• ให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้ โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป

• ให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา และทำงานในวันหยุดได้เท่าที่จำเป็น โดยเป็นกรณีลักษณะหรือสภาพงานต้องทำติดต่อกัน ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน

• ให้ทำงานในวันหยุด สำหรับกิจการโรงแรม สถานมหรสพ งานขนส่ง ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม และสถานพยาบาลได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน

• ชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด รวมแล้วต้องไม่เกิน 36 ชั่วโมง/สัปดาห์

 

เกณฑ์การจ่ายค่าล่วงเวลา

1. ค่าล่วงเวลาในวันทำงาน

• ลูกจ้างรายวัน คำนวณตามผลงาน รับ 1.5 เท่าของค่าจ้าง

• ลูกจ้างรายเดือน รับ 1.5 เท่าของค่าจ้าง โดยหากนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาต่อจากเวลาทำงานปกติเกิน 2 ชั่วโมง ต้องพักก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 20 นาที

2. ค่าล่วงเวลาในวันหยุดประจำสัปดาห์ หรือวันหยุดตามประเพณี หรือวันหยุดพักผ่อนประจำปี

• ลูกจ้างรายวัน คำนวณตามผลงาน รับ 3 เท่าของค่าจ้าง

• ลูกจ้างรายเดือน รับ 3 เท่าของค่าจ้าง

 

ข้อควรรู้! ตามมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาเป็นเงินเท่านั้น ไม่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นวันหยุดได้

 

ผิดไหมหากนายจ้างไม่จ่ายค่าล่วงเวลา (OT) ให้ลูกจ้าง?
นายจ้างที่ไม่จ่ายค่าล่วงเวลา (OT) ให้ลูกจ้าง ถือเป็นการกระทำความผิดกฎหมายแรงงาน โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

 

อ้างอิงข้อมูล
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?