รู้หรือไม่ รับช่วงสิทธิ คืออะไร?

การรับช่วงสิทธิ เกี่ยวข้องกับสถานะและสิทธิของเจ้าหนี้ที่สามารถเปลี่ยนไปหรือสิ้นสุดลงได้ หากมีบุคคลที่สามเข้ามาชดใช้หนี้แทนลูกหนี้ ซึ่งมีรายละเอียดอย่างไร และเจ้าหนี้-ลูกหนี้ควรทำอย่างไร วันนี้ธรรมนิติจะพาไปทำความเข้าใจและหาคำตอบพร้อมๆ กัน

รับช่วงสิทธิ คืออะไร?

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 วรรคแรก ระบุว่า บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง

ดังนั้น รับช่วงสิทธิ จึงหมายถึง การที่สิทธิเรียกร้องหรือสิทธิการถือครองหนี้ มีการเปลี่ยนมือจากเจ้าหนี้คนเดิม ไปยังเจ้าหนี้คนใหม่ตามอำนาจของกฎหมาย

กล่าวคือ เจ้าหนี้คนใหม่ ได้ชำระหนี้แทนลูกหนี้ให้กับเจ้าหนี้คนเดิม ซึ่งผลจากการชำระหนี้แทนนี้ ทำให้สิทธิที่เจ้าหนี้คนเดิมมีถูกโอนย้ายไปให้เจ้าหนี้คนใหม่ตามกฎหมายกำหนด ส่วนลูกหนี้ก็ยังมีสถานะเป็นหนี้ แต่เปลี่ยนเจ้าหนี้จากคนเก่าเป็นคนใหม่

ตัวอย่าง

A กู้ยืมเงินจาก B โดยมี C เป็นผู้ค้ำประกัน

แต่เมื่อถึงกำหนดนัดชำระ A ไม่ยอมชำระหนี้ให้ B

ทำให้ C ในฐานะผู้ค้ำประกัน ต้องชำระหนี้แทน A

ดังนั้น สถานะหนี้ระหว่าง A กับ B จึงสิ้นสุด แต่ C จะอยู่ในสถานะเจ้าหนี้ และ A ยังมีสถานะเป็นลูกหนี้ของ C แทน เพราะถือเป็นการรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้เงินกู้

กฎหมายเกี่ยวกับการรับช่วงสิทธิ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 227  เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้นๆ ด้วยอำนาจกฎหมาย

มาตรา 229 การรับช่วงสิทธิย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมายและย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

(1) บุคคลซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่เอง และมาใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้อีกคนหนึ่งผู้มีสิทธิจะได้รับใช้หนี้ก่อนตน เพราะเขามีบุริมสิทธิ หรือมีสิทธิจำนำ จำนอง

(2) บุคคลผู้ใดไปซึ่งอสังหาริมทรัพย์ใด และเอาเงินราคาค่าซื้อใช้ให้แก่ผู้รับจำนองทรัพย์นั้นเสร็จไป

(3) บุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกันผู้อื่น หรือเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้น และเข้าใช้หนี้นั้น

มาตรา 230 ถ้าในการที่เจ้าหนี้นำบังคับยึดทรัพย์อันหนึ่งอันใดของลูกหนี้นั้น บุคคลผู้ใดจะต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิในทรัพย์อันนั้นเพราะการบังคับยึดทรัพย์ไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นมีสิทธิจะเข้าใช้หนี้เสียแทนได้ อนึ่งผู้ครองทรัพย์อันหนึ่งอันใด ถ้าจะต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิครองทรัพย์นั้นไปเพราะการบังคับยึดทรัพย์ ก็ย่อมมีสิทธิจะทำได้เช่นเดียวกับที่ว่ามานั้น

ถ้าบุคคลภายนอกผู้ใดมาใช้หนี้แทนจนเป็นที่พอใจของเจ้าหนี้แล้ว บุคคลผู้นั้นย่อมเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ แต่สิทธิเรียกร้องอันนี้จะบังคับให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่เจ้าหนี้หาได้ไม่

การรับช่วงสิทธิมีลักษณะอย่างไร?

1. รับช่วงสิทธิเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย ไม่คำนึงถึงว่าคู่กรณีต้องการให้มีผลตามนั้นหรือไม่

2. รับช่วงสิทธิมีจำกัดอยู่เฉพาะที่กฎหมายกำหนดไว้ให้รับช่วงสิทธิได้เท่านั้น

3. รับช่วงสิทธิเกิดขึ้นโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามกฎหมาย รับชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แทนลูกหนี้

4. รับช่วงสิทธิมีผลให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ชำระหนี้แทนลูกหนี้ สามารถสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้คนใหม่ของลูกหนี้

การรับช่วงสิทธิเกิดขึ้นได้อย่างไร?

1. กรณีลูกหนี้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ ตามมาตรา 227

2. กรณีที่มีการชำระหนี้ของเจ้าหนี้ด้อยสิทธิ ตามมาตรา 229 (1)

3. กรณีรับช่วงสิทธิของผู้ซื้อทรัพย์จำนอง ตามมาตรา 229 (2)

4. กรณีรับช่วงสิทธิของบุคคลที่มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น ตามมาตรา 229 (3)

5. ผู้เสี่ยงภัยจะเสียสิทธิในทรัพย์จากการที่เจ้าหนี้นำบังคับยึดทรัพย์ ตามมาตรา 230

ผลของการรับช่วงสิทธิ

การรับช่วงสิทธิส่งผลให้สิทธิการเรียกร้องเปลี่ยนมือจากเจ้าหนี้เดิมไปเป็นของผู้รับช่วงสิทธิ ทำให้ผู้รับช่วงสิทธิมีสิทธิเช่นเดียวกับเจ้าหนี้เดิม และใช้สิทธิของเจ้าหนี้เดิมได้ในนามของตนเอง

 

อ้างอิงข้อมูล

สำนักงานกิจการยุติธรรม

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?