“ผู้เสียหาย” ในทางกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

11 มีนาคม 2565

ผู้เสียหายหรือเหยื่ออาชญากรรม

คือบุคคลที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดหรืออาชญากรรมซึ่งอาชญากรรมส่วนใหญ่ก็มักจะมีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมนั้นเสมอ เว้นแต่อาชญากรรมบางอย่างที่ตัวผู้กระทำความผิดเป็นเหยื่อเอง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเรียกเหยื่อของอาชญากรรมว่า ผู้เสียหาย”

ความหมายของ “ผู้เสียหาย”

บุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ บัญญัติไว้ใน มาตรา 4 มาตรา 5 และ มาตรา 6 ดังนั้น จากบทบัญญัติของกฎหมายผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มี 2 ประเภท คือ

•  ผู้เสียหายที่แท้จริง

•  ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย

 

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาการเป็นผู้เสียหาย

พิจารณาจากหลักเกณฑ์ 3 ประการ ดังนี้

•  มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น

•  บุคคลนั้นได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดนั้น

•  บุคคลนั้นต้องไม่เป็นผู้เข้าไปเกี่ยวข้องร่วมกระทำความผิดนั้นด้วย (ผู้เสียหายโดยนิตินัย)

ผู้เสียหายโดยนิตินัย คือ ผู้ที่ไม่มีส่วนในการกระทำความผิด หรือไม่เป็นผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน หรือรู้เห็นในการกระทำความผิดต่อกฎหมาย

 

การพิจารณาว่าเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย

•  บุคคลนั้นมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดหรือไม่ เช่น สมัครใจเข้าวิวาทกันเอง, ขับรถด้วยความประมาททั้งคู่

•  บุคคลนั้นยินยอมให้มีการกระทำความผิดต่อตน เช่น หญิงยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก, เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ยินยอมให้ผู้อื่นกระทำชำเราตน

•  บุคคลนั้นมีส่วนในการก่อให้เกิดความผิด และตนได้รับความเสียหาย เช่น ติดสินบนเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ล่อให้กระทำความผิดแล้วเข้าจับกุม

 

ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย

ได้แก่ บุคคลที่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายที่แท้จริงในเรื่องต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 “บุคคลดังระบุ” ไว้ใน มาตรา 4 มาตรา 5 และ มาตรา 6 มีอำนาจจัดการต่อไปนี้แทนผู้เสียหายตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน มาตรานั้น ๆ

•  ร้องทุกข์

•  เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้ารวมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ

•  เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

•  ถอนฟ้องคดีอาญาหรือคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

•  ยอมความในคดีความผิดส่วนตัว

 

บุคคลที่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย

•  ผู้มีอำนาจจัดการแทน ต้องได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายก่อน เช่นหญิงมีสามีอาจอนุญาตให้สามีจัดการแทนได้ เว้นแต่ เป็นกรณีตาม มาตรา 5 ไม่ต้องได้รับอนุญาตเลย ตามมาตรา 4 ในคดีอาญา ซึ่งผู้เสียหายเป็นหญิงมีสามี หญิงนั้นมีสิทธิฟ้องคดีได้เอง

•  สามีมีสิทธิฟ้องคดีอาญาแทน ภรรยาได้ ต่อเมื่อได้รับอนุญาตโดยชัดแจ้ง

สามีสามารถจัดการแทนภริยาได้หากได้รับความยินยอมโดยชัดแจ้ง (แต่ในทางกลับกันภรรยาไม่มีสิทธิจัดการแทนสามี) และจะต้องเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

ผู้มีอำนาจจัดการแทนโดยผลของกฎหมาย ไม่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายก่อน กรณีตามมาตรา 5 บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้

•  ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิด ซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถ

•  บุพการี ผู้สืบสับดาน สามีหรือภรรยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้

•  ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลเฉพาะความผิด ซึ่งกระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น

ผู้แทนโดยชอบธรรม หมายถึง ผู้แทนโดยชอบธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น บิดามารดา (บิดาต้องชอบด้วยกฎหมาย) ผู้ปกครอง ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้อนุบาล

 

การร้องทุกข์สำหรับผู้เยาว์

ผู้เยาว์ร้องทุกข์เองได้ ถ้ามีความรู้สึกผิดชอบแล้ว (อายุพอสมควร) แต่จะฟ้องคดีหรือขอเข้าเป็นโจทย์ร่วมกับอัยการไม่ได้ แม้จะได้รับความยินยอมก็ตาม ม.5(2) เฉพาะกรณีผู้เสียหายที่แท้จริงถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้

กรณีตาม ม.6 ในคดีอาญาซึ่งเสียหายเป็นผู้เยาว์ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือเป็นผู้วิกลจริตหรือคนไร้ความสามารถไม่มีผู้อนุบาลหรือผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลไม่สามารถจะทำการตามหน้าที่โดยเหตุหนึ่งเหตุใดรวมทั้งมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เยาว์ หรือคนไร้ความสามารถนั้น ๆ ญาติของผู้นั้นหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องอาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งเป็นผู้แทนเฉพาะคดีได้

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?