ผู้ค้ำประกันมีสิทธิ์อะไรบ้าง หากเกิดการเบี้ยวหนี้?

ผู้ค้ำประกันมีสิทธิ์อะไรบ้าง หากเกิดการเบี้ยวหนี้?

ปัญหากระอักกระอ่วนใจสำหรับคนค้ำประกัน ตั้งแต่จรดปากกาลงนามสัญญาค้ำประกัน คือไม่รู้ว่าหวยจะมาออกให้ถูกเบี้ยวหนี้วันไหน เพราะหากเป็นแบบนั้นแล้วจากตำแหน่งผู้ค้ำอาจกลายเป็นลูกหนี้ในชั่วพริบตาเลยทีเดียว ดังนั้นในฐานะผู้ค้ำประกันจะมีสิทธิ์ปกป้องตัวเองได้อย่างไรบ้าง วันนี้ ธรรมนิติ จะพาไปหาคำตอบกัน

การค้ำประกัน คืออะไร?

การค้ำประกัน หมายถึงการประกันการชำระหนี้ด้วยบุคคลอันเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งบุคคลอื่นนอกเหนือจากเจ้าหนี้และลูกหนี้ยอมตกลงกับเจ้าหนี้ว่าหากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ตนจะยอมชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ เป็นการเอาความน่าเชื่อถือหรือความมีฐานะทางการเงินของตนเองเข้าประกันจะชำระหนี้ให้ลูกหนี้ บุคคลนี้เรียกว่า “ผู้ค้ำประกัน”

***ในทางกฎหมาย ผู้ค้ำประกัน หมายถึง บุคคลหนึ่งที่ยอมรับที่จะชำระหนี้แทนอีกบุคคล หากบุคคลนั้นไม่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้

ดังนั้นการค้ำประกันจึงคล้ายการซื้อใจ ไว้ใจ ส่วนใหญ่ผู้ค้ำประกันจะเป็นญาติ พี่ น้อง เพื่อนสนิท และด้วยเหตุเพราะความไว้ใจ เมื่อเกิดการเบี้ยวหนี้ มีการฟ้องร้อง ไปจนถึงยึดทรัพย์ สายใยความสัมพันธ์ก็มักขาดมานักต่อนัก ดังนั้น ก่อนรับปากลงนามทำสัญญากับใคร คิดให้ดีๆ ความเป็นคนดีมีน้ำใจ มีราคาเสมอ

ผู้ค้ำประกันมีสิทธิ์อะไรบ้าง หากเกิดการเบี้ยวหนี้?

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีข้อคุ้มครองผู้ค้ำประกัน ดังนี้

•  มาตรา 688 เมื่อเจ้าหนี้ทวงให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะขอให้เรียกลูกหนี้ชำระก่อนก็ได้ เว้นแต่ลูกหนี้จะถูกศาลพิพากษาให้เป็นคนล้มละลายเสียแล้ว หรือไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ไปอยู่แห่งใดในพระราชอาณาเขต

•  มาตรา 689 ถึงแม้จะได้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดั่งกล่าวมาในมาตราก่อนนั้นแล้วก็ตาม ถ้าผู้ค้ำประกันพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้นั้นมีทางที่จะชำระหนี้ได้และการที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นจะไม่เป็นการยากไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องบังคับการชำระหนี้รายนั้นเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน

แต่เมื่อผู้ค้ำประกันยังคงไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร ต้องแบกรับหนี้ที่ไม่ได้ก่อ จึงเกิดการผลักดันให้มีกฎหมายที่เรียกว่า “กฎหมายค้ำประกัน” ฉบับปรับปรุงใหม่ ปี 2558 เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อคุ้มครองสิทธิ์ และให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกันมากยิ่งขึ้น โดยมีสาระที่เป็นธรรมกับผู้ค้ำประกันเพิ่มขึ้น ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2558

แม้จะมีกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกันมากขึ้น แต่ก็อาจจะไม่ได้หมายความว่าเราจะหลุดออกจากสัญญาค้ำประกันได้ ดังนั้น ควรตัดไฟแต่ต้นลม ปฏิเสธการค้ำเป็นดีที่สุด ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้นั้นๆ ในการพิจารณาศักยภาพผู้กู้ด้วยตัวเอง ดีกว่าแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแล้วมานั่งค้นหาข้อมูล ผู้ค้ำประกันมีสิทธิ์อะไรบ้าง หากเกิดการเบี้ยวหนี้ อย่างที่ ธรรมนิติ นำมาฝากกันในวันนี้

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

กระทรวงยุติธรรม

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?