รู้หรือไม่? จดทะเบียนสมรสซ้อน ถือเป็นโมฆะ มีสถานะเท่ากับไม่ได้จดทะเบียนสมรส

12 ตุลาคม 2565

ปัญหาครอบครัวที่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากเจอกับตัว คือการแต่งงานอยู่กันฉันสามีภรรยา มีทะเบียนสมรสเป็นหลักประกัน แต่วันดีคืนดีเพิ่งรู้ว่าทะเบียนสมรสที่มีกลายเป็นทะเบียนสมรสซ้อน ซึ่งมีค่าเท่ากับไม่ได้จดทะเบียน หากเป็นแบบนี้แล้วควรทำอย่างไร และทางกฎหมายจะมีผลอย่างไรบ้าง วันนี้เรามีคำตอบมาฝาก

 

การสมรสซ้อน คืออะไร?

การสมรสซ้อน คือการที่ชายหรือหญิงทำการสมรสตามกฎหมายกับบุคคลอื่นในขณะที่ตนนั้นยังมีคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนแล้ว และยังไม่ได้หย่าร้างตามกฎหมาย

กรณีการจดทะเบียนสมรสซ้อนที่เกิดขึ้นนี้ ในทางกฎหมายถือเป็นโมฆะ ไม่มีผลใดๆ ตามกฎหมาย และมีค่าเท่ากับไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรส

การสมรสซ้อนอาจเกิดขึ้นได้จากกรณีต่างๆ เช่น

• ชายหรือหญิงหลอกลวงผู้อื่นให้มาสมรสด้วย ทั้งๆ ที่ตนมีคู่สมรสตามกฎหมายอยู่ก่อนแล้ว

• ผู้ที่เป็นคู่สมรสซ้อนเองทราบดีว่าอีกฝ่ายมีคู่สมรสตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ก็ยังดึงดันจะสมรสต่อ

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนสมรสซ้อน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 บัญญัติว่า “ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้”

หมายถึงการที่บุคคลใดได้ทำการสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองว่าคู่สมรสของตนจะไม่สามารถไปสมรสกับบุคคลอื่นได้อีก หากมีการจดทะเบียนสมรสครั้งที่ 2 เกิดขึ้นโดยที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังไม่หย่าขาดตามกฎหมาย การสมรสครั้งที่ 2 นี้ ถือเป็นการสมรสซ้อนและเป็นโมฆะ ไม่มีผลทางกฎหมาย ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา มาตรา 1495 ซึ่งบัญญัติว่า “คำพิพากษาศาลเท่านั้นจะแสดงว่าการสมรสใดเป็นโมฆะ”

โดยคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายสามารถฟ้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าการสมรสครั้งที่ 2 ของคู่สมรสตัวเองนั้นเป็นโมฆะได้ แต่ถ้ายังไม่มีคำพิพากษาศาล ก็ยังถือว่าชายหญิงที่สมรสครั้งหลังยังคงเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย แต่หากมีคำพิพากษาศาลแล้ว การสมรสซ้อนนั้นก็เท่ากับว่าไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรส และไม่มีผลทางกฎหมายตั้งแต่เริ่ม

สำหรับชายหญิงที่ทำการสมรสกันแล้ว และเพิ่งรู้ว่าสถานะสมรสนั้นกลายเป็นการสมรสซ้อน โดยที่ไม่รู้มาก่อนว่าอีกฝ่ายมีการสมรสอยู่ก่อนแล้วและยังไม่ได้หย่าขาดตามกฎหมาย ก็ถือว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะ แม้จะไม่รู้มาก่อนก็ตาม

 

ทำอย่างไรหากไม่แน่ใจว่าคู่ของเราได้จดทะเบียนสมรสอยู่ไหม?

ชายหรือหญิงที่ไม่แน่ใจว่าคู่รักที่เราคบหา จนตัดสินใจแต่งงาน พร้อมจดทะเบียนสมรสด้วย ได้มีการจดทะเบียนสมรสมาก่อน และยังไม่ได้หย่าหรือไม่ สามารถยื่นเรื่องเพื่อขอตรวจสอบได้ที่อำเภอ หรือสำนักงานเขตในพื้นที่ที่พักอาศัยได้

 

การสมรสซ้อนมีความผิดอย่างไร?

การสมรสซ้อนอาจเกิดขึ้นได้จากกรณีต่างๆ เช่น

• ชายหรือหญิงหลอกลวงผู้อื่นให้มาสมรสด้วย ทั้งๆ ที่ตนมีคู่สมรสตามกฎหมายอยู่ก่อนแล้ว

• ผู้ที่เป็นคู่สมรสซ้อนเองทราบดีว่าอีกฝ่ายมีคู่สมรสตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ก็ยังดึงดันจะสมรสต่อ

ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ยังมีกฎหมายที่ระบุบทลงโทษผู้กระทำการสมรสซ้อน โดยเฉพาะในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมัน ฝรั่งเศส จีน และญี่ปุ่น จะมีการบัญญัติให้การสมรสซ้อนเป็นความผิดอาญาไว้อย่างชัดเจน

แต่สำหรับประเทศไทย ถือว่าการสมรสซ้อนนั้นมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ซึ่งคู่กรณีในการสมรสซ้อนที่มีเจตนาแย่งคู่สมรสของผู้อื่นนั้น ต้องรับผิดฐานเป็นตัวการร่วม

 

อ้างอิงข้อมูล

สำนักงานกิจการยุติธรรม

สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?