“การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์” คืออะไรและมีผลทางกฎหมายอย่างไร?

11 มีนาคม 2565

ในการลงลายมือชื่อที่มีผลผูกพันตามกฎหมายการลงลายมือชื่อ มี 2 ประเภท คือ การลงลายมือชื่อจริง และ การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์

ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์

ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-signature)

หมายความว่า อักษร อักขระ ตัวเลข เสียง หรือสัญลักษณ์อื่นใดที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งนำมาใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น และเพื่อแสดงว่าบุคคลดังกล่าวยอมรับข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น

โดยตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 รับรองลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้มีผลทางกฎหมายเช่นเดียวกับลายมือชื่อจริงบนเอกสารกระดาษ โดยจะมีผลทางกฎหมายเมื่อเข้าหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

•  เป็นลายมือชื่อที่สามารถระบุตัวผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่อได้

•  เจ้าของลายมือชื่อแสดงเจตนาที่จะลงลายมือชื่ออย่างชัดเจน

•  ต้องเป็นการใช้ระบบลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ หรือลักษณะเป็นลายมือชื่อดิจิตัล (Digital signature)

 

ตัวอย่างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์

ตัวอย่างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ดังต่อไปนี้

•  การพิมพ์ชื่อท้ายอีเมล

•  การสแกนภาพลายมือชื่อที่เขียนด้วยมือและแนบกับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์

•  การคลิกปุ่มยอมรับหรือตกลง

•  การทำเครื่องหมายในช่องแสดงการยอมรับ

•  การใช้สไตลัส (Stylus) เขียนลายมือชื่อบนหน้าจอหรือบันทึกในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์

•  การเข้ารหัส, ลายนิ้วมือ

•  การใช้ลายมือชื่อดิจิทัล

•  public key infrastructure (PKI)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8089/2556

การที่จำเลยนำบัตรกดเงินสดควิกแคชไปถอนเงินและใส่รหัสส่วนตัวเปรียบได้กับการลงลายมือชื่อตนเอง ทำรายการเบิกถอนเงินตามที่จำเลยประสงค์ และกดยืนยันทำรายการพร้อมรับเงินสดและสลิป การกระทำดังกล่าวถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินจากโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7,8 และมาตรา 9 ประกอบกับคดีนี้จำเลยมีการขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้สินเชื่อเงินสดควิกแคชที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์มีเอกสารซึ่งมีข้อความชัดว่าจำเลยรับว่าเป็นหนี้โจทก์ขอขยายเวลาชำระหนี้ โดยจำเลยลงลายมือชื่อมาแสดง จึงรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

 

ดังนั้นการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในการทำธุรกรรม เช่น การยินยอม อนุมัติ เห็นชอบ รับรอง หรือการรับข้อความ ฯลฯ หากกระทำตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวที่ได้กล่าวไป ถือว่าการลงลายมือชื่อมีผลผูกพันตามกฎหมายอย่างสมบูรณ์

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?