หลักการเปิดเผยข้อมูลในรายงานการเงิน

ลักการเปิดเผยข้อมูลในรายงานการเงิน

18 เมษายน 2563

ลักษณะและจำนวนของข้อมูลที่กิจการควรเปิดเผยไว้ในรายงานการเงินนั้นมาจากการตัดสินใจของผู้บริหารของกิจการ โดยพิจารณาจาก 2 เรื่องคือ รายละเอียดที่เพียงพอและสาระสำคัญ

1. รายละเอียดที่เพียงพอ ข้อมูลนั้นควรมีรายละเอียดเพียงพอที่จะทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างการเปิดเผยข้อมูลกับการไม่เปิดเผยข้อมูลต่อผู้ใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้ใช้ข้อมูล

2. สาระสำคัญ ข้อมูลควรมีสาระสำคัญเพียงพอที่จะทำให้ผู้ใช้ข้อมูลเข้าใจในข้อมูลนั้นได้ โดยคำนึงถึงต้นทุนในการจัดทำข้อมูลและผลประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ข้อมูลนั้น

ผู้รับผิดชอบของกิจการควรระมัดระวังในการเปิดเผยข้อมูลที่มีรายละเอียดมากเกินไป ที่อาจทำให้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้เวลามากในการทำความเข้าใจกับข้อมูลที่ได้รับ หรืออาจทำให้ผู้ใช้ข้อมูลยากจะเข้าใจในข้อมูลนั้น เนื่องจากข้อมูลรายละเอียดที่มากไปนั้นลดความสำคัญของข้อมูลที่น่าสนใจลงไป
การแสดงรายการและการเปิดเผยข้อมูลไว้ในงบการเงินควรเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจโดยแสดงตัวเลขในงบการเงิน มีข้อมูลเพิ่มเติมข้อมูลอื่นที่เกี่ยวกับรายงานการเงิน และข้อมูลอื่นที่อยู่นอกรายงานทางการเงิน ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 1 (ปรับปรุง 2561) เรื่อง การนำเสนองบการเงิน ได้กำหนดว่างบการเงินที่สมบูรณ์ประกอบด้วย
-งบแสดงฐานะการเงิน (Statement of Financial Position)
-งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ (Statement of Comprehensive Income)
-งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ (Statement of Changes in Equity)
-งบกระแสเงินสด (Statement of Cash Flow)
-หมายเหตุประกอบงบการเงิน (Notes to Financial Statements)

การสอบทานการเปิดเผยข้อมูลของกิจการจึงต้องพิจารณาว่าข้อมูล และรายการที่กิจการจัดทำได้นำเสนอไว้ในรายงานการเงิน ได้ยึดวิธีปฏิบัติทั่วไปของการให้ข้อมูลที่ว่าข้อมูลใดถ้าละเลยหรือไม่เปิดเผยแล้ว จะทำให้ผู้ใช้ข้อมูลหลงผิดหรือเข้าใจผิด แสดงว่าข้อมูลนั้นมีความสำคัญ ข้อมูลที่สำคัญและเพียงพอจะมีอิทธิพลต่อดุลยพินิจและการตัดสินใจของผู้ใช้ ข้อมูลนั้นควรเปิดเผยให้ผู้ใช้ข้อมูลทราบ เรียกว่า หลักการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ
หลักการเปิดเผยข้อมูลตามที่จำเป็น เพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินสามารถตีความหมายของข้อมูลนั้นได้โดยปกติ โดยพิจารณาจากการ 4 เรื่องดังต่อไปนี้
1)ความเพียงพอ การเปิดเผยข้อมูลของกิจการต้องเพียงพอเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด หรือทำให้เข้าใจผิด
2)ความถูกต้อง ข้อมูลที่ทำการเปิดเผยจะต้องมีความถูกต้องเป็นจริงจึงจะทำให้ผู้ใช้งบการเงินเข้าใจถึงรายการและเหตุการณ์ทางบัญชีที่กิจการนำเสนอ
3)ความครบถ้วน การเปิดเผยข้อมูลทุกรายการที่เกี่ยวข้องต้องครบถ้วน ข้อมูลที่เปิดเผยนั้นไม่ควรมากเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เนื่องจากทำให้ข้อมูลหมดความสำคัญ และทำให้เกิดความยากลำบากในการตีความ
4)ความมีสาระสำคัญ กิจการควรเปิดเผยข้อมูลที่มีสาระสำคัญการแสดงรายการที่มีสาระสำคัญจะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจของผู้ใช้งบการเงิน

ที่มา : บางส่วนจากบทความ “การสอบทานการเปิดเผยข้อมูล” โดย ดร. สิงห์ชัย อรุณวุฒิพงศ์ Section : บัญชี / Column : ตรวจสอบบัญชี
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ ….. วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 38 ฉบับที่ 451 เดือนเมษายน 2019 หรือสมัครสมาชิก“วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e-Magazine Index

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?