กลุ่มอายุน้อยร้อยล้าน และวัยรุ่นสร้างตัว สามารถทำพินัยกรรมได้หรือไม่?

12 ตุลาคม 2565

ในยุคที่โลกออนไลน์กลายเป็นทางเลือกที่ผู้คนหันมาจับจองเพื่อสร้างรายได้ ทำให้กลุ่มวัยรุ่นมีพื้นที่ในการทำธุรกิจและสร้างรายได้ด้วยตัวเอง เรียกได้ว่าถึงอายุยังน้อยก็มีเงินหลักร้อยล้าน และสร้างเนื้อสร้างตัวกันได้ ซึ่งในอีกมุมแม้จะอายุยังน้อยแต่ก็ต้องมองหาหลักประกันหรือความมั่นคงให้กับตัวเองและทายาทด้วย ดังนั้นจึงมีคำถามตามมาว่าผู้คนกลุ่มวัยรุ่นนี้จะสามารถทำพินัยกรรมเพื่อส่งต่อมรดกให้กับพ่อแม่และทายาทคนอื่นๆ ได้หรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกัน

พินัยกรรมคืออะไร?

พินัยกรรม เป็นเอกสารที่ใช้ระบุถึงความต้องการของเจ้ามรดกเมื่อเสียชีวิตไปแล้ว ว่าต้องการมอบทรัพย์สินให้ใครบ้าง (เป็นการแสดงเจตนาเผื่อตาย) ซึ่งสามารถบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อลดความขัดแย้งหรือการแย่งชิงมรดกภายหลัง

 

พินัยกรรมมีกี่แบบ?

กฎหมายกำหนดรูปแบบพินัยกรรมไว้ทั้งหมด 6 แบบ คือ

1. พินัยกรรมธรรมดา เป็นพินัยกรรมที่มีแบบฟอร์มให้กรอกรายละเอียด ต้องทำเป็นหนังสือโดยจะเขียนหรือพิมพ์ก็ได้ แล้วลงวันเดือนปีที่ทำ พร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน และพยานต้องลงชื่อรับรองด้วย

2. พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ผู้ทำต้องเขียนขึ้นด้วยลายมือตัวเองทั้งฉบับ จะพิมพ์ไม่ได้ มีวันเดือนปีที่ทำและลงลายมือชื่อของคนที่ทำพินัยกรรมโดยไม่ต้องมีพยาน

3. พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง คือพินัยกรรมที่ต้องทำที่สถานที่ราชการ หากเป็นกรุงเทพฯ ต้องไปที่สำนักงานเขต ถ้าเป็นต่างจังหวัดเป็นที่ว่าการอำเภอ โดยผู้ทำพินัยกรรมแจ้งข้อความต่อเจ้าหน้าที่และพยานอย่างน้อย 2 คน พร้อมกัน แล้วเจ้าหน้าที่จดข้อความตามที่ผู้ทำพินัยกรรมบอก จากนั้นจะอ่านข้อความให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยาน 2 คน ฟัง หากถูกต้องก็ลงลายมือชื่อทั้งผู้ทำพินัยกรรมและพยานทั้ง 2 คน และพินัยกรรมจะสมบูรณ์ได้ต้องลงลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ที่จด มีวันเดือนปี และประทับตราตำแหน่งเจ้าหน้าที่ด้วย

4. พินัยกรรมแบบเอกสารลับ เป็นการทำพินัยกรรมแบบปิดผนึก และนำไปยื่นที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ พร้อมพยาน 2 คน ยืนยันว่าเป็นพินัยกรรมของผู้ทำจริง หลังจากนั้นต้องลงลายมือชื่อของผู้ทำ พยาน และเจ้าหน้าที่ พร้อมระบุวันเดือนปีที่ปิดผนึก และประทับตราตำแหน่ง

5. พินัยกรรมแบบวาจา เป็นพินัยกรรมที่ผู้ทำพินัยกรรมอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถทำพินัยกรรมแบบอื่นได้ เช่น เจ็บป่วยใกล้ตาย โดยผู้ทำพินัยกรรมแจ้งข้อความที่ต้องการในพินัยกรรมต่อหน้าพยานที่อยู่ตรงหน้าอย่างน้อย 2 คน แล้วพยานจะเป็นผู้ไปแจ้งข้อความและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแก่เจ้าหน้าที่ที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอ เมื่อเจ้าหน้าที่จดข้อความตามที่ได้รับแจ้งแล้วจะให้พยานที่มาแจ้งลงลายมือชื่อ

6. พินัยกรรมแบบทำตามกฎหมายต่างประเทศ เป็นกรณีที่คนไทยที่อยู่ต่างประเทศต้องการทำพินัยกรรม ซึ่งจะเลือกทำตามแบบกฎหมายในประเทศที่ตนอยู่ หรือทำแบบของกฎหมายไทยก็ได้ หากทำพินัยกรรมตามแบบกฎหมายไทย ก็ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ โดยอำนาจและหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตหรือนายอำเภอที่ทำพินัยกรรม จะตกอยู่แก่พนักงานทูตหรือกงสุลฝ่ายไทย หรือให้พนักงานที่มีอำนาจตามกฎหมายของประเทศที่ทำพินัยกรรม เป็นผู้บันทึกข้อความไว้เป็นหลักฐานก็ได้

 

อายุยังน้อยสามารถทำพินัยกรรมได้หรือไม่?

พินัยกรรมจะต้องทำตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนด จึงจะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย โดยผู้ที่สามารถทำพินัยกรรมได้ไม่จำเป็นต้องมีอายุมาก หรือต้องใกล้เสียชีวิตก่อน เพียงมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ก็สามารถทำได้

• มีอายุครบ 15 ปีขึ้นไป

• ไม่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

• มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนในขณะที่ทำพินัยกรรม

 

ข้อจำกัดหรือข้อควรระวังเมื่อทำพินัยกรรม

1. พินัยกรรมเป็นนิติกรรมที่ต้องทำตามแบบที่กำหนดเท่านั้น

2. ผู้ทำพินัยกรรมต้องมีอายุ 15 ปี ขึ้นไป

3. ผู้รับพินัยกรรม หรือคู่สมรสของผู้รับพินัยกรรม ไม่สามารถเป็นพยานในการทำพินัยกรรมได้

4. ผู้ที่เป็นพยาน จะต้องไม่เป็นผู้เยาว์หรือผู้หย่อนความสามารถ และต้องไม่เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพินัยกรรมนั้นด้วย

5. ควรมีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก โดยสามารถระบุผู้ที่เจ้ามรดกไว้ใจลงในพินัยกรรมได้เลย

6. สิทธิ์ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ต่างๆ ตามความต้องการของผู้ทำพินัยกรรม ก็สามารถระบุลงไปในเนื้อหาพินัยกรรมได้เลย

7. ทรัพย์สินที่ระบุในพินัยกรรม ต้องเป็นทรัพย์สินหรือสิทธิ์ของผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น และต้องแยกสินส่วนตัวออกจากสินสมรสด้วย

8. กรณีเงินประกันชีวิต เงินบำเหน็จตกทอด เงินบำนาญตกทอด หรือเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ตกทอด ไม่ถือเป็นมรดกที่ระบุในพินัยกรรม เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่เจ้ามรดกมีอยู่ก่อนตาย

 

การทำพินัยกรรมไม่ใช่เรื่องซับซ้อน แม้จะอายุยังน้อยก็จัดสรรเงินร้อยล้านที่มีให้กับพ่อแม่หรือทายาทได้ เพียงมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด และทำถูกต้องตามรูปแบบ ก็มีผลได้ทางกฎหมาย แม้วันไหนที่ไม่อยู่ คนข้างหลังก็ได้รับการจัดสรรมรดกตามความต้องการของผู้ทำ จบปัญหาการแย่งชิงหรือขัดแย้งกันระหว่างทายาทได้

 

อ้างอิงข้อมูล

สำนักงานกิจการยุติธรรม

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?