ทำอย่างไรหากเป็นแรงงานนอกระบบแล้วถูกลอยแพ?

12 ตุลาคม 2565

ข่าวคราวการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม การลอยแพ การเลิกจ้างกลุ่มแรงงานนอกระบบ มีมาให้เห็นตามสื่อต่างๆ มากมาย แล้วเคยสงสัยกันไหมว่า กลุ่มคนเหล่านี้จะมีทางออกอย่างไร ใครจะช่วยพวกเขาได้ หรือถ้าเราคือหนึ่งในคนกลุ่มนี้จะต้องทำอย่างไรเพื่อปกป้องสิทธิ์ที่ควรจะได้ วันนี้ธรรมนิติมีคำตอบมาฝากกัน

แรงงานนอกระบบคือใคร?

แรงงานนอกระบบ คือ แรงงานหรือลูกจ้างที่ไม่มีสัญญาการทำงานอย่างเป็นทางการ และเป็นแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือไม่มีหลักประกันทางสังคมใดๆ มารับรองความปลอดภัยและความอุ่นใจในการทำงาน ทำให้เข้าข่ายเป็นกลุ่มแรงงานไม่มีตัวตน ต้องเผชิญความเสี่ยงในทางเศรษฐกิจและสังคมบ่อยครั้งกว่าแรงงานในระบบโดยยากที่จะเลี่ยง และแน่นอนว่าอัตราการถูกเลิกจ้างก็มีสูงมากกว่าด้วย

โดยสรุป แรงงานนอกระบบถือเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง โดยมีลักษณะดังนี้

• รายได้ต่ำและไม่แน่นอน

• ไม่มีสวัสดิการคุ้มครองที่ครอบคลุม

• มีเงินเก็บออมน้อยและมีปัญหาหนี้สิน

 

ลักษณะอาชีพของแรงงานนอกระบบ

หากตีความโดยเข้าใจง่ายๆ แรงงานนอกระบบ ก็คือกลุ่มผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น หาบเร่ แผงลอย เก็บของเก่า ช่างซ่อมทั่วไปที่ไม่มีนายจ้าง แรงงานเกษตร ลูกจ้างทำความสะอาดบ้าน ลูกจ้างผ่านแพลตฟอร์ม ไรเดอร์ โดยสามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

  1. แรงงานนอกระบบภาคการผลิต ซึ่งแบ่งเป็นผู้รับงานไปทำที่บ้าน และผู้ผลิตเพื่อขาย
  2. แรงงานนอกระบบภาคบริการ
  3. แรงงานนอกระบบภาคการเกษตร

 

ประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบมากแค่ไหน?

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 กลุ่มแรงงานนอกระบบในไทยมีจำนวน 19.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 52 ของผู้มีงานทำ 37.7 ล้านคน โดยกระจายอยู่ในกลุ่มอาชีพต่างๆ ดังนี้

• ภาคเกษตร ป่าไม้ และประมง ร้อยละ 58

• การขายส่ง ขายปลีก และการซ่อมยานยนต์ ร้อยละ 17

• อุตสาหกรรมที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ร้อยละ 8

• ภาคก่อสร้างร้อยละ 4

 

ทำอย่างไรหากเป็นแรงงานนอกระบบแล้วถูกลอยแพ?

ปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้เร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบเพื่อให้มีผลบังคับใช้และคุ้มครองแรงงานนอกระบบที่ครอบคลุมมากขึ้น

ดังนั้นกรณีที่แรงงานกลุ่มนี้ถูกเลิกจ้าง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเคว้งไม่มีที่พึ่งหรือไม่มีใครช่วย เพราะกฎหมายได้มีมาตรการออกมาว่า หากแรงงานนอกระบบถูกเลิกจ้าง นายจ้างลอยแพ ยกเลิกกิจการ หรือไม่รู้ว่านายจ้างหายไปไหน ก็สามารถดำเนินการได้ดังนี้

  1. ร้องเรียนที่กรมคุ้มครองแรงงาน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
  2. ร้องเรียนที่ศาลแรงงานโดยตรง เพื่อเรียกร้องเรื่องค่าใช้จ่าย
  3. กรณีนายจ้างไม่จ่าย และเรียกร้องจากศาลแล้วยังช้า ก็สามารถขอเงินสงเคราะห์ลูกจ้างได้ที่สวัสดิการคุ้มครองแรงงานได้เลย ตามจำนวนค่าจ้างขั้นต่ำ

 

นายจ้างลอยแพลูกจ้างจะมีความผิดอย่างไร?

  1. ความผิดทางแพ่ง ซึ่งจะถูกเรียกค่าเสียหายและค่าจ้างแรงงาน
  2. ความผิดทางอาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ขึ้นอยู่กับกรณี

 

แรงงานนอกระบบสร้างหลักประกันอะไรให้ตัวเองได้บ้าง?

  1. ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่อรับสิทธิประโยชน์ 5 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ และสงเคราะห์บุตร
  2. สมัครเป็นสมาชิกและออมเงินเพื่อวัยเกษียณของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งจะมีสิทธิ์ได้รับบำนาญรายเดือนตลอดชีวิตเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือกรณีทุพพลภาพก่อนอายุครบ 60 ปี หากลาออกจากกองทุน หรือเสียชีวิต จะได้รับเงินก้อนตามที่ กอช. กำหนดด้วย

 

ดังนั้นถึงแม้จะเป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ ก็หาความคุ้มครอง หรือมีแนวทางเรียกร้องสิทธิ์ให้กับตัวเองได้ อยู่ที่ว่าลูกจ้างแรงงานกลุ่มนี้ต้องศึกษาข้อมูลและติดตามข่าวความคุ้มครองต่างๆ ไว้

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?