ในวันที่ฝุ่นละออง PM 2.5 คลุมเมือง

PM 2.5

13 เมษายน 2563

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เผชิญปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 คลุมเมืองมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคม โดยที่ประชาชนบางส่วนเข้าใจว่ามันคือหมอกตามฤดูกาล แต่กว่าจะรู้ตัวกันว่ามันคือฝุ่นละออง PM 2.5 ก็สายเสียแล้ว

เมื่อพบว่าประชาชนในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ จำนวนมากถึง 9,980 คน จากการเก็บสถิติของโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ช่วงระหว่างวันที่ 1 – 22 มกราคม 2562 และยังคงเชื่อว่าปริมาณผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ฝุ่นละออง PM2.5 คือฝุ่นละเอียดขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน สามารถลอยอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานานหากหายใจเข้าไปจะส่งผลต่อสุขภาพในอาการเบื้องต้น เช่น หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ เหนื่อยง่าย มองไม่ชัด หอบหืด อีกทั้งยังเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ดังต่อไปนี้

(1)  อันตรายต่อปอด การหายใจเอาฝุ่นละออง PM 2.5 เข้าไปมาก ๆ จะมีผลต่อการทำงานของปอด เพราะฝุ่นละอองขนาดเล็กเมื่อเราสูดเข้าไปในร่างกายมันจะสามารถขยายตัวเองให้ใหญ่ได้ถึง 20 เท่าตัวทำให้เมื่อเราสูดหายใจเอาเจ้าฝุ่นพวกนี้เข้าไปในปอดของเราในปริมาณมาก ๆ มันจะสร้างความระคายเคืองให้กับระบบทางเดินหายใจ มีเสมหะ ไอ จาม ในผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง วัณโรค ภูมิแพ้ จะทำให้อาการของโรคชัดเจนขึ้น และในเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 10 ปี เมื่อสูดฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไปอาจทำให้ปอดเจริญเติบโตในอัตราที่ถดถอยกว่าเยาวชนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง

(2)  อันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ฝุ่นละอองขนาดเล็กเมื่อสัมผัสกับปอดนาน ๆ อาจเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองหรือระบบเลือด จะทำให้เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก คัดจมูก แสบจมูก เจ็บคอ ไอ แบบมีเสมหะ หรืออาจส่งผลให้เป็นไซนัสอักเสบได้ หรืออาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น อึดอัดแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก เจ็บหน้าอก จนก่อให้เกิดโรคปอดเรื้อรัง หรือ มะเร็งปอด

(3) อันตรายต่อดวงตา อาจทำให้เกิดอาการแสบตา ตาแดง ระเคืองตา ตาอักเสบ ซึ่งผู้มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาอาจทำให้รุนแรงขึ้น เช่น ต้อลม ต้อเนื้อ ภูมิแพ้ขึ้นตา

(4) อันตรายกับหัวใจ หากร่างการได้รับฝุ่นละออง PM 2.5 ปริมาณมากและเป็นระยะเวลานาน จะมีผลต่อระบบหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นแรงขึ้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เกิดภาวะหัวใจวาย และหลอดเลือดสมองตีบจนถึงตายได้

(5) อันตรายต่อผิวหนัง อาจส่งผลให้เกิดอาการลมพิษ ระคายเคืองคันตามร่างกาย ผิวหนังอักเสบ ปวดแสบ ปวดร้อนที่ผิวหนัง ผื่นกำเริบ ผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายหรือผู้ที่เป็นโรคผิวหนังอยู่แล้วควรระวังไม่ให้โรคกำเริบ

(6) อันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์ ถ้าได้รับฝุ่นพิษเป็นเวลานานๆ ก็มีความเสี่ยงส่งผลกระทบต่อทารถในครรภ์ได้ เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็กสามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางรกทำให้มีผลต่อน้ำหนักเด็กแรกเกิดน้อยผิดปกติ แล้วยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแท้งบุตร หรือ คลอดก่อนกำหนด และยังอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและระบบสมองของลูก

PM 2.5

 

เมื่อเกิดเหตุการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ปกคลุมเมืองหลายพื้นที่  สาเหตุที่ทำให้สภาพอากาศในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเข้าขั้นวิกฤตในตอนนี้ ซึ่งกลุ่ม Greenpeace ระบุถึงแหล่งกำเนิดมลพิษครั้งนี้ว่ามีที่มาจาก 4 แหล่งหลัก ๆ ได้แก่

(1) การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ที่มาจากภาคกิจการพลังงานโรงงานไฟฟ้า และเขื่อน

(2) สารเคมีและอุตสาหกรรม สารเคมีขนาดเล็กที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมและการปล่อยควันจากการเผาไหม้ในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมในเขตนิคมอุตสาหกรรมทั้งชานเมืองกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และในเขตนิคมอุตสาหกรรมหลัก เช่น มาบตาพุด จังหวัดระยอง และเขตประกอบกิจการปูนขาวและปูนซีเมนต์ จังหวัดสระบุรี

(3) คมนาคม จากการเผาไหม้ของรถยนต์ รถเมล์ รถไฟ เรือยนต์ ที่ใช้น้ำมันดีเซล ที่มีการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งรถเมล์ในระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง

(4) ควันพิษจากประเทศเพื่อนบ้าน เกิดจากการเผาไร่ นา ตามฤดูกาลเกษตร

การตามหาผู้รับผิดชอบในแต่ละสาเหตุทุกคนคงหาได้ไม่ยากนัก รวมถึงผู้ทำอาจรู้ตัวเองดีอยู่แล้วว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้อากาศในกรุงเทพมหานครแย่ลง แต่การหาผู้กล้าลงมือในการวางแผนการณ์แก้ไขเรื่องมลพิษทางอากาศของกรุงเทพมหานครดูเป็นเรื่องยากกว่า ประชาชนอย่างเราทำได้เพียงป้องกันตัวเองและคนในครอบครัวให้ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง PM 2.5 น้อยที่สุด และไม่ทำตัวเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้สภาพอากาศแย่ลง

 

การป้องการตัวเองจากสภาพมลพิษทางอากาศ

เราสามารถทำได้ เช่น การงดเว้นการออกไปทำกิจกรรมในสถานที่กลางแจ้ง สวมใส่หน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ ดื่มน้ำมาก ๆ งดการสูบบุหรี่ ออกกำลังกายในที่ร่ม ทานผักและผลไม้หลาย ๆ สี โดยให้เน้นสีแดง สีเหลือง สีส้ม เพราะมีสารที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ทานวิตามิน ซี และ อี รวมถึงน้ำมันตับปลาซึ่งสามารถช่วยลดผลกระทบระบบทางเดินหายใจและหัวใจได้ ท่านสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความของอาจารย์ดร.กมล ไชยสิทธิ์ “เรื่อง Detox ปอด”

การสวมใส่หน้ากากประเภท N95 นั้นดูจะปลอดภัยที่สุดแต่หากสวมใส่ไม่ถูกต้องก็ไม่สามารถป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ ซึ่งหน้ากากประเภทนี้เมื่อสวมใส่ไปแล้วต้องทดสอบว่าลมไม่สามารถผ่านเข้าออกที่หน้ากากได้เลยทำให้เมื่อเวลาผ่านไป 10 นาที ผู้สวมใส่จะเกิดภาวะรำคาญ อีกทั้งต้นทุนหน้ากากก็ถือว่ามีราคาสูง เราสามารถหาอุปกรณ์ง่าย ๆ ที่มีอยู่แล้วมาดัดแปลงเพื่อใช้สวมใส่แทนหน้ากาก N95 ได้ ถึงแม้ว่าผลการวิจัยที่ยังไม่ออกมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากนพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินหายใจและปอด ระบุว่า คนทั่วไปยังไม่จำเป็นต้องใช้หน้ากากแบบ N95 ยกเว้นผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจที่ควรสวมใส่ หน้ากาก N95 แต่สามารถสวมหน้ากากอนามัยทั่วไปได้เพื่อป้องกันฝุ่นละอองได้ในระดับหนึ่ง ก็ดีกว่าการไม่สวมใส่หน้ากากเลยแน่นอน ด้วย 3 วิธีการทำหน้ากากกันฝุ่น DIY ดังนี้

  • หน้ากากธรรมดา ชนิด Dura ใส่สวมกัน 2 – 4 ชั้น
  • หน้ากากธรรมดา ชนิด Dura + กระดาษทิชชู 2 แผ่น
  • หน้ากากผ้าหนาๆ +กระดาษทิชชู

 

พวกเราหวังว่าชาวกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะผ่านสถานการณ์ในวันที่ฝุ่นละออง PM 2.5 คลุมเมือง ไปได้โดยปลอดภัยไม่เจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากฝุ่นในครั้งนี้ ด้วยรักและห่วงใย………..ชาวธรรมนิติ

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?