ถ้าวันนี้คุณทำธุรกิจ ไม่ว่าจะขายของออนไลน์ เปิดร้านอาหาร ใช้ระบบเก็บข้อมูลลูกค้า หรือแค่มีแบบฟอร์มให้คนกรอกชื่อ-เบอร์โทรไว้ นั่นแหละ คุณเกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว และถ้าจัดการไม่ดี กฎหมาย PDPA (พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) อาจทำให้คุณต้องเจอทั้งค่าปรับหลักล้าน หรือหนักกว่านั้นคือคดีอาญา
โดยกฎหมายนี้ ไม่ใช่แค่กฎหมายตัวใหม่ที่ต้องมีแค่นโยบายความเป็นส่วนตัวบนเว็บ แต่คือกติกาสำคัญที่ทุกธุรกิจต้องรู้และรับมือให้ทัน เพราะแค่พลาดนิดเดียว ข้อมูลลูกค้ารั่วไหล ก็อาจถูกฟ้องได้ทันที บทความนี้จะพาคุณเข้าใจแบบง่าย ๆ พร้อมเจาะลึกว่าผู้ประกอบการอย่างคุณ ต้องรับผิดอะไรบ้าง ถ้าเกิดละเมิดขึ้นมา รู้ไว้ ป้องกันไว้ ดีกว่าต้องมานั่งเสียทั้งชื่อเสียงและค่าเสียหายทีหลัง
กฎหมาย PDPA
คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ย่อมาจาก Personal Data Protection Act B.E. 2562 (2019) เป็นกฎหมายว่าด้วยการให้สิทธิ์กับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล สร้างมาตรฐานการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัย และนำไปใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ตามคำยินยอมที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอนุญาต
ข้อมูลส่วนบุคคล ตามกฎหมาย PDPA
ข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) คือ ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม แต่จะไม่นับรวมข้อมูลของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว
ตัวอย่าง
ชื่อ-นามสกุล หรือชื่อเล่น, รูปถ่าย, เลขประจำตัวประชาชน, เลขหนังสือเดินทาง, เลขบัตรประกันสังคม, เลขใบอนุญาตขับขี่, เลขประจำตัวผู้เสียภาษี, เลขบัญชีธนาคาร, เลขบัตรเครดิต, รวมถึง ที่อยู่, อีเมล, เลขโทรศัพท์ / ข้อมูลอุปกรณ์หรือเครื่องมือ เช่น IP address, MAC address, Cookie ID / ข้อมูลระบุทรัพย์สินของบุคคล เช่น ทะเบียนรถยนต์, โฉนดที่ดิน เป็นต้น
*สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.)
ใครบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล ?
เราสามารถแบ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลในกฎหมาย PDPA ได้ 3 ประเภท
1. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล หรือ Data Subject
คือ บุคคลที่ข้อมูลสามารถระบุไปถึงได้
2. ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล หรือ Data Controller
คือ บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจ เกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
3. ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล หรือ Data Processor
คือ บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับ การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ตามคำสั่งหรือในนามของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการดังกล่าวไม่เป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล
PDPC คือใคร?
PDPC คือ หน่วยงานกำกับดูแล PDPA คือ คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ใช้อำนาจผ่าน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ สคส.
ความรับผิดของผู้ประกอบการธุรกิจ
หากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตาม PDPA หรือปฏิบัติตามไม่ครบถ้วน ผู้ประกอบการก็มีความเสี่ยงที่จะต้องรับผิดตามกฎหมาย โดยความรับผิดแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ความรับผิดทางแพ่ง ความรับผิดทางอาญา และโทษทางปกครอง ดังนี้
1. ความรับผิดทางแพ่ง
ผู้ประกอบการจะต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการละเมิดข้อมูล และอาจต้องชดใช้เพิ่มเติมสูงสุดอีก 2 เท่าของค่าเสียหายจริง ไม่ว่าผู้ประกอบการจงใจหรือประมาทก็ตาม (เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลนั้นเอง หรือเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย)
2. ความรับผิดทางอาญา
ในทางอาญา โดยปกติโทษ PDPA จะสามารถยอมความกันได้ โดยความผิดเกิดจากการที่ธุรกิจในฐานะผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลไว้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวนำไปสู่โทษทางอาญาทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งรายละเอียดก็จะมีดังนี้
1) การประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลโดยผู้ควบคุมข้อมูล ซึ่งอาจทำให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเกิดความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2) ความผิดฐานเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ใดล่วงรู้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตาม PDPA แล้วนำไปเปิดเผยแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3) การกระทำความผิดนั้นเกิดจากการที่ผู้ประกอบการแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ความรับผิดทางปกครอง
โทษปรับทางปกครองของผู้ประกอบการประกอบด้วยหลายฐาน สรุปสาระสำคัญดังนี้
1) การกระทำที่เป็นความผิด เช่น เก็บรวบรวม ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยปราศจากฐานทางกฎหมาย ไม่ขอความยินยอมให้ถูกต้อง โทษปรับตั้งแต่ไม่เกิน 1,000,000 บาท ถึง ไม่เกิน 5,000,000 บาท
2) การไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ตามความรับผิดชอบ เช่น ไม่แจ้งเจ้าของข้อมูลถึงการเก็บข้อมูลจากเจ้าของข้อมูล โอนข้อมูลส่วนบุคคลไปยังต่างประเทศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่จัดให้มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เหมาะสม โทษปรับตั้งแต่ไม่เกิน 1,000,000 บาท ถึง ไม่เกิน 3,000,000 บาท
อ่านบทความอื่นๆ
รู้หรือไม่…กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล มีขอบเขตการใช้บังคับ และข้อยกเว้นอย่างไร?
“เจ้าของข้อมูล” ได้รับสิทธิ์และความคุ้มครองจากกฎหมายPDPAอย่างไร?
เรื่องที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับ PDPA