รู้เท่ารู้ทัน! กลโกงออนไลน์รูปแบบต่างๆ

อินเทอร์เน็ตช่วยร่นระยะห่างให้ผู้คนอยู่ใกล้กันแค่ปลายนิ้วคลิก และทำให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แต่ในประโยชน์เหล่านี้อาจมีภัยพ่วงมาด้วยหากถูกนำไปใช้โดยเหล่ามิจฉาชีพ ที่ต้องการหลอกล่อเหยื่อให้ดำเนินการต่างๆ ตามที่ต้องการ ดังนั้นวันนี้เราจะพาไปดูกันว่ามีกลโกงออนไลน์รูปแบบใดบ้างที่ต้องระวัง ควรรู้เท่าทันและรับมืออย่างไรไม่ให้เราตกเป็นเหยื่อของคนกลุ่มนี้

กลโกงออนไลน์รูปแบบต่างๆ

1. ​​หลอกขอรหัสผ่านการใช้งานบัญชีอีเมล

วิธีการคือของกลโกงรูปแบบนี้มิจฉาชีพจะดำเนินการดังนี้

1) ส่งอีเมลที่แอบอ้างเป็​​นผู้ให้บริการบัญชีอีเมล หลอกขอชื่อ email address และรหัสผ่าน โดยอ้างว่าเจ้าของอีเมลจะต้องยืนยันการใช้งานอีเมล จากนั้นมิจฉาชีพจะใช้รหัสผ่านที่ได้มาเข้าอีเมลนั้นแทนเจ้าของ (เจ้าของอีเมลถือเป็นเหยื่อคนที่ 1)

2) มิจฉาชีพใช้อีเมลของเหยื่อคนที่ 1 ส่งอีเมลไปหาเพื่อนของเหยื่อคนที่ 1 แล้วหลอกให้โอนเงินให้ โดยอาจอ้างว่าเจ้าของอีเมลไปต่างประเทศแล้วทำกระเป๋าเงินหาย ต้องการความช่วยเหลือเรื่องเงินโดยด่วน วิธีนี้มิจฉาชีพมักจะให้โอนเงินผ่านบริการรับโอนเงินที่ไม่จำเป็นต้องมีเอกสารแสดงตนในการรับเงินในต่างประเทศ ทำให้เจ้าหน้าที่ติดตามจับคนร้ายไม่ได้ (หากเพื่อนเจ้าของอีเมลโอนเงินก็จะถือเป็นเหยื่อคนที่ 2)

ข้อสังเกต​กลโกง คือ ​สังเกตที่ชื่ออีเมล หากเป็นมิจฉาชีพอ้า​งว่าเป็นผู้ให้บริการบัญชีอีเมล ส่วนใหญ่ชื่อบัญชีอีเมลที่แสดงจะไม่ใช่ของผู้ให้บริการอีเมลจริง นอกจากนี้ข้อความในอีเมลที่ส่งถึงเหยื่อคนที่ 2 ก็มักจะเป็นภาษาอังกฤษ

2. ​แอบอ้างเป็นบุคคลต่างๆ แล้วหลอกจะโอนเงินหรือส่งของให้เหยื่อ

รูปแบบกลโกงนี้มิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นบุคคลต่างๆ แล้วหลอกเหยื่อว่าจะโอนเงินหรือส่งของให้ ตัวอย่าง เช่น

•  เป็นนักธุรกิจ ต้องการสั่งซื้อสินค้าจำนวนมาก ซึ่งจะมีการส่งหลักฐานการโอนเงินค่าสินค้าให้เหยื่อดู

•  เป็นผู้ใจบุญที่ต้องการบริจาคเงินเป็นจำนวนมากให้มูลนิธิหรือองค์กรการกุศล โดยเมื่อแจ้งว่าจะบริจาคเงินให้แล้ว จะส่งหลักฐานการโอนเงินปลอมให้เหยื่อดู

•  เป็นผู้ที่ได้รับมรดกแต่ติดเงื่อนไขบางอย่าง ทำให้รับเงินเองไม่ได้ จึงขอให้เหยื่อรับแทน

•  เป็นชาวต่างชาติที่ตามหารักแท้ โดยบอกเหยื่อว่าพร้อมจะย้ายมาอยู่ด้วยเพื่อสร้างครอบครัวด้วยกัน จึงโอนเงินค่าบ้านมาให้เหยื่อ หรืออาจหลอกเหยื่อว่าจะส่งของมาทางไปรษณีย์

จากตัวอย่างต่างๆ ข้างต้น เมื่อเหยื่อได้รับหลักฐานการโอนเงินหรือการส่งของจากมิจฉาชีพ ก็จะหลงเชื่อ และ​เมื่อเวลาผ่านไป อาจมีมิจฉาชีพอีกคนมาแสดงตนเป็นเจ้าหน้าที่ หรือจะเป็นมิจฉาชีพคนเดิมก็ได้ แจ้งเหยื่อว่าไม่สามารถโอนเงินหรือส่งของให้ได้ เพราะติดปัญหาต่างๆ เช่น ธนาคารระงับการโอน หรือ IMF ขอตรวจสอบ หรือ​กรมศุลกากรขอตรวจสอบของที่ส่งมาจากต่างประเทศ จากนั้นมิจฉาชีพก็จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ จากเหยื่อ เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ค่าดำเนินการ โดยจะเรียกเก็บจากจำนวนน้อยๆ แล้วเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเหยื่อก็จะเห็นว่าจ่ายอีกนิดก็จะได้รับเงินก้อนใหญ่แล้วก็จะโอนให้เรื่อยๆ กว่าจะรู้ตัวก็หมดเงินไปเยอะแล้ว

ข้อสังเกต​กลโกง คือ ​มิจฉาชีพจะหลอกให้เหยื่อโอนเงินผ่านบริการโอนเงินที่มิจฉาชีพรับเงินได้โดยไม่ต้องมีเอกสารแสดงตน เพื่อให้ยากกับการติดตามตัว นอกจากนี้หากมีปัญหาเรื่องการชำระเงินหรือโอนเงินควรติดต่อหน่วยงานที่คุณติดปัญหาโดยตรง เพื่อป้องกันภัยจากมิจฉาชีพ

3. แอบอ้างเป็นบุคคลต่าง ๆ เพื่อหลอกให้เหยื่อโอนเงินให้​

มิจฉาชีพมักหลอกขายสินค้าต่างๆ และจะให้เหยื่อที่สนใจโอนเงินเต็มจำนวนผ่านบริการโอนเงินที่ไม่ต้องใช้เอกสารแสดงตนโดยระบุชื่อเหยื่อเป็นผู้รับเงิน เมื่อเหยื่อโอนเงินและแจ้งรหัสรับเงิน มิจฉาชีพจะใช้รหัสดังกล่าวรับเงินออกไปทันทีโดยไม่มีสินค้าจริง

หรือบางเคสอาจมีมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นบริษัทต่างชาติเพื่อแจ้งเหยื่อว่าเห็นการสมัครงานและจะรับเหยื่อเข้าทำงาน แต่เหยื่อต้องจ่ายค่าใบอนุญาตทำงานในต่างประเทศก่อน ทั้งๆ ที่หากเช็กข้อมูลดีๆ แล้วบริษัทนั้นไม่มีอยู่จริง
ข้อสังเกต​กลโกง สินค้าที่มิจฉาชีพประกาศขายมักมีราคาถูกมากๆ และจะเร่งให้เหยื่อตัดสินโดยอ้างว่ามีผู้สนใจซื้อหลายราย

4. ​โฆษณาปล่อยเงินกู้นอกระบบผ่านเว็บไซต์ต่างๆ

มิจฉาชีพมักแอบอ้างเป็นผู้ให้บริการเงินกู้โดยโฆษณาผ่านเว็บไซต์หรือส่งอีเมลหาเหยื่อ ซึ่งมักจะแจ้งว่าให้ดอกเบี้ยต่ำ อนุมัติเงินเร็ว ไม่ตรวจสอบเครดิตบูโร สำหรับเหยื่อที่เดือดร้อนเรื่องเงินอยู่แล้วก็จะรีบติดต่อขอกู้เงิน

จากนั้นผู้ให้กู้ในคราบมิจฉาชีพจะอ้างว่าจะส่งสัญญาให้เพื่อลงลายมือชื่อ พร้อมขอให้เหยื่อโอนเงินชำระค่าทำสัญญา ค่าเอกสาร หรือดอกเบี้ยต่างๆ ภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งเหยื่อส่วนมากจะรีบโอนเพราะกลัวไม่ได้เงินกู้ แต่เมื่อโอนแล้วกลับติดต่อผู้ให้กู้ไม่ได้

ข้อสังเกต​กลโกง คือ ดอกเบี้ยเงินกู้จะต่ำเกินจริง และให้ติดต่อผ่านโทรศัพท์หรืออีเมลเท่านั้น แม้แต่ตอนทำสัญญา นอกจากนี้ยังให้จ่ายดอกเบี้ยก่อนอีก ซึ่งปกติเงินกู้ทั่วไปจะจ่ายเมื่อได้รับเงินต้นแล้ว

วิธีป้องกันกลโกงออนไลน์

1. เปิดเผยข้อมูลในโซเชียลเท่าที่จำเป็น

2. เปลี่ยนรหัสผ่านอีเมลหรือบัญชีโซเชียลเป็นประจำ

3. เมื่อได้รับการติดต่อแจ้งให้โอนเงินจากหน่วยงานต่างๆ ควรตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนโอนเงิน

4. มีสติและไม่โลภกับเงินที่ไม่มีที่มาที่ไป หรือได้มาง่ายๆ

6. อัปเดตข่าวสารกลโกงต่างๆ

​ทำอย่างไรเมื่อตกเป็นเหยื่อ?

1. หากถูกมิจฉาชีพแอบอ้างใช้บัญชีอีเมล ควรติดต่อผู้ให้บริการอีเมลทันที เพื่อเปลี่ยนรหัสผ่าน

2. หากโอนเงินให้แก่มิจฉาชีพแล้ว ควรติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าของสถาบันการเงินเพื่อระงับการโอนและการถอนเงิน หากระงับไม่ทันให้รวบรวมหลักฐานแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

อ้างอิงข้อมูล

ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?