ความผิดฐานหลีกเลี่ยงอากร

23 กุมภาพันธ์ 2565

 

การหลีกเลี่ยงอากรศุลกากร

หรือ “การกระทำหลีกเลี่ยงการเสียอากร” หมายถึง การนำของที่ต้องชำระค่าภาษีอากรผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรหรือส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร แต่ใช้วิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งหลบหลีกการเสียภาษี และมีเจตนาไม่ชำระภาษีอากรหรือชำระในจำนวนที่น้อยกว่าที่พึงต้องชำระ

ตัวอย่าง

จัดทำใบขนส่งสินค้าและผ่านการตรวจหรือผ่านพิธีการศุลกากรตามระเบียบแต่ “ไม่แสดงของนั้นโดยเปิดเผย”

ลักษณะการกระทำ

แยกได้ 2 กรณี

นำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร โดยการขนส่งทางเรือ ทางรถไฟ ทางรถยนต์คนเดินเข้ามา ทางเครื่องบิน ทางไปรษณีย์ ทางท่อขนส่งทางบก ทางสายส่งไฟฟ้าเป็นต้น

ส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร หรือย้าย โดยทางเรือ ทางรถไฟ ทางรถยนต์ คนเดินออกไป ทางเครื่องบิน ทางไปรษณีย์ ทางท่อขนส่งทางบกทางสายส่งไฟฟ้า เป็นต้น

รูปแบบการกระทำความผิด

1. หลีกเลี่ยงอากรโดยแสดงประเภท พิกัด และอัตราอากรไม่ถูกต้อง ทำให้ชำระอากรน้อยกว่าความเป็นจริง

2. แก้ไข เพิ่มเติม ตัดทอน ปลอมดวงตรา ลายมือชื่อของพนักงานศุลกากร ทำให้รัฐได้อากรน้อยกว่าความเป็นจริง

3. นำของซุกซ่อนมากับของที่แสดงโดยวิธีการอันแยบยล ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่เห็นของที่ซุกซ่อนไว้

4. หลีกเลี่ยงอากรโดยแสดงชนิด ชื่อ ยี่ห้อ และรุ่นโดยมีลักษณะบิดเบือนสินค้าและราคา ทำให้เสียอากรในจำนวนน้อยลง

โทษตามกฎหมาย

ผู้กระทำผิดฐานหลีกเลี่ยงอากร ต้องระวางโทษ

“จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ครึ่งเท่า แต่ไม่เกิน 4 เท่าของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม หรือทั้งจำทั้งปรับ”

(พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243)

ผู้ที่ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาไปซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ของซึ่งรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดฐานหลีกเลี่ยงอากรตามมาตรา 243 ต้องระวางโทษ

“จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ครึ่งเท่า แต่ไม่เกิน 4 เท่าของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม หรือทั้งจำทั้งปรับ”

(พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 246)

ความผิดทางอาญา

ตามกฎหมายศุลกากรเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงอากรเป็นความผิดที่เปรียบเทียบระงับคดีได้ หมายความว่า

“หากผู้ถูกกล่าวหายินยอมด้วยกับการเปรียบเทียบระงับคดีเมื่อได้ปฏิบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายแล้วแม้คดีจะมีโทษทั้งจำและปรับ ก็ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา”

เกณฑ์การเปรียบเทียบ

• หากอากรขาดไม่เกิน 50,000 บาท ให้ปรับครึ่งเท่า ของอากรที่ขาดและให้ชำระค่าภาษีอากรที่ขาดให้ครบถ้วน พร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่ม

• หากอากรขาดเกินกว่า 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ให้ปรับ 1 เท่า ของอากรที่ขาดและให้ชำระค่าภาษีอากรที่ขาดให้ครบถ้วนพร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่ม

• หากอากรขาดเกินกว่า 100,000 บาท ให้ปรับ 2 เท่า ของอากรที่ขาดและให้ชำระค่าภาษีอากรที่ขาดให้ครบถ้วน พร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่ม

• แก้ไข เพิ่มเติม ตัดทอน ปลอมดวงตรา ลายมือชื่อ ของพนักงานศุลกากร ให้ปรับ 4 เท่า ของอากรที่ขาดและให้ชำระค่าภาษีอากรที่ขาดให้ครบถ้วน พร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่ม

• นำของซุกซ่อนมากับของที่แสดงโดยวิธีการอันแยบยล ให้ปรับ 4 เท่า ของอากรที่ขาด และให้ยกของกลางที่ซุกซ่อนให้เป็นของแผ่นดิน

tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?