ก่อนค้ำประกันต้องรู้! เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

01 มีนาคม 2565

ข่าวคราวการหนีหนี้ของลูกหนี้ในปัจจุบันไม่ว่าจะหนี้บ้าน หนี้เงินกู้ หนี้ซื้อรถ หรือหนี้อื่นๆ ล้วนเป็นหนี้ที่ต้องมีคนค้ำประกันทั้งสิ้น แต่เมื่อลูกหนี้ผิดนัดการชำระหนี้คนที่เดือดร้อนกลายเป็นผู้ค้ำประกัน ที่ต้องมาชดใช้หนี้แทน ดังนั้นวันนี้เราจะพาคุณไปดูกันว่าการรับบทเป็นผู้ค้ำประกัน ต้องทำอย่างไรเพื่อความปลอดภัยกับสถานะและเงินในประเป๋าของตัวเอง ก่อนจะกลายเป็นลูกหนี้เงินกูโดยไม่ทันตั้งตัว

ผู้ค้ำประกัน คือ บุคคลที่ทำสัญญากับเจ้าหนี้ ว่าถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะทำการชำระหนี้นั้นแทน ดังนั้นเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดแทนได้

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับผู้ค้ำประกัน

•  ใครๆ ก็สามารถเป็นผู้ค้ำประกันได้

•  สถาบันการเงิน จะไม่นำข้อมูลการเงินของผู้ค้ำประกันมาร่วมพิจารณาการขอสินเชื่อต่างๆ ของผู้กู้

•  ผู้ค้ำประกัน จะไม่มีสิทธิในทรัพย์สินของผู้กู้

•  ดอกเบี้ยของผู้กู้ ผู้ค้ำประกันไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ เพราะไม่ได้มีส่วนร่วมในการผ่อนชำระหนี้

•  ผู้ค้ำประกันต้องน้อมรับความเสี่ยงเองแต่เพียงผู้เดียว หากผู้กู้ไม่ยอมจ่ายหนี้สินต่างๆ ที่กู้มา

ทำไมต้องมีผู้ค้ำประกัน

การมีผู้ค้ำประกัน สถาบันการเงินจะเพิ่มความมั่นใจในตัวผู้กู้มากขึ้น เพราะอย่างน้อยหากผู้กู้ไม่จ่ายหนี้ ก็ยังมีผู้ค้ำประกันคอยรับผิดชอบอยู่

ค้ำประกันอย่างไรให้ปลอดภัย

การตัดสินใจเลือกที่จะค้ำประกันให้ใครสักคน มีสิ่งที่ต้องคำนึง คือ

•  คนที่จะค้ำประกันให้ ควรเป็นคนที่ไว้ใจได้ และมั่นใจในความสามารถการชำระหนี้ของคนนั้น

•  อย่าไว้ใจค้ำประกันให้ใคร โดยไม่เช็คประวัติทางการเงิน เพราะคุณอาจจะถูกหลอกให้ค้ำประกันและรับผิดชอบหนี้แทนได้

•  อ่านเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับการค้ำประกันให้รอบคอบก่อนเซ็นชื่อ

•  เช็กตัวเองให้ดีว่าตัวเองพร้อมรับความเสี่ยงในการเป็นหนี้หรือไม่ หากลูกหนี้หนีหาย

กฎหมายคุ้มครองผู้ค้ำประกัน

บ่อยครั้งที่มีข่าวเกี่ยวกับผู้ค้ำประกันถูกเอาเปรียบจากผู้กู้ ถูกทิ้งให้ชดใช้หนี้สินแทน สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ค้ำเป็นอย่างมากจึงส่งผลให้เกิด กฎหมายค้ำประกันฉบับปรับปรุงใหม่ 2558 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในส่วนของผู้ค้ำประกันที่แตกต่างจากกฎหมายฉบับเก่า ดังนี้

  1. ผู้ค้ำประกันสามารถจำกัดวงเงินสูงสุดและระยะเวลาในการค้ำประกันได้ ดังนั้น ก่อนที่จะเซ็นค้ำประกันควรตกลงกับลูกหนี้เพื่อกำหนดเพดานชำระหนี้แทนให้ดี และเซ็นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร
  2. ผู้ค้ำประกัน ไม่ต้องรับผิดชอบมูลหนี้ทั้งหมดเหมือนกับลูกหนี้ทุกประการอีกต่อไป ซึ่งหมายถึงผู้ค้ำประกันจะรับผิดชอบชำระหนี้แทนในส่วนของตนเท่านั้นไม่ต้องรับผิดชอบดอกเบี้ย โดยหลังจากที่ผู้ค้ำประกันใช้หนี้แทนลูกหนี้แล้วก็สามารถใช้สิทธิฟ้องลูกหนี้เรียกเงินตามจำนวนที่ชำระไปแทนพร้อมดอกเบี้ย และค่าเสียหายอื่นๆ ได้
  3. ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้จะต้องทำหนังสือแจ้งผู้ค้ำประกันให้ทราบก่อนภายใน 60 วัน และห้ามไม่ให้เจ้าหนี้เรียกเอาหนี้กับผู้ค้ำประกันในทันที จนกว่าพยายามไล่เบี้ยหรือเรียกหนี้กับลูกหนี้จนสุดความสามารถแล้ว

ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายออกมารองรับแต่ก่อนจะค้ำประกันให้ใครก็ต้องไตร่ตรองให้รอบคอบอยู่ดี นอกจากจะถามผู้ที่จะกู้เพื่อให้เราค้ำประกันว่าเขาพร้อมจะเป็นหนี้และมีความสามารถในการชำระหนี้จนหมดแล้ว ก็ต้องถามตัวเองด้วยว่าพร้อมจะเสี่ยงเป็นหนี้โดยไม่ตั้งตัวหรือไม่ รวมถึงศึกษากฎหมายและข้อสัญญาให้ดีจะได้ไม่มีใครต้องเดือดร้อนภายหลัง

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?