7 ฎีกา เหตุแห่ง “โมฆกรรม”

20 พฤษภาคม 2565

โมฆกรรม คืออะไร ?

โมฆะ หมายความว่า เสียเปล่า ไม่มีผลบังคับหรือผูกพันตามกฎหมาย เช่น สัญญาเป็นโมฆะ

โมฆกรรม จึงหมายความว่า นิติกรรมที่เป็นโมฆะ เสียเปล่า ไม่มีผลบังคับหรือผูกพันตามกฎหมาย ไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ ถือเป็นนิติกรรมที่เสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น เสมือนไม่เคยเกิดนิติกรรมนั้นขึ้นเลย

7 สาเหตุแห่งโมฆกรรม

1. วัตถุประสงค์ต้องห้าม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 95/2484

ชายทำสัญญายกทรัพย์ให้หญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมเป็นภริยาน้อย โดยหญิงรู้ว่าชายมีภริยาอยู่แล้ว ไม่ชอบด้วยกฎหมายสัญญานี้จึงใช้บังคับไม่ได้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 บัญญัติว่า

“การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”

2. นิติกรรมไม่ทำตามแบบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6190/2550

สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าระหว่างคู่สัญญา ที่ยังไม่ได้จดทะเบียน ตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 152

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 152 บัญญัติว่า

“การใดมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ การนั้นเป็นโมฆะ”

3. การแสดงเจตนาลวง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2952/2554

สัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินพิพาททำขึ้นเพื่อให้โจทก์นำที่ดินและบ้านพิพาทไปจำนองเป็นประกันหนี้กู้ยืมต่อธนาคาร โดยไม่มีเจตนาซื้อขายกันจริง ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า

“การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้”

4. นิติกรรมอำพราง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2514/2561

ทำสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงิน สัญญาขายฝาก  ตกเป็นโมฆะ ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงิน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง บัญญัติว่า

“ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่นให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ”

5. สำคัญผิดในสาระสำคัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1710/2500

ในการซื้อขายที่ดิน ผู้ขายชี้ให้ดูที่ดินแปลงอื่นแต่ส่งมอบอีกแปลงหนึ่งถือว่าทําสัญญาโดยสําคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสําคัญของนิติกรรมสัญญาซื้อขายเป็นโมฆะ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า

“การแสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ”

6. เงื่อนไขไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 133/2505

การที่ ก. ตกลงจะให้แหวนเพชรแก่ ข. ถ้า ข. ให้การต่อศาลว่าไม่รู้เห็นว่าบุตรของ ก. ฆ่าคน และศาลไม่ลงโทษบุตรของ ก. เงื่อนไขดังกล่าว ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาให้แหวนเพชรจึงตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 150 (ปัจจุบัน มาตรา 188)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 188 บัญญัติว่า

“นิติกรรมใดมีเงื่อนไขอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ”

7. โมฆียกรรมถูกบอกล้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19696/2557

นิติกรรมที่โจทก์ทำเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว จึงมีผลเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 บัญญัติว่า

“โมฆียะกรรม เมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก …”

 

tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?