“มูลค่ายุติธรรม” กับงบการเงิน

มูลค่ายุติธรรมกับงบการเงิน

01 ธันวาคม 2565

การวัดมูลค่ายุติธรรม ในการวัดมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สิน นับเป็นแนวทางเพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการจัดทำงบการเงิน ที่นักบัญชีและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องทำความเข้าใจไว้ครับ 

ปัจจุบันมาตรฐานการบัญชีได้เน้นถึงการใช้มูลค่ายุติธรรม (Fair Value) ในการวัดมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สิน เนื่องจากการใช้มูลค่ายุติธรรมจะให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ (Relevance) ของผู้ใช้งบการเงินมากกว่าการใช้ราคาทุนเดิม (Historical Cost)

มูลค่ายุติธรรม คือราคาที่จะได้รับเมื่อขายสินทรัพย์ หรือเป็นราคาที่จ่ายในการโอนหนี้สิน สำหรับรายการปกติระหว่างผู้มีส่วนร่วมในตลาด ณ วันที่มีการวัดมูลค่า

ทั้งนี้การออกมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ ฉบับที่ 13 เรื่อง การวัดมูลค่ายุติธรรม (International Financial Reporting Standard 13: Fair Value Measurement) มีวัตถุประสงค์ดังนี้

(1) เพื่อลดความซับซ้อน และกำหนดวิธีการวัดมูลค่ายุติธรรมที่มีการกล่าวถึงในแต่ละมาตรฐาน การบัญชี ให้มีมาตรฐานในการวัดแบบเดียวกัน โดยมุ่งเน้นการกำหนดเฉพาะวิธีการวัดมูลค่ายุติธรรมเท่านั้น ซึ่งจะมิได้รวมถึงการกำหนดลักษณะรายการที่จะต้องแสดงหรือวัดด้วยมูลค่ายุติธรรม

(2) เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการจัดทำงบการเงิน โดยปรับปรุงแนวทางการเปิดเผยข้อมูลการวัดมูลค่ายุติธรรมให้มีความชัดเจนและเข้าใจง่าย

(3) เพื่อให้มาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศซึ่งมีการใช้แพร่หลายในยุโรป และมาตรฐานการบัญชี ของสหรัฐอเมริกา มีความสอดคล้องกันยิ่งขึ้น

และเนื่องด้วยมาตรฐานการบัญชีหลาย ๆ ฉบับได้ระบุถึงการต้องมีการวัดมูลค่ายุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานฯที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ อาทิ TAS 16 – ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์   TAS 38 – สินทรัพย์ไม่มีตัวตน TAS 40 – อสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน TAS 41 – เกษตรกรรม

ดังนั้นนักบัญชีไทยควรต้องเตรียมศึกษาวิธีการวัดมูลค่ายุติธรรมและจะต้องเปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงินเพื่อให้งบการเงินโปร่งใสและผู้ใช้งบการเงินได้ข้อมูลที่ถูกต้องด้วยครับ

เรื่อง : ทีมวิชาการ สำนักพัฒนาการบริหารธรรมนิติ จำกัด 

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?