ปรับโครงสร้างภาษีปี 2560  มนุษย์เงินเดือนเฮ…จ่ายภาษีลดลง 

ภาษีปี 60

25 มิถุนายน 2562

การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2560 หรือการปรับโครงสร้างภาษีปี 60 ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ส่งผลให้การจ่ายภาษีบุคคลธรรมดาประจำปีนี้ต่างไปจากเดิม

โครงสร้างภาษีปี 2560 ที่ปรับจะทำให้จ่ายภาษีน้อยลงนั้น มาจากการเปลี่ยนแปลงตรงไหนบ้าง ลองมาดูกัน

1.หักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้น

1.ผู้เงินได้จากเงินเดือน / ค่าจ้าง / ค่านายหน้า ฯลฯ (ตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร) เพิ่มการหักค่าใช้จ่ายเป็นร้อยละ 50 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท จากเดิมร้อยละ 40 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 60,000 บาท

2. ผู้ที่มีเงินได้จากค่าแห่งกู๊ดวิลล์  ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น (อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3)  แห่งประมวลรัษฎากร)  ให้หักค่าใช้จ่ายเป็

นการเหมาได้ร้อยละ 50 ของเงินได้ดังกล่าวแต่ไม่เกิน 100,000 บาท หรือหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้ จากเดิมหักได้เฉพาะค่าลิขสิทธิ์ร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 60,000 บาท

หมายเหตุ  กู๊ดวิลล์ หรือ ค่าความนิยม : ส่วนต่างของมูลค่าทางการบัญชีกับมูลค่าที่ซื้อขายจริง ซึ่งกิจการสามารถทำยอดขายได้เกินตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ หรือยอดเงินนั้นต่างจากมูลค่าในปัจจุบันมาก

 

2.หักค่าลดหย่อนได้เพิ่มขึ้น

1. ค่าลดหย่อนส่วนตัวเพิ่มเป็น 60,000 บาท จากเดิม 30,000 บาท

2. ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสเพิ่มเป็น 60,000 บาท จากเดิม 30,000 บาท

3. ค่าลดหย่อนบุตร เพิ่มเป็นคนละ 30,000 บาทไม่จำกัดจำนวน (แต่ถ้ารวมบุตรบุญธรรมนำมาลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 3 คน)  จากเดิมคนละ 15,000 บาทไม่เกิน 3 คน และยกเลิกค่าลดหย่อนการศึกษาบุตรที่เคยลดหย่อนได้คนละ 2,000 บาท

4. ค่าลดหย่อนกองมรดก เพิ่มเป็น 60,000 บาท จากเดิม 30,000 บาท

5. ค่าลดหย่อนห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เพิ่มค่าลดหย่อนแก่หุ้นส่วนคนละ 60,000 บาทแต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท จากเดิม 30,000 บาทรวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท

 

3.ปรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่

ปรับอัตราการเสียภาษีให้ผู้มีรายได้สุทธิ 5,000,001 บาทขึ้นไป ต้องเสียภาษี 35% จากเดิมต้องมีรายได้สุทธิ 4,000,001 บาทขึ้นไป

 

รายได้สุทธิ / ปี ภาษีที่ต้องจ่าย
ไม่ถึง 150,000 บาท ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษี
150,001 – 300,000 บาท 5%
300,0001 – 500,000 บาท 10%
500,001 – 750,000 บาท 15%
750,001 – 1,000,000 บาท 20%
1,000,001 – 2,000,000 บาท 25%
2,000,001 – 5,000,000 บาท 30%
5,000,001 บาทขึ้นไป 35%

 

4.ปรับเกณฑ์ขั้นต่ำของผู้ต้องยื่นภาษีให้สูงขึ้น

1.มีรายได้จากเงินเดือน/ค่าจ้างอย่างเดียว

โสด : ยื่นแบบเมื่อมีเงินได้เกิน 100,000 บาท จากเดิม 50,000 บาท

สมรส : ยื่นแบบเมื่อมีเงินได้รวมกันเกิน 200,000 บาท จากเดิม 100,000 บาท

2. มีรายได้เฉพาะเงินได้ประเภทอื่น หรือรวมกับเงินเดือน/ค่าจ้าง

โสด : ยื่นแบบเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท จากเดิม 30,000 บาท

สมรส : ยื่นแบบเมื่อมีเงินได้รวมกันเกิน 120,000 บาท จากเดิม 60,000 บาท

3.กองมรดกของผู้ตายที่ยังมิได้แบ่ง

ยื่นแบบเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท จากเดิม 30,000 บาท

4.ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล

ยื่นแบบเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท จากเดิม 30,000 บาท

โครงสร้างภาษีใหม่ที่เริ่มใช้ในปี 2560 ช่วยลดภาระประหยัดภาษีให้คนทำงานประจำ เพราะจากการคำนวณหากได้รับเงินเดือนไม่เกิน 26,000 บาทก็ไม่ต้องเสียภาษี  แต่ถ้าหากเงินเดือนสูงกว่านั้นก็ยังมีค่าลดหย่อนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น น่าจะช่วยให้ช่วงเวลาของการยื่นภาษีบุคคลธรรมดาตอนต้นปีหน้าคงทำให้ทุกคนพอจะยิ้มได้แน่นอน

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ www.dharmniti.co.th 

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?