ทำได้ไหม? ถ่ายคลิปตำรวจขณะปฏิบัติหน้าที่

คลิปตำรวจขณะปฎิบัติหน้าที่

ทำได้ไหม? ถ่ายคลิปตำรวจขณะปฏิบัติหน้าที่ 

ยุคโซเชียลที่ทุกคนสามารถถ่ายคลิปโพสต์บอกเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ได้ง่ายผ่านสื่อออนไลน์ที่ตัวเองมี แต่ขณะเดียวกันการโพสต์คลิปที่มีภาพบุคคลอื่นอาจต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย PDPA หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และนี่ก็เป็นที่มาของความสับสนสำหรับหลายคนว่าหากเป็นการถ่ายคลิปเพื่อบันทึกเป็นหลักฐานจะทำได้ไหม โดยเฉพาะหากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดระหว่างตำรวจและประชาชน จะสามารถถ่ายคลิปตำรวจได้หรือไม่ วันนี้ธรรมนิตินำข้อมูลมาฝากค่ะ

ผิดไหมหากถ่ายคลิปตำรวจขณะปฏิบัติหน้าที่? 

เมื่อมีการตั้งคำถามว่า เราสามารถถ่ายคลิปตำรวจขณะปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่?

คำตอบ คือ ไม่มีข้อกฎหมายใดให้โทษการถ่ายคลิปตำรวจขณะปฏิบัติหน้าที่ หากเป็นไปตามวัตถุประสงค์ต่างๆ ใน พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 329

มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต

(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม

(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่

(3) ติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ

(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

การถ่ายคลิปเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะปฏิบัติหน้าที่สามารถทำได้ตามเงื่อนไข 

การถ่ายคลิปเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะปฏิบัติหน้าที่สามารถทำได้ตามเงื่อนไข

เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการตรวจค้น บางคนอาจกลัวว่าจะถูกยัดของกลาง หรือมีปัญหาการตรวจค้น จึงถ่ายคลิปไว้เป็นหลักฐานป้องกันตัวเองนั้นสามารถทำได้ โดยมีเงื่อนไขดังนี้

•  ต้องไม่เป็นการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน

•  หากเจ้าพนักงานกระทำความผิดจริง สามารถนำภาพหรือคลิปวิดีโอมาเปิดเผยได้โดยไม่เป็นการหมิ่นประมาท

•  ต้องไม่ทำการดัดแปลง แก้ไขภาพหรือคลิปวิดีโอ ในลักษณะนำความเท็จมาเผยแพร่

ความผิดหากถ่ายคลิปโดยเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน

การถ่ายคลิปตำรวจขณะปฏิบัติหน้าที่ต้องมั่นใจว่าไม่เป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน เพราะหากการถ่ายคลิปชี้ชัดว่าไม่ใช่เพื่อการเก็บไว้เป็นหลักฐานป้องกันตัวเอง แต่มีลักษณะเพื่อขัดขวางหรือคุกคามเจ้าหน้าที่ ก็อาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 138 และ มาตรา 397

มาตรา 138 ผู้ใดต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการต่อสู้หรือขัดขวางนั้น ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 397 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัล หรือเป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสองเป็นการกระทำโดยอาศัยเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำอันเนื่องจากความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือผู้มีอำนาจเหนือประการอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท

ระวังโพสต์คลิปอาจมีความผิด

การถ่ายคลิปโดยไม่มีความผิดสามารถทำได้ตามเงื่อนไขข้างต้น แต่การเผยแพร่ดัดแปลงทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด และเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางเสียหาย หรือเรียกง่ายๆ ว่า โพสต์เรียกทัวร์ ถือเป็นความผิด มีโทษปรับสูงสุดถึง 200,000 ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 328

มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

 

ดังนั้นจึงสรุปได้คือ เราสามารถถ่ายคลิปตำรวจขณะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ต้องไม่เผยแพร่ หรือหากมีการเผยแพร่ก็ต้องไม่มีการดัดแปลงทำให้เสื่อมเสีย การถ่ายคลิปนั้นต้องเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานปกป้องตัวเองหากเกิดเหตุในอนาคตค่ะ

 

ข้อมูลอ้างอิง

กระทรวงยุติธรรม

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?