Google Effect พึ่งพาเทคโนโลยีมาก … เสี่ยงความจำถดถอย

11 มีนาคม 2565

Google Effect หรือ Digital Amnesia ภาวะที่ความสามารถในการจดจำของสมองถดถอยเนื่องจากพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไป โดยมีแนวโน้มจะหลงลืมข้อมูลต่างๆ ได้ง่าย เพราะรู้ว่าหาจากโลกออนไลน์ได้ กล่าวคือการใช้บริการ Search Engine โดยเฉพาะ Google ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการค้นหาข้อมูลมากกว่า 3,500 ล้านครั้ง/วัน ทำให้เรามองข้ามที่จะจดจำข้อมูลเหล่านั้น

 

วัฏจักรความจำฝากไว้กับเทคโนโลยี

เป็นที่น่าสังเกตว่าข้อมูลที่ค้นหาได้ง่ายทางออนไลน์มักเป็นข้อมูลที่เราไม่ค่อยจดจำกัน เรียกได้ว่ายิ่งค้นหาได้ง่ายเท่าไรก็ยิ่งลืมง่ายเท่านั้น และกับบางช่วงเวลาแค่คำถามง่ายๆ ก็ยังตอบไม่ได้ การพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อค้นหาซ้ำๆ จึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้บ่อย แม้จะเป็นการค้นหาข้อมูลเดิมๆ ก็ตาม

 

Google Effect ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในงานวิจัยของ Betsy Sparrow, Jenny Liu และ Daniel M. Wegner เมื่อปี 2011 ภายใต้หัวข้อ Google Effects on Memory : Cognitive Consequences of Having Information at Our Fingertips ซึ่งได้ทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับการจดจำสิ่งต่างๆ จนได้ข้อสรุปว่า การเข้าถึงการค้นหาข้อมูลที่ง่ายดายนั้นอาจมีผลต่อการทำงานด้านการรับรู้ของหน่วยความจำ

 

หนึ่งในแบบทดสอบที่กลุ่มตัวอย่างได้ทำคือ การตอบคำถาม Stroop Test โดยบอกสีของคำที่เห็น เช่น หากเห็นคำว่า น้ำเงินแต่ตัวอักษรสีแดง ก็ต้องตอบว่าสีแดง

ความทรงจำที่ปลายนิ้ว ไม่แก่ก็หลงลืมได้

เพราะเรารู้ว่าทุกๆ อย่างหาได้จากการค้นหาข้อมูล อยากรู้อะไรก็แค่เสิร์ชหา ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสที่สมองจะได้ทำหน้าที่จดจำอย่างเต็มที่ ตั้งแต่เรื่องง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นเบอร์โทรศัพท์ เลขที่บัญชีธนาคาร พาสเวิร์ด ข้อมูลพื้นฐานของตัวเอง วันเกิดคนใกล้ชิด ไปจนถึงเรื่องสำคัญๆ ต่างๆ เราก็เลือกใช้เทคโนโลยีเข้ามารองรับแทบทั้งหมด

 

ภาวะความจำถดถอยเกิดขึ้นได้ทุกวัย ต่างกันที่สาเหตุ เพราะในผู้สูงอายุอาการนี้ส่วนใหญ่เกิดจากความชราภาพและความเสื่อมของร่างกาย แต่สำหรับในวัยรุ่นหรือวัยทำงานมักเกิดจากการพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไปทำให้ความสามารถในการจดจำข้อมูลต่างๆ น้อยลง ซึ่งเมื่อทำการทดสอบความจำเรื่องเบอร์โทรศัพท์ วันเกิดคนใกล้ชิด หรือข้อมูลพื้นฐานส่วนตัว จะพบว่าผู้สูงอายุมีแนวโน้มการจดจำที่ดีกว่า

 

Checklist เสี่ยงภาวะ Google Effect อยู่หรือเปล่า

– เก็บข้อมูลทุกอย่างไว้ในโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
– ไม่ค่อยออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตจริง เพราะใช้เวลาส่วนใหญ่กับสื่อออนไลน์
– ชอบสื่อสารผ่านโลกโซเชียลมากกว่าการนัดเจอกัน ไม่ค่อยพบปะผู้คนในสังคม
– หลงลืมเรื่องง่ายๆ จดจำสิ่งต่างๆ ได้น้อยลง เพราะสมองไม่ได้ทำหน้าที่จดจำอย่างเต็มที่
– ห่างหายจากกิจกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะ
– นึกถึงโลกที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ออกและใช้ชีวิตแบบนั้นไม่ถูก

 

ปลดล็อกความเสี่ยงภาวะ Google Effect

เป็นเรื่องยากที่เราจะหลีกเลี่ยงการใช้งานเทคโนโลยี เพราะต้องยอมรับว่ามีหลายสิ่งบนโลกใบนี้ที่เราไม่สามารถจดจำได้ทั้งหมด และยังจำเป็นที่จะต้องพึ่งพา Search Engine เพื่อเข้าถึงข้อมูลต่างๆ แต่ส่วนนั้นควรเว้นไว้ให้กับข้อมูลที่นานๆ ครั้งเราต้องใช้ หรือไม่ใช่เรื่องสำคัญกับชีวิตมาก แต่ในส่วนของข้อมูลจำเป็น ข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ของตัวเอง เราควรเพิ่มภาระให้สมองได้ทำหน้าที่จดจำบ้าง

 

สำคัญคือเลี่ยงการผูกติดกับอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีมากเกินไป หันมาออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เลือกอาหารการกินที่ดีต่อสุขภาพ นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ พร้อมกระตุ้นการทำงานของสมองด้วยการเรียนรู้และหาประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น เล่นดนตรี ฟังเพลง อ่านหนังสือ เรียนภาษา หรือพูดคุยพบปะกับผู้คนในสังคม เพื่อกระตุ้นสมองให้ทำงานและช่วยให้จดจำเรื่องต่างๆ ได้อย่างที่ควรจะเป็น

 

ไม่ใช่เรื่องแย่ที่เราจะปล่อยให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิต และภาวะ Google Effect ก็ไม่ใช่อาการที่เป็นแล้วจะรักษาให้หายขาดไม่ได้ เพียงแค่บริหารเวลาการใช้งานเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ให้สมดุลกับช่วงเวลาของชีวิต คุณก็ไม่ใช่คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอีกต่อไป

 

ข้อมูลอ้างอิง
www.scienceabc.com
www.noozup.news/
blog.dpu.ac.th/ajtonrak/

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?