8 ข้อคิด…เมื่อก้าวออกจาก Comfort Zone

8 ข้อคิด...เมื่อก้าวออกจาก Comfort Zone

21 มิถุนายน 2562

8 ข้อคิด…เมื่อตัดสินใจพาชีวิตก้าวออกจาก Comfort Zone ที่เรารู้สึกปลอดภัยและคุ้นเคย มาสร้างโอกาสและความสำเร็จใหม่ ๆ ที่ท้าทาย

หลายคนชอบที่จะอยู่ในพื้นที่ที่คุ้นเคยและชอบใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งเดิมๆ ทั้งที่รู้ว่าอยู่ไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น แต่เป็นเพราะ “ความกลัว” จึงทำให้ไม่กล้าก้าวออกจากพื้นที่เดิมๆ ของตนเองสักที

พื้นที่ปลอดภัยหรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า “Comfort Zone” นี้ คือพื้นที่ที่เรารู้สึกปลอดภัย รู้สึกสบาย หรือรู้สึกว่าแบบนี้มันดีอยู่แล้ว สมควรที่จะดำเนินอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ แต่หากเราทำแต่สิ่งเดิม ๆ เราก็ย่อมได้ในสิ่งเดิม ๆ เช่นกัน คนทุกคนมีศักยภาพในการทำในสิ่งใหม่ ๆ ได้เสมอ ขอเพียงเราอย่าไปกังวลหรือหวาดกลัวจนเกินไปกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง และมุ่งมั่นที่จะก้าวไปข้างหน้าเพื่อความสำเร็จที่รอเราอยู่

ข้อคิดจากการตัดสินใจพาชีวิตก้าวออกจาก Comfort Zone มีดังต่อไปนี้

1. มีเป้าหมายชัดเจน :  การทำงานหรือใช้ชีวิตให้ประสบความสำเร็จ เราต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน เมื่อความฝันของเราชัดเจนแล้ว จงนำความฝันมาสร้างให้เป็นวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายที่เราอยากเห็นในอนาคต เพื่อที่จะวางแผน แบ่งเป็นแผนระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว เพราะการมีแผนที่ดี ถึงแม้จะไม่การันตีความสำเร็จ แต่แผนที่ดีย่อมสามารถช่วยป้องกันปัญหาและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

2. ลงมือทำด้วยความมุ่งมั่น :  เมื่อตัดสินใจออกจาก Comfort Zone คุณอาจต้องพบเจอกับช่วงที่ยากลำบาก เจอสิ่งที่ทำให้ท้อ รู้สึกว่าอะไร ๆ มันยากกว่าที่คิด อย่างไรก็ดี หากท่านมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ท่านต้องมุ่งมั่น ต้องใส่ใจ และต้องไม่ท้อเวลาที่เจอปัญหา อาจถอยหลังไปตั้งหลักได้แต่ก็ต้องหาทางใหม่ในการก้าวไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ให้ได้ เพราะคนที่ประสบความสำเร็จคือ คนที่กล้าสร้างแนวคิดให้จับต้องได้ ถึงแม้จะผิดพลาดแค่ไหน เขาก็พร้อมเรียนรู้ความผิดพลาดนั้นเพื่อนำมาเป็นบทเรียนให้ตนเองเติบโตต่อไป

3. หมั่นพัฒนาตนเอง หาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา : คนที่พบความสำเร็จคือคนที่ไม่หยุดนิ่งในการหาความรู้ใหม่ ๆ มาพัฒนาความคิดของตนเอง เพราะฉะนั้นจงหมั่นศึกษา ดูวิธีคิดของคนอื่นที่เขาประสบความสำเร็จเพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับตัวเราในทุก ๆ วัน แล้วเราจะมีความคิดที่เฉียบขาดมากขึ้น เช่น การอ่านหนังสือดี ๆ เล่มแล้วเล่มเล่า อ่านเรื่องราวดี ๆ ของคนอื่น รวมถึงการรับฟัง การสังเกต การลงมือทำ ซึ่งการลงมือทำนั้นสำคัญมาก ๆ เพราะการลงมือทำย่อมนำมาซึ่งประสบการณ์ และเราก็สามารถนำประสบการณ์มาบอกเล่าให้คนอื่นเห็นมุมมองความคิดของเราได้

4. เตรียมเงินสำรองให้พร้อม :  เตรียมเงินไว้อย่างน้อย 6 เดือน หรือ 1 ปี หากคิดจะก้าวออกจาก Comfort Zone ในแง่ของการเปลี่ยนจากงานประจำไปสู่การสร้างธุรกิจของตนเองแล้วละก็ คุณควรจะมีการเตรียมเงินสำรองให้พร้อม เพราะเงินทุนสำรองเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราก้าวต่อไปได้ หากคุณอยากทำอาชีพอิสระหรือเป็นฟรีแลนซ์ คุณควรมีทุนสำรองติดตัวไว้อย่างน้อย ๆ 6 เดือน เพราะช่วงแรกคุณอาจไม่มีงานเข้ามาเลยก็เป็นได้ แต่คุณยังต้องกินต้องใช้ทุกวัน ซึ่งหากเรามีเงินไว้ใช้จ่ายในแต่ละเดือนอย่างพอเพียง สมองของเราก็จะได้ไม่ต้องกังวล และสามารถใช้สมองอย่างเต็มที่ในการพัฒนางานให้โดดเด่นเพื่อที่จะดึงดูดลูกค้า

5. เรียนรู้หลักการขายและการตลาด :  จริง ๆ แล้ว ไม่ว่าอาชีพไหนก็ควรศึกษาเกี่ยวกับหลักการตลาดเอาไว้บ้าง ยิ่งโลกในยุคปัจจุบันนี้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงสื่อดิจิทัลค่อนข้างง่ายกว่าสมัยก่อนเยอะมาก หากเรารู้จักใช้สื่อดิจิทัล เช่น  Facebook  Line Website หรืออื่น ๆ เพื่อสร้างตัวตน สร้างฐานแฟนคลับให้ติดตามเราได้ โอกาสที่เราจะประสบความสำเร็จก็ง่ายขึ้น

6. เรียนรู้เรื่องการลงทุนไว้บ้าง : จงลงทุนกับ “ความรู้” และ “เรื่องเงิน” โดยความรู้จะนำมาซึ่งการทำงาน ซึ่งเราต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ กล้าที่จะทำงานใหม่ ๆ โปรเจ็กต์ใหม่ ๆ ที่ท้าทาย เพราะหากเราเก่ง มีความรู้ มีประสบการณ์จากการทำงานมากขึ้น เงินของเราก็จะมากขึ้น และเมื่อเงินมากขึ้นก็จงนำเงินที่ได้จากการทำงานไปต่อยอดให้งอกเงย ทุกวันนี้เราทำงานใช้แรง (Active Income) ซึ่งการลงแรงหากเราแข็งแรงดีก็คงไม่เป็นอะไร แต่หากเราเจ็บไข้ได้ป่วยมีโรคประจำตัว จนทำให้เราทำงานไม่เต็มที่ รายได้ที่ควรได้รับก็อาจลดน้อยลงไป ดังนั้นเราจึงควรที่จะรู้จักเรียนรู้การลงทุนใช้เงินที่มีมาต่อยอด (Passive Income) ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ หรืออื่น ๆ ที่ใช้หลักคิดให้เงินทำงานแทนเรา โดยการลงทุนในเครื่องมือเหล่านี้ เราต้องรู้ว่าเราจะได้รับผลตอบแทนอย่างไร ปัจจัยที่ทำให้เราขาดทุนมีอะไรบ้าง และเราต้องการอะไรจากการลงทุนนี้ เพราะการลงทุนไม่ใช่การเสี่ยงโชค แต่เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาทำความเข้าใจให้ดี เราจึงจะได้ประโยชน์จากมันอย่างเต็มที่

7. ฟังเสียงของคนอื่นได้ แต่ต้องตัดสินใจด้วยเสียงของเราเอง :  สำหรับคนที่อาจเจอเสียงคัดค้านจากคนรอบข้างนั้น อยากให้มองแง่บวกว่าเขาเป็นห่วงเรา และเราก็รับความปรารถนาดีจากเขาได้ แต่สุดท้ายแล้วเราต้องเป็นผู้ตัดสินใจในสิ่งที่เรากำลังทำ เพราะเราเองย่อมรู้ดีที่สุดว่าเรากำลังจะทำอะไร อย่างไรก็ดีในการตัดสินใจนั้น เราต้องคิดให้ถี่ถ้วนรอบด้าน อย่าก้าวออกมาเพราะมีแต่ความอยากเพียงอย่างเดียวแต่ไม่เคยศึกษาข้อมูลอะไรเลย หรือบางท่านที่ไม่อยากเสี่ยงหรือไม่อยากเจอกระแสคัดค้านมาก อาจลองเริ่มต้นทำธุรกิจเล็ก ๆ ก่อนในระหว่างที่ยังทำงานประจำก็ได้ โดยใช้เวลาหลังเลิกงาน วันหยุด หากธุรกิจไปได้ดีดูมีอนาคตแล้วจึงค่อยขยับขยาย แบบนี้ก็จะเสี่ยงน้อยลงและช่วยให้เกิดแรงต้านน้อยลงด้วย

8. ฝึกสร้างทัศนคติเชิงบวกในการแก้ไขปัญหา : ข้อนี้คือข้อสำคัญที่เราต้องรู้จักฝึกเอาไว้มาก ๆ เพราะไม่ว่าเราจะทำงานประจำ งานอิสระ หรือเป็นเจ้าของธุรกิจเองก็ตาม ทุกคนย่อมต้องเจอปัญหาเข้ามาไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งการมีความคิดเชิงบวกจะช่วยให้เราไม่ย่ำอยู่กับที่และไม่ท้อจนไม่เป็นอันทำงานในเวลาที่เราเจอปัญหา เพราะการคิดเชิงบวกจะทำให้เราเห็นมุมมองว่า ทุกชีวิตย่อมต้องเจออุปสรรคก่อนประสบความสำเร็จ และทำให้เราหันมาย้อนดูว่าเรานั้นพลาดตรงจุดไหน เพื่อจะระมัดระวังไม่ให้พลาดซ้ำในภายภาคหน้า เมื่อเราเข้าใจปัญหาที่เจอ เราจะผ่านพ้นปัญหาได้แบบไม่ยาก และไม่กลัวต่อปัญหาใด ๆ ที่อาจเข้ามาในอนาคต

สำหรับผู้เขียนเองถือว่าโชคดีมาก ๆ ที่ได้ฝึกการคิดเชิงบวกจนสามารถมาทำงานในอาชีพวิทยากรและสามารถผ่านทุก ๆ ปัญหาที่เข้ามาได้ ไม่ว่าปัญหานั้นจะเล็กหรือใหญ่ ซึ่งหากเราแก้ไขปัญหาในปัจจัยที่เราควบคุมได้ นั่นคือ ตัวเรา ความคิด ความรู้สึก และการกระทำของเรา ถึงแม้อาจต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา แต่อย่างน้อยถ้าเราไม่ลดละความพยายามเสียอย่าง เราย่อมต้องเจอทางออก ดีกว่าการไปมัวเสียเวลาแก้ไขปัญหาในปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้เยอะเลยครับ

ที่มา : บางส่วนจากบทความ 8 ข้อคิด…เมื่อตัดสินใจพาชีวิตก้าวออกจาก Comfort Zone โดย : มงคล กรัตะนุตถะ / Section : HRM/HRD / Column : บทความพิเศษ อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่… วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 17 ฉบับที่ 195 เดือนมีนาคม 2562

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?