จัดการเงินในช่วงวิกฤติ1

ช่วงวิกฤติโควิด-19 มีคำถามเกิดขึ้นว่า เราจะจัดการด้านการเงินของเราให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้อย่างไร

ประเด็นด้านการเงินที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เรารอดวิกฤตินี้คือ การมีสภาพคล่องหรือกระแสเงินสดเพียงพอต่อการดำรงชีวิตและประคองมันไปจนวิกฤติสงบลง เริ่มจาก…การมีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย (หรืออีกนัยหนึ่งคือมีเงินเข้ามากกว่าเงินออก) ซึ่งเราต้องกลับมาย้อนดูจากตัวเราก่อน นั่นคือทุกวันนี้เรามีรายจ่าย (หรือเงินออก) อะไรบ้าง

  1. รายจ่ายในการดำรงชีวิตต่างๆ  เช่น ค่าใช้จ่ายกินอยู่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ลองเช็กว่าในส่วนนี้มีอะไรที่ลดลงไปได้ไหม และมีอะไรที่เพิ่มขึ้นมา หากเราตอบตรงนี้ได้ว่า รายจ่ายขั้นต่ำพื้นฐานในการดำรงชีวิตของเราคืออะไร และมีจำนวนเท่าไร ก็จะช่วยให้เราสามารถประมาณการใช้จ่ายตรงนี้ได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
  2. รายจ่ายคงที่ (ค่าใช้จ่ายคงที่) ในส่วนอื่นๆ เช่น หนี้สินที่ต้องจ่าย ค่าใช้จ่ายประจำบางอย่างที่ต้องมี เช่น เบี้ยประกันภัย หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับครอบครัวที่ต้องดูแล ตรงนี้ต้องมองในมุมที่ว่าลดได้หรือไม่ หรือว่าจะขยายออกไปเพื่อให้เรามีกระแสเงินสดมากขึ้น

สำหรับการจัดการรายจ่ายก็จะอยู่ที่ตรงนี้ โดยมีปัจจัยสำคัญคือการลดจำนวนเงินที่ออกจากกระเป๋าเราลงให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้มากที่สุดพอที่จะอยู่รอดได้ หลังจากนั้นก็กลับมามองที่รายได้ (หรือเงินเข้า) กันบ้างครับว่า เราสามารถใช้สิทธิหรือเพิ่มกระแสเงินสดอะไรได้บ้าง

  1. รายได้จากการทำงานหลักของเราลดลงหรือไม่ หรือว่าได้รับผลกระทบอะไรจากสถานการณ์นี้หรือเปล่า เช่น การลดเงินเดือน หรือการขอให้หยุดงานบางวัน ไปจนถึงการให้ออกจากงานกลางคัน ซึ่งตรงนี้แต่ละคนจะประสบปัญหาแตกต่างกันไป

คำแนะนำของผมที่พอจะมีให้ในแต่ละกรณีคือ รักษากระแสเงินสดเข้าให้มากที่สุดและให้เหมาะสมกับสิ่งที่เราทำ บางทีเราต้องยินดีทำงานหนักแม้ว่าจะได้เงินน้อยลง หรือบางทีเราต้องยอมเสียสละเวลาส่วนตัวมากขึ้น เพื่อให้ได้เงินมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ต้องบอกกันตรงๆ ว่าไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ แต่ทำได้เฉพาะคนที่มีงานและความสามารถในการจัดการตัวเองอยู่ครับ

ส่วนคนที่ต้องออกจากงานในช่วงนี้หรือถูกพักงาน อาจจะต้องมองหาหนทางของการขอรับเงินช่วยเหลือจากทางประกันสังคมเพิ่มเติมแทนครับ

  1. ถ้าไม่มีรายได้หรือรายได้ลดลง มีอะไรสร้างกระแสเงินสดให้เราได้บ้าง ผมคิดว่านี่เป็นคำถามที่เราทุกคนต้องถามตัวเองเผื่อไว้ ซึ่งสิ่งที่ผมได้รับคำตอบกับตัวเองมีอยู่ 2 ด้านคือ ด้านที่เราสามารถขอเงินคืนงานส่วนที่เราควรได้ เช่น การขอคืนภาษี การขอเงินประกันค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าต่างๆ ที่สามารถได้รับกลับคืนมาจากภาครัฐ

ส่วนอีกทางหนึ่งคือ การกำจัดของที่ไม่จำเป็นออกจากชีวิตครับ มีทรัพย์สินอะไรที่สามารถขายได้ ของที่เราไม่ได้ใช้หรือของที่ไม่จำเป็นในตอนนี้ หากมันจำเป็นต้องเปลี่ยนมาเป็นเงินสดเพิ่มเติม เราก็ควรทำครับ

 

ที่มา : บทความ : “การจัดการเงินในช่วงวิกฤติ…สำหรับมนุษย์เงินเดือน” โดย : TAXBugnoms วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 18 ฉบับที่ 209 เดือนพฤษภาคม 2563

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?