จ้างผู้สูงอายุ สร้างงานช่วยประหยัดภาษี  

จ้างผู้สูงอายุลดภาษี

13 มิถุนายน 2562

สิทธิยเว้นภาษีสำหรับนิติบุคคลที่จ้างผู้สูงอายุเข้าทำงาน  ที่รัฐออกมาสนับสนุนการจ้างผู้สูงอายุที่ยังมีความสามารถให้ทำงานต่อ มีรายละเอียด เงื่อนไขอย่างไร มาศึกษากันดูครับ

 เมื่อต้นปี 2560 รัฐบาลได้มองเห็นความสำคัญของจ้างงานของผู้สูงอายุของหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ  และได้การออกกฎหมายสนับสนุนให้บริษัทที่จ้างผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป เข้าทำงาน ให้สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ถึง 100% ของเงินที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างสูงอายุตามที่ปรากฎในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 639) พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2560 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 290) ฯ ลงวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2560 โดยให้เริ่มใช้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป ดังนั้น ผู้สูงอายุที่บริษัทจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามกฎหมายได้จึงต้องเกิดก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2498

จากข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2557 ของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย พบว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัย” (Aging Society) มาตั้งแต่ปี 2546 โดยมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 6.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าในปี 2564 ประเทศไทยจะเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” (Aged Society) โดยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึงร้อยละ 20

การที่รัฐบาลได้มีมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานภาคเอกชนจ้างแรงงานผู้สูงอายุเข้าทำงาน ก็จะเป็นแรงช่วยสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีโอกาสได้ทำงานต่อ ทำให้มีรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและบรรเทาภาระงบประมาณภาครัฐด้านสวัสดิการชราภาพในระยะยาวได้อีกด้วย

 

คุณสมบัติของผู้สูงอายุที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประสงค์จะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการหักรายจ่ายได้ 2 เท่า ในการจ้างผู้สูงอายุเข้าทำงานในสถานประกอบการของตน ผู้สูงอายุต้องมีลักษณะสรุปดังนี้

1.1 ต้องมีอายุ 60 ปี ขึ้นไป หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์

1.2 ต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น (แรงงงานต่างด้าวจึงไม่สามารถใช้สิทธิได้)

1.3 ผู้สูงอายุที่จะเข้าทำงานจะเป็นลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จ้างอยู่ก่อนแล้ว เช่น เกษียณอายุงานและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจ้างให้ทำงานต่อ เป็นต้น หรือเป็นผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนหางานไว้กับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ก็ได้

1.4 ผู้สูงอายุที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลรับเข้าทำงาน ต้องไม่เป็นและไม่เคยเป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จ้างผู้สูงอายุดังกล่าว หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน กรณีดังกล่าว กฎหมายมีเจตนาให้เจ้าของกิจการจ้างบุคคลอื่นที่ไม่ใช่กรรมการหรือผู้ถือหุ้นของตนเองเข้าทำงาน เพื่อประโยชน์ในการสร้างแรงงานและป้องกันการวางแผนภาษีอากรอีกประการหนึ่งด้วย

 

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประสงค์สิทธิประโยชน์ทางภาษีต้องปฏิบัติตาม

1.ลูกจ้างผู้สูงอายุที่มีคุณสมบัติตาม 1. ต้องทำงานเต็มเดือน โดยต้องเป็นการจ้างอันเนื่องมาจากการจ้างแรงงานซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

2.จำนวนการจ้างงานผู้สูงอายุที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ต้องไม่มีจำนวนไม่เกิน 10% ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดที่ทำงานเต็มเดือนในประเทศไทยในแต่ละเดือนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น โดยให้คำนวณหาจำนวนลูกจ้างผู้สูงอายุที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นรายเดือน (คำนวณจากลูกจ้างเต็มเดือนที่มีอยู่โดยไม่จำกัดสัญชาติ และเมื่อคำนวณแล้วมีเศษ เศษของผลลัพธ์ตั้งแต่ 0.5 ให้ปัดเศษขึ้นเป็นจำนวนเต็ม)

3.ค่าตอบแทนในการจ้างผู้สูงอายุต้องมีจำนวนไม่เกิน 15,000 บาท/คน/เดือน กรณีที่มีการจ่ายเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างผู้สูงอายุรายใด ในเดือนใด เกินจำนวน 15,000 บาท เช่น 18,000 บาท/เดือน เป็นต้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จ้างผู้สูงอายุนั้นเข้าทำงาน ไม่สามารถใช้สิทธิหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า แต่ยังถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นได้จ่ายค่าจ้างให้ผู้สูงอายุเพื่อประโยชน์ในการหารายได้หรือใช้ในการประกอบธุรกิจของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลโดยตรง จึงมีสิทธินำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ปกติ (1 เท่า) ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร

4.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จ้างผู้สูงอายุเข้าทำงาน มีสิทธิหักรายจ่ายได้จำนวนร้อยละหนึ่งร้อย หรือ 2 เท่า ของ “รายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้สูงอายุ” คำว่า “รายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้สูงอายุ” หมายถึง รายจ่ายทุกประเภทที่ได้จ่ายเพื่อการจ้างผู้สูงอายุซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ว่าจะเป็น เงิน ทรัพย์สิน ประโยชน์ที่คำนวณได้เป็นเงิน ภาษีอากรที่ผู้จ่ายออกแทนให้ เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เงินที่จ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สวัสดิการที่ให้แก่ลูกจ้าง เป็นต้น แต่ไม่รวมถึงรายจ่ายที่ต้องจ่ายตามที่กฎหมายกำหนดขึ้นโดยเฉพาะ เช่น เงินที่จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นต้น

5.กรณีผู้สูงอายุทำงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหลายแห่งในเวลาเดียวกัน ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่รับผู้สูงอายุเข้าทำงานก่อนเป็นผู้ได้รับสิทธิหักรายจ่ายได้ 2 เท่า

6.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่รอบระยะเวลบัญชีที่เริ่มในหรือหลัง 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวต้องจัดทำรายงานและแจ้งข้อมูลของผู้สูงอายุดังนี้

(1) จัดทำรายงานเกี่ยวกับการจ้างผู้สูงอายุที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะนำมาใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยต้องมีรายการและข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับ 290)ฯ และเก็บรักษารายงานดังกล่าว รวมทั้งเอกสารประกอบการลงรายการในรายงานไว้ ณ สถานประกอบการ พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้ และ

(2) แจ้งข้อมูลของผู้สูงอายุที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะนำมาใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีต่ออธิบดีกรมสรรพากรภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร  โดยต้องแจ้งข้อมูลของผู้สูงอายุอย่างน้อยตามที่กำหนดในเว็บไซต์ดังกล่าว

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดที่มีรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 31 มีนาคม 2560 ต้องแจ้งข้อมูลของผู้สูงอายุดังกล่าวภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2560

 

การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามกฎหมายเกี่ยวกับการจ้างงานผู้สูงอายุเป็นมาตรการถาวร หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดก็สามารถใช้สิทธิในการหักรายจ่ายได้ถึง 2 เท่าของจำนวนที่ได้จ่ายในการจ้างผู้สูงอายุไปจริง แต่ไม่เกินจำนวน 15,000 บาท ดังนั้นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลก็จะมีสิทธิหักรายจ่ายสำหรับค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้สูงสุดถึง 30,000 บาท สิทธิประโยชน์ทางภาษีดี ๆ ที่กรมสรรพากรมอบให้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามกฎหมายนี้ นอกจากจะช่วยประหยัดภาษีให้แก่ผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นการสร้างงานให้แก่ผู้สูงอายุที่มากความสามารถและยังคงมีกำลังกายที่สามารถทำงานให้แก่ผู้ประกอบการ และที่สำคัญเป็นการช่วยลดงบประมาณภาครัฐด้านสวัสดิการชราภาพในระยะยาวได้อีกด้วย

ที่มา วารสารเอกสารภาษีอากร ฉบับเดือนกันยายน 2560 เขียนโดย ดร.เพชรรัตน์ ศุภนิมิตรกุลกิจ นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมสรรพากร

 

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?