เคล็ดลับสร้างคุณค่าให้ตนเองด้วย OKRs

กระบวนการวัดผลการทำงานที่หลายคนสนใจและถูกพูดถึงมากก็คงจะ เป็น OKRs หรือ Objective Key Result ซึ่งเป็นการกำหนดเป้าหมายเฉพาะบุคคล แล้ว OKRs จะช่วยสร้างคุณค่าให้เราได้อย่างไร มาติดามกันครับ

OKRs ประกอบด้วยคำอยู่สองคำ ได้แก่ O + KRs

  • O ย่อมาจาก Objective เป็นวัตถุประสงค์ที่เป็นเป้าหมายที่ต้องการทำให้สำเร็จ
  • KRs ย่อมาจาก Key Results เป็นปัจจัยบ่งชี้ว่าเป้าหมายที่กำหนดขึ้นนั้นบรรลุความสำเร็จแล้วหรือยัง

OKRs เป็นหนึ่งในเครื่องมือของตระกูลการบริหารจัดการผลลัพธ์ (Result based Management) ที่ใช้งานง่าย ไม่เครียด เนื่องจาก มุ่งเน้นที่ความต้องการหรือความสนใจของตัวบุคคลเป็นหลัก (Individual Based)  เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนกล้าคิดต่าง กล้าล้มเหลว เป้าหมายที่กำหนดขึ้นประมาณหนึ่งไตรมาสหรือ 3 เดือน โดยไม่ต้องรอวัดความสำเร็จ 1 ปี เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ แบบก้าวกระโดด นำไปสู่การ Check In ผลลัพธ์ที่ได้บ่อยครั้ง ทุกวันหรือทุกสัปดาห์ และสร้างแรงจูงใจภายในจากความสำเร็จของ OKRs เป็นความรู้สึกภาคภูมิใจ รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีตัวตนจากความสำเร็จที่ตนเองทำได้

 

5 แนวทางการเขียน Objective

ให้ลองคิดภาพว่า Objective เปรียบกับความฝันที่เราอยากไปให้ถึง แต่เป็นฝันสั้นๆ ประมาณหนึ่งไตรมาส โดยวิธีการเขียน Objective ที่ถูกต้องมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

  1. เขียนในรูปของประโยคที่เน้นเชิงคุณภาพ กระชับ ไม่เยิ่นเย้อ
  2. ข้อความที่เขียนจะต้องเป็นภาษาเชิงบวกที่นำไปสู่การพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
  3. ฟังแล้วเกิดความรู้สึกว้าว หรือสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความฮึกเหิมให้อยากทำให้ฝันนั้นให้สำเร็จ
  4. ขึ้นต้นด้วยคำกริยาที่บ่งบอกถึงการกระทำว่าอยากจะทำอะไร
  5. ความฝันที่กำหนดจะต้อง Focus ไม่เกิน 5 ข้อ

 

5 แนวทางการเขียน Key Result

Key Results เป็นแนวทางการวัดความสำเร็จของเป้าหมายที่กำหนดขึ้น โดยกำหนดชุดของ KRs ที่จะใช้วัดว่าความฝันที่กำหนดไว้นั้นประสบความสำเร็จแล้วหรือยังโดยมีวิธีการเขียน KRs ดังนี้

  1. เน้นผลลัพธ์ที่เป็นตัวบ่งชี้เชิงตัวเลขในเชิงปริมาณที่สอดคล้องกับ Objective ที่กำหนดขึ้น
  2. มีการกำหนดค่าเป้าหมายที่ท้าทาย หรือ Stretch Goal โดยไม่ต้องกังวลว่าจะทำไม่ได้
  3. KRs ที่กำหนดต้องไม่เกิน 5 ข้อต่อ 1 Objective
  4. ค่าเป้าหมายที่กำหนดเป็นค่าเป้าหมายที่ใช้เวลาดำเนินการประมาณหนึ่งไตรมาส
  5. KRs ที่กำหนดจะต้องใช้ภาษาเชิงบวก ไม่มีคำว่า ผิดพลาด ล่าช้า ไม่สำเร็จ ร้องเรียน

 

จากบทความ : “สร้างคุณค่าให้กับตนเองด้วยการตั้งเป้าหมายแบบ OKRs” โดย : ดร. อาภรณ์ ภู่วิทยพันธ์
วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 17 ฉบับที่ 202 เดือนตุลาคม 2562  สมัครสมาชิก คลิก 

 

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?